ฟักเขียว

ฟักเขียว

ฟักเขียว หรือ ฟักแฟง (พันธุ์เล็ก) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ฟัก" มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Winter melon, White gourd, Winter gourd, Ash gourd

ฟักเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Benincasa hispida (Thunb.) Cogn. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)

ฟักเขียว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะฟักหอม (แม่ฮ่องสอน), ฟักขี้หมู ฟักจิง มะฟักขม มะฟักหม่น มะฟักหม่นขม (ภาคเหนือ), บักฟัก (ภาคอีสาน), ฟัก ฟักขาว ฟักเขียว ฟักเหลือง ฟักจีน แฟง ฟักแฟง ฟักหอม ฟักขม (ภาคกลาง), ขี้พร้า (ภาคใต้), ตังกวย (จีน), ดีหมือ ลุ่เค้ส่า (ชาวกะเหรี่ยง), หลู่ซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หลู่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), หลึกเส่ (กะเกรี่ยงแดง), สบแมง (เมี่ยน), ฟักหม่น ผักข้าว (คนเมืองล้านนา) เป็นต้น

ฟัก จัดเป็นพืชล้มลุกจำพวกไม้เถาเช่นเดียวกับบวบ มะระ หรือแตงชนิดอื่น ๆ มีถิ่นกำเนิดไม่แน่นอนระหว่างทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา เพาะปลูกกันมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ลักษณะของผลจะเป็นรูปทรงกระบอกปลายมน มีสีเขียวแก่จะเรียกว่า "ฟัก" ถ้าเป็นพันธุ์เล็กผิวมีสีเขียวอ่อน ๆ เราจะเรียกว่า "แฟง" หรือ "ฟักแฟง" (ภาพซ้าย) แต่ถ้าเป็นพันธุ์ที่ลักษณะของผลค่อนข้างกลมสีเขียวแก่ ๆ จะเรียกว่า "ฟักหอม" (ภาพขวา) หรือถ้าเป็นพันธุ์ที่รสขมเราจะเรียกว่า "ฟักขม" เป็นต้น (เดชา ศิริภัทร)

สำหรับในบ้านเรานั้นผลฟักเขียวจะนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทคาวและหวาน เช่น ต้ม ผัด แกง หรือทำเป็นขนมหวานในช่วงเทศกาล ใช้บริโภคทั้งแบบดิบและแบบสุก และสามารถบริโภคได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ โดยผลอ่อนจะมีรสชาติที่เข้มกว่าผลแก่ และมีน้ำมากกว่า

ลักษณะของฟักเขียว

ต้นฟักเขียว เป็นพืชอายุสั้น ลำต้นยาวหลายเมตร ลำต้นมีสีเขียว มีขนหยาบขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งต้น เป็นพืชที่แตกกิ่งก้านสาขามาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด สามารถปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย ปลูกเพียง 3 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้

ใบฟักเขียว ลักษณะของขอบใบหยักเป็นเหลี่ยม แยกออกเป็น 5-11 แฉกคล้ายฝ่ามือ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบซี่ฟัน โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจกว้าง ๆ ใบออกเรียงสลับกันตามข้อต้น ผิวใบหยาบ มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ใบมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบกว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร

ดอกฟักเขียว ออกดอกตามง่าม ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีสีเหลือง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ต้นเดียวกัน เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 6-12 เซนติเมตร โดยดอกเพศผู้จะมีก้านดอกยาว 5-15 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ กลีบเป็นรูปไข่หัวกลับ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีเส้นมองเห็นได้ชัดเจน มีเกสรตัวผู้ 3 อันติดอยู่ใกล้กับปากท่อดอก และอับเรณูจะหันออกไปด้านนอก ส่วนดอกเพศเมีย ก้านดอกจะสั้น มีกลีบรองดอกและกลีบดอกลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ เป็นรูปไข่หัวกลับหรือเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีขนยาวปกคลุมอยู่หนาแน่น มีท่อรังไข่สั้น ปลายท่อแยกออกเป็น 3 แฉก

ผลฟักเขียว ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาว หรือเป็นรูปไข่แกมขอบขนานหรือขอบขนานค่อนข้างยาว ผลมีความกว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ผลอ่อนมีขน ส่วนผลแก่ผิวนอกมีนวลเป็นแป้งสีขาวเคลือบอยู่ เปลือกแข็งมีสีเขียว เนื้อด้านในมีสีขาวปนเขียวอ่อน ฉ่ำน้ำ เนื้อแน่นหนา เนื้อตรงกลางฟูหรือพรุน และมีเมล็ดสีขาวอยู่ภายในจำนวนมาก

เมล็ดฟักเขียว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ เมล็ดแบน มีความกว้างประมาณ 5-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ผิวเรียบมีสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน

สรรพคุณของฟักเขียว

1การรับประทานฟักเขียวเป็นประจำช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการโรคมะเร็ง (ผล)

2ช่วยลดน้ำหนักและไขมันในเส้นเลือด ด้วยการใช้เนื้อฟักและเปลือกนำมาต้มเป็นชาดื่มแทนน้ำเป็นประจำ (ผล, เปลือก)

3ผลใช้รับประทานมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มพลังทางเพศ (ผล)

4ช่วยลดขนาดของเซลล์ไขมัน จากการวิจัยกับหนูทดลองในประเทศจีนพบว่า หนูทดลองมีเซลล์ไขมันที่ลดลงและมีค่าดรรชนีความอ้วนต่ำลงด้วย (ผล)

5ในประเทศเกาหลีมีการใช้ฟักเขียวเพื่อรักษาโรคเบาหวาน (ผล)

6ช่วยเพิ่มกำลังวังชา (ผล, เมล็ด)

7ช่วยบำรุงผิวพรรณ (เมล็ด)

8ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผล)

9น้ำคั้นจากผลฟักใช้รักษาโรคเส้นประสาท (ผล)

10สารสกัดจากเมล็ดสามารถช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและมะเร็งได้ เนื่องจากสารสกัดจากเมล็ดมีสารต้านออกซิเดชันของกรดไลโนเลอิก ช่วยลดอัตราการออกซิเดชันของไขมันเลว (LDL) และยังช่วยยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์สร้างแอนจิโอเทนซิน (angiotensin-converting enzyme ACE) ได้มากกว่าส่วนอื่นของผล เพราะมีสารประกอบฟีนอลและมีฤทธิ์เอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทสมากกว่าส่วนอื่น ๆ มันจึงช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและโรคมะเร็งได้ (ผล, เมล็ด)