หน่วยการเรียนที่ 3

การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของกีฬาบาสเกตบอล

ตอนที่ 2 การเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ

การเคลื่อนไหวของเท้ามีความสำคัญต่อการเล่น เมื่อผู้เล่นมีการควบคุมการทำงานของเท้าที่ดี รวมไปถึงการหมุนตัวด้วยเท้า การกระโดดและการโยกตัวหลอกล่อคู่ต่อสู้ ถ้าผู้เล่นทำสิ่งเหล่านี้ได้ ภายใต้การควบคุมท่าทางให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลาแล้ว เขาจะพบว่าบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เล่นได้ง่ายขึ้นปรีดา รอดโพธิ์ทอง (2516 : 10 – 11) ได้เรียบเรียงการเคลื่อนไหวไปด้านข้าง ด้านหน้า และถอยหลังไว้พอสรุปได้ดังนี้



1. การเคลื่อนไหวไปด้านข้าง ใช้สำหรับป้องกันคู่ต่อสู้โดยการเคลื่อนไหวตามคู่ต่อสู้ไปทางด้านข้าง มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ยืนในท่าการทรงตัว เลื่อนเท้าขวาไปทางด้านข้างขวาแล้วลากเท้าซ้ายตามไป ให้อยู่ในท่าการทรงตัว

2. ถ้าเคลื่อนเท้าซ้ายไปทางซ้ายให้ลากเท้าขวาตามเท้าซ้ายไปและอยู่ในท่าการทรงตัว

3. มือทั้งสองยกขึ้น และจะต้องส่ายอยู่เสมอ

2. การเคลื่อนไหวไปด้านหน้าและถอยหลัง (ธงชัย เจริญทรัพย์มณี. 2538 : 60 – 61)

ใช้เคลื่อนไหวในการป้องกันได้ดีกว่าที่จะติดตามคู่ต่อสู้ไป ปฏิบัติต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวไปทางด้านข้างมีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ยืนในท่าเท้าใดเท้าหนึ่งอยู่หน้า (เท้านำเท้าตาม) ห่างกันพอประมาณ น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าหน้าเล็กน้อย

2. โน้มตัวไปข้างหน้า เข่างอเล็กน้อย สะโพกต่ำ

3. ศีรษะตั้งตรง ตามองไปขางหน้า

4. แขนที่ยกขึ้นไปข้างหน้าจะเป็นข้างเดียวกับเท้า คือ เท้าซ้ายอยู่หน้า แขนซ้ายจะยกอยู่ข้างหน้า

5. แขนอีกข้างหนึ่งยกออกไปทางด้านข้างลำตัว

6. นิ้วมือกางออกและส่ายไป – มา เสมอ

7. เมื่อต้องการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าให้ลากเท้าหน้านำไปแล้วลากเท้าหลังตาม

8. เมื่อต้องการถอยหลังให้ถอยเท้าหลังแล้วลากเท้าหน้าตาม

หมายเหตุ การใช้เท้า (Footwork) ด้วยการสืบเท้าไปให้เร็ว ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่าง ๆ ไม่ใช่การก้าวเท้า

การเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมพร้อมในการเล่นบาสเกตบอล เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งเข้าไปทำคะแนนหรือป้องกันการทำคะแนน ซึ่งขึ้นอยู่กับจังหวะการเล่นในขณะนั้น


3. การเปลี่ยนทิศทาง (Change of direction)

เฉลี่ย พิมพันธุ์ (2539 : 43) ได้เรียบเรียงการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเปลี่ยนทิศทางไว้พอสรุปได้ดังนี้การเปลี่ยนทิศทางเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของผู้เล่นฝ่ายรุกใช้หลบหลีกฝ่ายป้องกัน เพื่อเข้าครอบครองลูกบาสเกตบอล หรือเข้าทำประตู การจะเปลี่ยนทิศทางมีหลักการปฏิบัติ ดังนี้

จังหวะที่ 1 สมมุติว่าผู้เล่นวิ่งมา และต้องการเปลี่ยนทิศทางไปทางขวา ให้ก้าวเท้าซ้ายยาวกว่าปกติเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวไปตกที่เท้าซ้าย งอเข่าลง เพื่อให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายใกล้พื้นมากกว่าที่ขณะวิ่งมาตามปกติ ซึ่งจะช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น

จังหวะที่ 2 ให้บิดไหล่ ศีรษะ และสะโพกขวาไปทางขวา พร้อมกับก้าวเท้า ขวาไปวางข้างหน้า เฉียงไปทางขวา แล้วเข้าสู่ท่าวิ่งตามปกติ วิธีนี้อาจเรียก ว่าเปลี่ยนทิศทางโดยการเอี้ยวตัว (Swerve) หลบ ถ้าผู้เล่นจะเปลี่ยนทิศทาง ไปทางซ้ายก็ให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน





4. การเปลี่ยนช่วงก้าว (Change of Pace)

พิษณุ พิพัฒน์วงศ์ (2544 : 20) ได้เรียบเรียงการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเปลี่ยนช่วงก้าวไว้พอสรุปได้ดังนี้

การเปลี่ยนช่วงก้าว ใช้ในการหลบหลีกฝ่ายรับ โดยเฉพาะเมื่อใช้การเล่นแบบคนต่อคน วิธีการคือ ก้าวเท้าให้ยาวขึ้นหรือสั้นลงกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ความเร็วในการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะช้าลงหรือเร็วขึ้นตามแต่สถานการณ์ในขณะนั้น คู่ต่อสู้ที่ตามประกบตัวมักจะเสียการทรงตัว ต้องกระทำให้กลมกลืน อย่าให้คู่ต่อสู้คาดเดาเจตนาของเราได้ล่วงหน้า






5. การวิ่งตัด (Cutting)

การวิ่งตัดเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่จะทำให้ฝ่ายรุกสามารถหลบหลีกฝ่ายป้องกัน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องผสมผสานกันกับการเปลี่ยนทิศทาง และการเปลี่ยนช่วงก้าววัตถุประสงค์ของการวิ่งตัด คือ เพื่อให้ฝ่ายรุกอยู่หน้าฝ่ายป้องกัน เพื่อรับลูกบาสเกตบอลจากการส่งของฝ่ายเดียวกันได้