หน่วยการเรียนที่ 3

การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของกีฬาบาสเกตบอล

ตอนที่ 6 การครอบครองบอลและการสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล

การครอบครองลูกบาสเกตบอลเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเล่นกีฬาบาสเกตบอลตลอดเวลาของการเล่น ผู้เล่นแต่ละทีมจะต้องพยายามครอบครองลูกบาสเกตบอลให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นโอกาส ให้ทีมของตนเองประสบผลสำเร็จในการเล่นได้ในที่สุด การครอบครองลูกบาสเกตบอล หมายถึง ตำแหน่งของมือที่สัมผัสลูกบาสเกตบอลและลักษณะของมือที่บังคับลูกบาสเกตบอลไว้ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเลี้ยง ส่ง หรือยิงประตู

การจับลูกบาสเกตบอล

งานวิชาการ กองการฝึกอบรม สำนักพัฒนาบุคลากรกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (2547 : 16 – 18) ได้เรียบเรียงการจับลูกบอลไว้พอสรุปได้ดังนี้

1. การจับลูกบาสเกตบอลสองมือ

วิธีปฏิบัติ

1. ต้องจับลูกบอลด้วยมือสองข้าง โดยให้มือค่อนไปข้างหลังของลูกบอลเล็กน้อย

2. นิ้วหัวแม่มือทั้งสองห่างกันชี้เป็นรูปกากบาท และอยู่ด้านหลังของลูกบอล เพื่อใช้ในการบังคับลูกในการส่งและยิงประตู นิ้วทุกนิ้วกางออกทางด้านข้างของลูกบอลพอประมาณ ใช้ปลายนิ้วบังคับลูกบอล

2. การจับลูกบาสเกตบอลด้วยสองมือระดับอก

วิธีปฏิบัติ

1. ยืนในท่าเตรียม ย่อเข่า โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย จับลูกบอลโดยใช้ นิ้วมือ ให้หัวแม่มือทั้งสองข้างอยู่ข้างหลังลูกบอล กางนิ้วทุกนิ้วออกจับ ลูกบอลตั้งแต่ปลายนิ้วจนถึงโคนนิ้วมือ ใช้ปลายนิ้วมือบังคับลูกบอล

2. ดึงลูกบอลเข้ามาหาหน้าอกตัวเอง กางศอกเล็กน้อย

3. ตามองข้างหน้า เท้าเตรียมพร้อมที่จะเคลื่อนที่

3. การจับลูกบาสเกตบอลมือเดียว

วิธีปฏิบัติ

1. กางมือออกตามธรรมชาติ นิ้วมือและข้อมือบังคับลูกบอล

2. อุ้งมือไม่ถูกลูกบอล แต่รับน้ำหนักที่ด้านหลังบริเวณส่วนล่างของลูกบอล

3. หักข้อมือ หงายฝ่ามือขึ้น แขนท่อนล่างหงายขึ้น

การสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล

ก่อนที่ผู้เรียนจะได้รับการฝึกทักษะในขั้นต่อไป ควรที่จะให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการจับลูกบาสเกตบอล เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล ได้รู้ขนาด น้ำหนัก ความแข็ง หรือความอ่อนนิ่มของลูกบาสเกตบอลที่แท้จริง อำนวย คเชนทร์เดชา (ม.ป.ป : 25) ได้เรียบเรียงความสำคัญของการสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอลไว้พอสรุปได้ดังนี้

1. เพื่อฝึกประสาทสายตาและร่างกายส่วนที่จะใช้สัมผัสกับลูกบอลให้เกิดความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างสมบูรณ์ และสามารถใช้มือบังคับลูกบอลนั้นให้ไปในทิศทางที่ต้องการ

2. ควรฝึกจากง่ายไปหายาก

3. สร้างแบบฝึกหลาย ๆ แบบเพื่อลดความรู้สึกกลัว และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากนิ้วถูกลูกบอล นอกจากนั้นควรให้เกิดทักษะ และการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายได้ด้วย

4. ต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ และสภาพร่างกายของแต่ละคนโดยนำวิธีการฝึกที่ลดหรือป้องกันการบาดเจ็บ การฝึกที่หนักหรือหักโหมเกินไป ถ้าสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะรับการฝึก นอกจากจะไม่พัฒนาทักษะแล้วยังอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกได้

แบบฝึกการสร้างความคุ้นเคยกับลูกบาสเกตบอล




โยนลูกบาสเกตบอลสลับมือไปมาเหนือศีรษะ




ส่ง - รับลูกบาสเกตบอลสลับมือรอบ ๆ เอวตัวเอง (หมุนลูกบอลรอบเอว)



ส่ง - รับลูกบาสเกตบอลรอบ ๆ ขาทั้งสองเป็นรูปเลขแปด





โยนรับลูกบาสเกตบอลสลับมือระหว่างขาตัวเอง




โยนลูกบาสเกตบอลขึ้นสูงเหนือศีรษะ แล้วเคลื่อนที่ไปรับลูกบอล




ส่งลูกบาสเกตบอลรอบตัวเอง โดยเริ่มจากข้อเท้าก่อน แล้วเลื่อนให้สูงขึ้นจนถึงศีรษะ




ก้มตัวลงส่งลูกบาสเกตบอลด้วยสองมือให้ลอดระหว่างขาไปทางด้านหลัง ให้ลูกบาสเกตบอลสูงขึ้นแล้วหมุนตัวไปรับ อย่าให้ลูกบาสเกตบอลตกพื้น




ปัดลูกบาสเกตบอลขึ้นไปในอากาศ ทั้งสูงและต่ำ




ส่งลูกบาสเกตบอลกระทบพื้นให้ลอดระหว่างขา แล้วหมุนตัวจับลูกบาสเกตบอลไว้




ทุ่มลูกบาสเกตบอลลงพื้น ให้กระดอนขึ้นสูงกว่าศีรษะ 1 - 2 เมตร

แล้วกระโดดรับลูกบาสเกตบอล




วางลูกบอลบนพื้น แล้วใช้นิ้วมือตีลูกบอลให้กระดอนขึ้นจากพื้น




ยืนถือลูกบาสเกตบอลแล้วโยนลูกตวัดจากด้านหลังขึ้นข้างบน

เหนือศีรษะแล้วรับไว้




วิ่งรับลูกบาสเกตบอลที่กระดอนจากพื้นไม่เกิน 1 ครั้ง โดยให้นั่งทุ่มบอลลงพื้นกระดอนขึ้นสูงประมาณ 2 เมตร แล้วรีบลุกขึ้นวิ่งไปรับบอล




โยนลูกบาสเกตบอลขึ้นเหนือศีรษะไปด้านหลัง แล้วรีบหมุนตัวไปรับ

อย่าให้บอลตกพื้น


ถือลูกบาสเกตบอลด้วยมือขวาเหยียดแขนไปข้างหน้า ยกมือให้สูงขึ้นแล้วปล่อยบอลให้กลิ้งลงมาตามท่อนแขน เมื่อถูกข้อพับให้ใช้หน้าแขนดีดบอลขึ้นแล้วใช้มือขวารับไว้ ทำสลับข้างกัน




ยืนชิดผนังทุ่ม - รับลูกบาสเกตบอลกับผนังติดต่อกัน




นั่งโยน – รับลูกบาสเกตบอลกับคู่