น้ำเต้าคอหงษ์

ถิ่นกำเนิดน้ำเต้า

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของน้ำเต้านั้นมีการสันนิษฐานกันอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ เชื่อกันว่าน้ำเต้ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ โดยมนุษย์นำไปปลูกยังพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งเชื่อกันว่าน้ำเต้ามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และยังเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาปลูก เพราะมีการขุดพบกระดูกของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบเศษของเปลือกน้ำเต้าอยู่ในหลุมศพที่ค้นพบด้วย สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบันสามารถพบเห็นน้ำเต้าได้ทุกภาคของประเทศ และมีหลายสายพันธุ์ เช่น น้ำเต้าผลกลม น้ำเต้าเซียน น้ำเต้าขม น้ำเต้างาช้าง เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณน้ำเต้า

น้ำเต้าเป็นพืชที่พบได้เกือบทั่วโลกดังนั้นจึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย แต่ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ คือการนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะคนไทยถือว่าน้ำเต้าเป็นผักชนิดหนึ่ง โดยผลน้ำเต้าที่จะนำมาประกอบอาหารคือผลอ่อน ที่สามารถกินได้ทั้งเปลือก เนื้อ และเมล็ด ซึ่งอาหารที่นิยมใช้น้ำเต้าปรุงเป็นผักก็คือ แกงเลียง แกงแค แกงส้ม แกงเผ็ด น้ำเต้าผักไข่ใส่หมูหรือ ผักน้ำมัน ต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริกต่างๆก็ได้ ส่วนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกานำเนื้อผลอ่อนของน้ำเต้า ชุบแป้งทอด ผัดในกระทะ ใส่ในแกงจืด หรือ ต้มสตู หรือ ชาวอินเดียใช่เนื้อผลอ่อนของน้ำเต้าทำอาหารทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ส่วนคนพื้นเมืองในแอฟริกาใช้ใบน้ำเต้าใส่ในซุปข้าวโพด หรือดองสดไว้กิน

นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำเต้ามาใช้ประโยชน์ต่างๆ อีกเช่น ผลน้ำเต้าแก่ (น้ำเต้าแห้ง) ขูดเนื้อในและเมล็ดออกให้หมด ใช้บรรจุน้ำดื่ม หรือของเหลวอื่นๆ และยังมีการนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆอีกได้แก่ ใช้เป็นทุ่นในการจับปลา ใช้เป็นขวดบรรจุสิ่งของหรือเมล็ดพันธุ์พืช ใช้เป็นช้อน ทัพพี ขันน้ำ รวมใช้เป็นเครื่องประดับบ้านเรือนเพื่อความสวยงาม

สำหรับสรรพคุณทางยาน้ำเต้านั้น ตามตำราไทยระบุไว้ว่า รากน้ำเต้ามีรสขมใช้เป็นยาแก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร ใบสด แก้โรคผิวหนัง แก้เริม งูสวัด แผลพุพอง แก้ฟกช้ำบวม ใบแห้งใช้ปรุงเป็นยาเจียวตับพิษไข้ ตัวร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ พิษอักเสบ เนื้อหุ้มเมล็ด ใช้ทำให้อาเจียน เป็นยาระบาย เมล็ดใช้ถ่ายพยาธิ แก้บวมน้ำ แก้ปวดศีรษะ เนื้อผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้ไอ ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ขับน้ำนม

ลักษณะทั่วไปน้ำเต้า

น้ำเต้าเป็นพืชในตระกูลแตง จัดเป็นไม้เถาโดยเถามีลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยมเป็นสัน มีขนอ่อนปกคลุมอยู่ตลอดเถา มีมือเกาะตามเถาโดยจะออกบริเวณโคนของก้านใบทั้ง 2 ทาง ใบออกเป็นใบเดี่ยวบริเวณข้อของเถา โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ใบมีลักษณะเป็นเหลี่ยมๆ มี 5 เหลี่ยม และมีขนอ่อนสีขาวขึ้นปกคลุมเช่นเดียวกันกับเถา ใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างสีเขียวอ่อน ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ โดยดอกมีสีขาว และมี 2 เพศ แยกกันอยู่ต่างดอก ดอกตัวผู้คล้ายกับถ้วย ส่วนดอกตัวเมียจะมีรังไข่ติดที่โคนดอก ส่วนลักษณะดอกมีลักษณะดอกมีลักษณะเหมือนกันทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย คือ กลีบดอกบางและย่น เป็นรูปไข่กลีบกว้าง และยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร บนกลีบดอกทุกกลีบจะมีขนอ่อนๆขึ้นปกคลุม มีเกสรอยู่ตรงกลาง 3 ก้าน ผลออกเป็นผลเดี่ยว โดยจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงกลมก้นแป้น ทรงกลมคอคอด ทรงยาวรี่ และมีขนาดเล็กจนถึงใหญ่แตกต่างกันไปอีกด้วย แต่ส่วนใหญ่จะมีผิวเกลี้ยงเรียบมีเนื้อในมากเป็นสีเขียว แต่หากผลเริ่มแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีจางลงจนเป็นสีขาวครีม และเปลือกผลจะแข็งไม่มีเนื้อ เมล็ดมีลักษณะแบนเมื่ออ่อนจะมีสีขาว แต่เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน โดยใน 1 ผล มีมากกว่า 20 เมล็ด