ต้นว่านตีนตะขาบ

ว่านตีนตะขาบ

ว่านตีนตะขาบ (ยังไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด) จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[1]

สมุนไพรว่านตีนตะขาบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านตะเข็บ (ภาคเหนือ), ว่านตะขาบ (เชียงใหม่), เพว (กรุงเทพฯ), ตะขาบปีนกล้วย ต้นตีนตะขาบ (ไทย) เป็นต้น[1]

ว่านตีนตะขาบกับต้นตะขาบหินเป็นพรรณไม้คนละชนิดกัน แต่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน (POLYGONACEAE) บางแห่งก็มีเรียกชื่อที่เหมือนกัน จึงมักทำให้คนต่างถิ่นเกิดความสับสน โดยลักษณะลำต้นของพรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้ถ้าหากดูตามรูปประกอบก็จะเห็นว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงเหมือนตะขาบทั้งสองต้น ส่วนในด้านของสรรพคุณทางยาสมุนไพรนั้นก็มีความคล้ายคลึงกันครับ แต่ต้นตะขาบหินจะมีสรรพคุณทางยามากกว่าว่านตีนตะขาบ ซึ่งในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงลักษณะและสรรพคุณทางยาของพรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้ในคราวเดียวกันเลยครับ

ลักษณะของว่านตีนตะขาบ

  • ต้นว่านตีนตะขาบ จัดเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก ลำต้นเป็นปล้อง ๆ มีลักษณะกลมโตเท่ากับหางหนูมะพร้าวอ่อน แต่เมื่อลำต้นนั้นสูงขึ้นก็จะกลายเป็นไม้เลื้อย ต้นหนึ่งจะยาวได้ประมาณ 7-10 ฟุต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ[1]

  • ใบว่านตีนตะขาบ ใบจะออกติดกันเป็นปีกสองข้าง จากโคนต้นจนถึงยอด ดูคล้ายตะขาบ

สรรพคุณของว่านตีนตะขาบ

  1. ตามชนบทจะใช้ต้นและใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าใช้หยอดหู เพื่อรักษาหูเป็นน้ำหนวก ซึ่งพบว่าได้ผลดีมาก ใช้เพียง 2-3 ครั้งจะแห้งหาย (ต้นและใบสด)[1]

  2. ต้นและใบสดนำมาตำผสมกับเหล้า เอาแต่น้ำมาใช้ทารักษาอาการฟกช้ำบวม เคล็ดขัดยอกได้ดี (ต้นและใบ)[1]

  3. ส่วนกากที่เหลือจากการนำไปใช้แก้ฟกช้ำบวมสามารถนำมาพอกถอนพิษตะขาบและพิษแมงป่องได้ (ต้นและใบ)[1] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ให้ใช้น้ำยางของต้นมาทาบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด เมื่อรู้สึกว่ายางเริ่มแห้ง ก็ให้ทาซ้ำไปเรื่อย ๆ ประมาณ 30 นาที ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการบวมได้ ส่วนอีกวิธีให้ใช้ต้นและใบสดประมาณ 1 ขีด นำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาว 100 ซีซี แล้วนำส่วนผสมที่ได้มาพอกบริเวณบาดแผลทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที

หมายเหตุ : ชื่อตีนตะขาบนี้เป็นชื่อของพรรณไม้ที่มีอยู่หลายชนิด โดยแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะคล้ายตะขาบทั้งนั้น ดังนั้นการนำมาใช้เป็นยาจะต้องเลือกใช้ตามลักษณะของต้นที่กล่าวไว้ในบทความนี้เท่านั้น[1]

ประโยชน์ของต้นว่านตีนตะขาบ

  • ว่านชนิดนี้มักนิยมนำมาใส่ลงในกระถางไว้ดูเพื่อความสวยงาม โดยคนจีนจะนิยมปลูกกันมากตามบ้าน และตามสวนยาจีนทั่วไป ส่วนในกรุงเทพฯ บ้านเราก็พบได้ง่ายเช่นกัน[1]