การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของกีฬาบาสเกตบอล

หน่วยการเรียนที่ 3

การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของกีฬาบาสเกตบอล

จุดประสงค์การเรียนรู้ (ปลายทาง)

ผู้เรียนสามารถอธิบายและปฏิบัติการเคลื่อนไหวเบื้องต้นของกีฬาบาสเกตบอลได้


จุดประสงค์การเรียนรู้ (นำทาง)

1. ผู้เรียนสามารถอธิบายและสาธิตการทรงตัวแบบต่าง ๆ ได้

2. ผู้เรียนสามารถอธิบายและปฏิบัติการเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ ได้

3. ผู้เรียนสามารถอธิบายและปฏิบัติวิธีการกระโดด การหยุดและการหมุนตัวแบบต่าง ๆ ได้

4. ผู้เรียนสามารถอธิบายและสาธิตการครอบครองและการสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอลได้


สาระสำคัญ

การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของกีฬาบาสเกตบอล มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งที่ผู้เรียนจะต้อง เรียนรู้ให้เข้าใจและต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการทรงตัวของผู้เล่น การเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ การกระโดด การหยุด การหมุนตัว ตลอดทั้งการครอบครองลูกบาสเกตบอล และการสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล

เนื้อหา

1.1 ท่าของการยืนทรงตัว (The Stance)

1.2 การทรงตัวแบบการยืนป้องกัน (Defensive Position)

2.1 การเคลื่อนไหวไปด้านข้าง (Slide)

2.2 การเคลื่อนไหวไปด้านหน้าและถอยหลัง

2.3 การเปลี่ยนทิศทาง (Change of Direction)

2.4 การเปลี่ยนช่วงก้าว (Change of Pace)

2.5 การวิ่งตัด (Cutting)

3.1 การกระโดดด้วยเท้าข้างเดียว

3.2 การกระโดดด้วยเท้าทั้งสองข้าง

4.1 การหยุดโดยใช้เท้าใดเท้าหนึ่งอยู่หน้า (Stride Stop)

4.2 การหยุดโดยใช้เท้าคู่พร้อมกัน (Scoot Stop)

5.1 สิ่งสำคัญในการหมุนตัว

5.2 การหมุนตัวไปข้างหน้า

5.3 การหมุนตัวไปข้างหลัง

5.4 การหมุนตัวโดยการก้าวเท้าไปข้างหน้าแล้วหมุนตัวกลับหลัง

5.5 ประโยชน์ของการหมุนตัว

6.1 การจับลูกบาสเกตบอล

6.1.1 การจับลูกบาสเกตบอลสองมือ

6.1.2 การจับลูกบาสเกตบอลด้วยสองมือระดับอก

6.1.3 การจับลูกบาสเกตบอลมือเดียว

6.2 การสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล

สรุป

การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของกีฬาบาสเกตบอล มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ และต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการทรงตัวของผู้เล่น การเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ การกระโดด การหยุด การหมุนตัว ตลอดทั้งการครอบครองลูกบาสเกตบอล และการสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล

1. การยืนทรงตัว วิธีปฏิบัติการยืนทรงตัว คือ ยืนแยกเท้าประมาณช่วงไหล่ หรืออาจยืนด้วยเท้านำเท้าตามก็ได้ น้ำหนักตัวอยู่ที่ปลายเท้าทั้งสองข้าง โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เข่างอ หน้ามองตรง แขนกางออกเล็กน้อย

2. การเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ

2.1 การเคลื่อนไหวไปด้านข้าง ใช้สำหรับป้องกันคู่ต่อสู้โดยการเคลื่อนไหวตามคู่ต่อสู้ไปทางด้านข้าง มีวิธีปฏิบัติดังนี้ ยืนในท่าการทรงตัว เคลื่อนเท้าขวาไปทางด้านข้างขวาแล้วลากเท้าซ้ายตามไป ให้อยู่ในท่าการทรงตัว ถ้าเคลื่อนเท้าซ้ายไปทางซ้ายให้ลากเท้าขวาตามเท้า ซ้ายไปและอยู่ในท่าการทรงตัว มือทั้งสองยกขึ้น และจะต้องส่ายอยู่เสมอ

2.2 การเคลื่อนไหวไปด้านหน้าและถอยหลัง ใช้เคลื่อนไหวในการป้องกันได้ดีกว่าที่จะติดตามคู่ต่อสู้ไป ปฏิบัติต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวไปทางด้านข้างมีวิธีปฏิบัติดังนี้ ยืนในท่าเท้าใดเท้าหนึ่งอยู่หน้า (เท้านำเท้าตาม) ห่างกันพอประมาณ น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าหน้าเล็กน้อย โน้มตัวไปข้างหน้า เข่างอเล็กน้อย สะโพกต่ำ ศีรษะตั้งตรง ตามองไปขางหน้า แขนที่ยกขึ้นไปข้างหน้าจะเป็นข้างเดียวกับเท้า คือ เท้าซ้ายอยู่หน้า แขนซ้ายจะยกอยู่ข้างหน้า แขนอีกข้างหนึ่งยกออกไปทางด้านข้างลำตัว นิ้วมือกางออกและส่ายไป – มา เสมอ เมื่อต้องการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ให้ลากเท้าหน้านำไปแล้วลากเท้าหลังตาม เมื่อต้องการถอยหลังให้ถอยเท้าหลังแล้วลากเท้าหน้าตาม

