ต้นผักปลัง

ผักปลัง ชื่อสามัญ Ceylon spinach, East Indian spinach, Indian spinach, Malabar nightshade, Vine spinach[2],[4],[7]

ผักปลัง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ผักปลังแดง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Basella rubra L. และอีกชนิดคือ ผักปลังขาว ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Basella alba L. จัดอยู่ในวงศ์ผักปลัง (BASELLACEAE)[1]

สมุนไพรผักปลัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักปั๋ง ผักปั่ง (ภาคเหนือ), ผักปลังใหญ่ ผักปลังขาว ผักปลังแดง (ภาคกลาง), ผักปรัง ผักปรังใหญ่ (ไทย), เดี้ยจุ่น (เมี่ยน), มั้งฉ่าง (ม้ง), เหลาะขุ้ย โปแดงฉ้าย (แต้จิ๋ว), ลั่วขุย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[5],[9]

สรรพคุณของผักปลัง

- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)[10]

- ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน มีสารเบตาแคโรทีนที่ช่วยบำรุงดวงตา และยังมีสารที่มีคุณสมบัติเป็นสารช่วยป้องกันมะเร็งอีกด้วย (ใบ)[10]

- ดอกใช้เป็นยาดับพิษในเลือด (ดอก)[5]

- ทั้งต้นมีรสเย็น เป็นขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยยาลดไข้ แก้อาการร้อนใน ทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)[1],[5]

- น้ำคั้นจากดอกใช้เป็นยาทาแก้หัวนมแตกเจ็บ (ดอก)[1],[2],[3],[5]

- ต้นและใบมีรสหวานเอียน เป็นยาช่วยระบายท้อง (ต้น, ใบ)[1],[2],[3]

- ช่วยแก้อาการอึดอัดแน่นท้อง ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาเคี่ยวกับน้ำให้ข้นแล้วรับประทาน (ต้น)[1],[2],[3]

- ต้น ราก ใบ และทั้งต้นช่วยแก้อาการท้องผูก ยอดอ่อนหรือใบยอดอ่อนสดจะมีเส้นใย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่เหมาะสำหรับเด็กและสตรีตั้งครรภ์ เมื่อนำมาต้มรับประทานเป็นอาหารจะช่วยแก้อาการท้องผูกได้ และเมือกที่อยู่ในผักปลังจะมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยทำให้ท้องไม่ผูกได้ (ต้น, ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[6],[10]

- รากมีรสหวานเอียน ใช้เป็นยาแก้พรรดึก (หรืออุจจาระที่เป็นก้อนแข็งกลม) (ราก)[1],[3]

- ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)[1],[2],[3]

- ใช้ต้นสด 60-120 กรัมนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไส้ติ่งอักเสบ (ต้น)[1],[2],[3]

- ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ทั้งต้น)[5]

- ช่วยแก้ขัดเบา ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)[1],[9] ตำรายาแก้ปัสสาวะขัดระบุให้ใช้ใบสด 60 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มแบบชาต่อหนึ่งครั้ง (ใบ)[2],[3]

-รากและใบช่วยขับปัสสาวะ (ราก, ใบ)[1],[2],[3]

- หมอตำแยทางภาคเหนือมักจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำเมือกมาทาบริเวณช่องคลอดของสตรี เพื่อช่วยให้สตรีมีครรภ์คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์รับประทานผักปลังด้วย เพราะจะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น โดยนำมาทำเป็นแกงผักปลังให้รับประทานทุกวันเดือนดับเดือนเต็ม เชื่อว่าจะช่วยทำให้คลอดบุตรง่าย ทำให้ไหลลื่นเหมือนผักปลัง (จากความเชื่อนี้เองจึงทำให้ผู้มีคาถาอาคมไม่กล้ารับประทาน เพราะกลัวคาถาเสื่อม) (ใบ)[8]

ตกเลือดเรื้อรัง ให้ใช้ใบสด ยอดอ่อน 30 กรัม นำมาต้มรับประทาน (ใบ)[9]

- หมอเมืองบางท่านจะใช้ใบผักปลังนำมาตำกับข้าวสารเจ้า ใช้เป็นยาพอกแก้โรคมะเร็งไข่ปลา (เริม) (ใบ)[8]

- ใช้เป็นยาใส่แผลสด ใช้ห้ามเลือด หรือใช้แก้อาการฟกช้ำ ให้นำใบมาตำให้พอแหลก ผสมกับน้ำตาลทรายหรือเหล้าเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[5] ทั้งต้นใช้เป็นยาใส่แผลสดเพื่อห้ามเลือด รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (ทั้งต้น)[5]

ใช้ใบและผลนำมาขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย มีลักษณะเป็นแผลไหม้ จะช่วยบรรเทาอาการและทำให้รู้สึกเย็นขึ้นได้ (ใบและผล)[8]

- ช่วยแก้อักเสบ (ใบ, ทั้งต้น)[1] แก้อักเสบบวม (ต้น)[1],[3]

- ช่วยแก้อีสุกอีใส (ดอก)[5]

- รากใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้รังแค (ราก)[1],[3],[4]

- ดอกมีรสหวานเอียน น้ำคั้นจากดอกใช้เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน แก้เกลื้อน (ดอก)[1],[3],[4]

- ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกแก้กลากเกลื้อน แก้ผื่นคัน ผื่นแดง และฝี (ใบ)[1],[2],[3],[4] ใช้แก้ฝีหรือแผลสด ให้ใช้ใบสดนำ มาตำพอกบริเวณที่เป็น หรือขยี้ทาก็ได้เช่นกัน (ใบ)[2] บ้างว่าใช้ผลนำมาต้มรับประทานแก้ฝี (ผล)[8]

- ช่วยดับพิษ ดับพิษฝีดาษ แก้พิษฝีดาษ ด้วยการใช้น้ำคั้นจากดอกสด นำมาทาบริเวณที่เป็น (ต้น, ดอก, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5]

- ช่วยแก้พิษฝี (ต้น)[1],[3]

- ช่วยรักษาฝีเนื้อร้าย ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 1-2 ครั้ง (ใบ)[2],[3]

- รากนำมาต้มรับประทานเป็นยาแก้มือเท้าด่าง (ราก)[1],[4],[9]

- ช่วยแก้อาการช้ำใน กระดูกร้าว (ทั้งต้น)[5]

- ช่วยแก้อาการปวดแขนขา ด้วยการใช้ใบสด ยอดอ่อน 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)[9]

- รากใช้เป็นยาทาถูนวดให้ร้อนเพื่อให้เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณที่ทามากขึ้น ส่วนน้ำคั้นจากรากก็เป็นยาหล่อลื่นได้เป็นอย่างดี (ราก)[1],[2],[3]

- ยอดอ่อนนำมาแกงหรือใส่ต้มไก่รับประทานเป็นยาบำรุงเลือดลม สำหรับคนหน้าซีด เลือดลมไม่ดี (ใบ)[9]

- ยอดอ่อนใช้ใส่แกงหรือต้มให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟรับประทานเป็นยาบำรุง (ใบ)[9]