ต้นน้ำเต้า

น้ำเต้า

น้ำเต้า ชื่อสามัญ Bottle gourd, Calabash gourd, Flowered gourd, White flowered gourd

น้ำเต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagenaria siceraria (Molina) Standl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lagenaria leucantha Rusby, Lagenaria vulgaris Ser.) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)[1],[7],[10]

สมุนไพรน้ำเต้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะน้ำเต้า (ภาคเหนือ), คิลูส่า คูลูส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลุ้นออก แผละลุนอ้อก (ลั้วะ), Dudhi Lauki (อินเดีย), หมากน้ำ, น้ำโต่น เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[10]

ลักษณะของต้นน้ำเต้า

ต้นน้ำเต้า มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ โดยจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียวหรืออาจข้ามปี เลื้อยตามพื้นดินหรือไต่พันกับต้นไม้อื่น ลำต้นแข็งแรง ลำต้นมีมือสำหรับใช้ยึดเกาะต้นไม้อื่น ๆ ตามเถามีขนยาวสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[3],[4] น้ำเต้านั้นมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น น้ำเต้าที่ลักษณะเป็นน้ำเต้าทรงเซียน ชนิดนี้นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เราจะเรียกว่า "น้ำเต้าพื้นบ้าน" หรืออีกชนิดมีลักษณะของผลคล้ายกับน้ำเต้าพื้นบ้าน แต่เนื้อ ต้น และใบมีรสขม ก็จะเรียกว่า "น้ำเต้าขม" (ชนิดนี้หาได้ยากและนำมาใช้ทำเป็นยาเท่านั้น) แต่ถ้าผลมีลักษณะกลมเกลี้ยงไม่มีคอขวดจะเรียกว่า "น้ำเต้า" หรือหากผลกลมยาวเหมือนงาช้างจะเรียกว่า "น้ำเต้างาช้าง" เป็นต้น[4]

ใบน้ำเต้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปห้าเหลี่ยม ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉก 5-7 แฉก โคนใบเว้าเข้าถึงเส้นกลางใบ เส้นใบด้านล่างนูนเด่นชัด ใบมีขนตลอดทั้งใบและก้านใบ ก้านใบยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร มีต่อมเทียม 2 ต่อม ซึ่งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างก้านใบกับแผ่นใบ

ดอกน้ำเต้า ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาว โดยดอกเพศผู้ (รูปที่ 2) ก้านดอกจะยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวมี 5 กลีบไม่ติดกัน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีขน มีลักษณะบางและย่น มีเกสร 3 ก้าน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูเป็นสีขาวอยู่ชิดกัน ส่วนดอกเพศเมีย (รูปที่ 3) มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่ต่างกันที่จะมีผลเล็ก ๆ ติดอยู่ที่โคนดอก โดยก้านดอกจะสั้นและแข็งแรง ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร และก้านจะยาวขึ้นเมื่อรังไข่เจริญเติบโตไปเป็นผล ดอกไม่มีเกสรเพศผู้เทียม มีรังไข่ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีขนสีขาว ท่อรังไข่สั้น ปลายแยกเป็นแฉกหนา ๆ 3 แฉก

ผลน้ำเต้า หรือ ลูกน้ำเต้า ผลน้ำเต้ามีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงกลม ทรงกลมซ้อน ทรงกลมหัวจุก ทรงยาว ทรงแบน เป็นรูปกระบอง หรือเป็นรูปขวด มีความยาวตั้งแต่ 10-100 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปแล้วผลจะมีลักษณะกลมโต มีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร คอดกิ่วบริเวณยอด โคนขั้วคอดคดงอหรือขดเป็นวงผิวผลเกลี้ยง เรียบ และเนียน เปลือกผลแข็งและทนทาน ผลอ่อนเป็นสีเขียว ก้านผลยาว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก วางตัวแนวรัศมี เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนป้านคล้ายเล็บมือ ส่วนปลายมีติ่งยื่น 2 ข้าง เป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดตามยาวของเมล็ด

สรรพคุณของน้ำเต้า

ชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้าในการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยเบาหวานและผู้เป็นโรคความดันโลหิตรับประทาน และในประเทศจีนและอินเดียจะมีการรับประทานน้ำเต้าเพื่อควบคุมเบาหวาน (ผล)[4]