2.3 การเปลี่ยนทิศทาง

จังหวะที่ 1 สมมุติว่าผู้เล่นวิ่งมา และต้องการเปลี่ยนทิศทางไปทางขวา ให้ก้าวเท้าซ้ายยาวกว่าปกติเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวไปตกที่เท้าซ้าย งอเข่าลง เพื่อให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายใกล้พื้นมากกว่าที่ขณะวิ่งมาตามปกติ ซึ่งจะช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น

จังหวะที่ 2 ให้บิดไหล่ ศีรษะ และสะโพกขวาไปทางขวา พร้อมกับก้าวเท้าขวาไปวางข้างหน้า เฉียงไปทางขวา แล้วเข้าสู่ท่าวิ่งตามปกติ วิธีนี้อาจเรียกว่าเปลี่ยนทิศทางโดยการเอี้ยวตัว หลบ ถ้าผู้เล่นจะเปลี่ยนทิศทางไปทางซ้ายก็ให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน

2.4 การเปลี่ยนช่วงก้าว

การเปลี่ยนช่วงก้าว ใช้ในการหลบหลีกฝ่ายรับ โดยเฉพาะเมื่อใช้การเล่นแบบคนต่อคน วิธีการคือ ก้าวเท้าให้ยาวขึ้นหรือสั้นลงกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ความเร็วในการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะช้าลงหรือเร็วขึ้นตามแต่สถานการณ์ในขณะนั้น คู่ต่อสู้ที่ตามประกบตัวมักจะ เสียการทรงตัว ต้องกระทำให้กลมกลืน อย่าให้คู่ต่อสู้คาดเดาเจตนาของเราได้ล่วงหน้า

2.5 การวิ่งตัด

การวิ่งตัดเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่จะทำให้ฝ่ายรุกสามารถหลบหลีกฝ่ายป้องกัน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องผสมผสานกันกับการเปลี่ยนทิศทาง และการเปลี่ยนช่วงก้าว วัตถุประสงค์ของการวิ่งตัด คือ เพื่อให้ฝ่ายรุกอยู่หน้าฝ่ายป้องกัน เพื่อรับลูกบาสเกตบอลจากการส่งของฝ่าย เดียวกันได้

3. การกระโดด เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องใช้ตลอดการแข่งขัน เช่น กระโดดยิงประตู กระโดดรับบอล กระโดดแย่งบอล เป็นต้น โดยการย่อเข่า แขนแนบลำตัวค่อนไปข้างหลัง น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าทั้งสองข้าง กระโดดโดยเหวี่ยงแขนทั้งสองข้างนำไปก่อน แล้วตามด้วยการยืดเข่าและข้อเท้าตาม

4. การเคลื่อนที่และการหยุด การเคลื่อนที่ต่อไปนี้เป็นลักษณะการเคลื่อนที่ของฝ่ายรุก เพื่อหนีการป้องกันของฝ่ายตรงข้าม เพื่อจะรับบอลจากฝ่ายเดียวกัน ประกอบด้วยการหยุดด้วยเท้านำ เท้าตาม และการหยุดด้วยเท้าคู่ นอกจากนี้ฝ่ายรุกจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวหลาย ๆ แบบ บางครั้งอาจต้องใช้การเปลี่ยนช่วงก้าว การเปลี่ยนทิศทาง เพื่อให้พ้นจากการติดตามของฝ่ายตรงข้าม

5. การหมุนตัว คือ การที่ผู้เล่นจับหรือถือลูกบอลอยู่แล้วใช้เท้าใดเท้าหนึ่งเป็นเท้าหลักอยู่กับที่บนพื้น แล้วก้าวหมุนตัวไปมาตามทิศทางต่าง ๆ เพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้มาแย่งลูกบอลจากมือ

6. การครอบครองบอล คือ การถือ การรับ การส่ง หรือการเลี้ยงบอล ประกอบด้วย

6.1 การจับลูกบอล คือการใช้มือทั้งสองจับลูกบอลไว้ กางนิ้วมือออก ส้นมือประกบเข้าหากันคล้ายรูปถ้วย นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านหลังลูกบอลค่อนไปทางข้างบน

6.2 การสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล ก่อนที่จะฝึกทักษะในขั้นต่อไป ควรฝึกทักษะการจับลูกบาสเกตบอล เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล ได้รู้ขนาด น้ำหนัก ความแข็ง หรือความอ่อนนิ่มของลูกบาสเกตบอลที่แท้จริง เพื่อฝึกประสาทสายตาและร่างกายส่วนที่จะใช้สัมผัสกับลูกบอลให้เกิดความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างสมบูรณ์ และสามารถใช้มือบังคับลูกบอลนั้นให้ไปในทิศทางที่ต้องการ