รากช่วยทำให้เจริญอาหาร แต่ในประเทศจีนจะใช้เมล็ดนำไปต้มกับเกลือรับประทานเป็นยาเจริญอาหาร (ราก, เมล็ด, ทั้งต้น)[5],[10]

- น้ำเต้าเป็นยาเย็นและชื้น มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและผู้ชราภาพ (ผล)[8]

- น้ำเต้าช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด (ผล)[8]

- ใบมี ผลอ่อน และเนื้อในผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ, ผลอ่อน, เนื้อในผล)[10]

- น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาศีรษะจะช่วยแก้อาการทางประสาทบางชนิดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2]

- เมล็ดช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (เมล็ด)[10]

- ใบมีรสเย็น ช่วยดับพิษ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)[1],[4],[10]

- ช่วยแก้อาการไอ (เนื้อในผล)[10]

- ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ใบ, ทั้งต้น)[1],[4],[10]

- น้ำมันจากเมล็ดนำมากินจะช่วยทำให้อาเจียน (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2] ส่วนผลหากรับประทานมาก ๆ ก็ทำให้อาเจียนได้เช่นกัน (ผล)[2]

- เปลือกผลใช้ผสมหัวทารกเพื่อใช้ลดอาการไข้ (เปลือกผล)[2]

- ผลหรือโคนขั้วผลนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องที่เกิดจากไข้ (ผล[1], โคนขั้วผล[2])

- ใช้รักษาโรคทางลำคอ ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้าแก่ นำมาตัดจุก แล้วใส่น้ำไว้รับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันและรักษาโรคทางลำคอได้ (ผล)[7]

- ช่วยรักษาโรคปวดอักเสบ ด้วยการใช้ส่วนที่เป็นเปลือกสดนำมารับประทาน (เปลือกผล)[7]

- น้ำคั้นจากผลมีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลในกระเพาะอาหาร (ผล)[4]

- ใบอ่อน ผล และเนื้อในผลใช้รับประทานได้ โดยมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบ, ผล, เนื้อในผล)[2],[10]

- เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด)[1],[2],[10]

- ผลมีรสเย็น ช่วยขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รักษาท่อปัสสาวะอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะและอาการปัสสาวะยาก (ผล)[1],[2],[7],[8],[10] ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ใบ)[10]

- ช่วยรักษาโรคลูกอัณฑะบวม ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้านำมาต้มรับประทาน (ผล)[7]

- ช่วยรักษาโรคเริม (ใบ)[10]

- รากและทั้งต้นช่วยบำรุงน้ำดี (ราก, ทั้งต้น)[10]

- แพทย์แผนไทยจะใช้รากน้ำเต้าขมเป็นยาแก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกลำไส้ (ราก)[4],[10]

- น้ำต้มใบกับน้ำตาล ใช้แก้โรคดีซ่าน (ใบ)[1],[2]

- เมล็ดมีรสเย็นเมา ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (เมล็ด)[1],[2] หรือใช้รากนำมาต้มกับน้ำใช้กินเป็นยาแก้อาการบวมน้ำตามร่างกายก็ได้เช่นกัน (ราก)[2]

- ช่วยแก้อาการปวดฝีในเด็ก ด้วยการใช้น้ำเต้าหั่นเป็นชิ้น ๆ นำมาผสมกับของต้มเป็นน้ำซุปรับประทาน (ผล)[7]

- ใบใช้รักษางูสวัด แก้ไฟลามทุ่ง (ใบ)[10]

- ใบสดนำมาโขลกผสมกับเหล้าขาวหรือโขลกเพื่อคั้นเอาแต่น้ำ หรือใช้ใบสดผสมกับขี้วัวแห้งหรือขี้วัวสด โขลกให้เข้ากันจนได้ที่แล้วผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี (การผสมขี้วัวเข้าใจว่าขี้วัวมีแอมโมเนีย จึงทำให้เย็นและช่วยถอนพิษอักเสบได้ดีกว่าตัวยาอื่น) ใช้เป็นยาทาถอนพิษร้อน ดับพิษ แก้อาการฟกช้ำบวม พุพอง แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการพองตามผิวหนังตามตัว แก้เริม และงูสวัดได้ดี (ใบ)[1],[4],[5],[8],[10]

- ช่วยทำให้เกิดน้ำนม (ผล)[1],[10]