มะเขือยาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum melongena L.

ชื่อสามัญ Egg plant, Potato tree

วงศ์ Solanaceae

ชื่ออื่นๆ มะเขือไข่ม้า, มะแขว้ง, มะแข้งคม, มะเขือป้าว (ภาคเหนือ), มะเขือฝรั่ง (กรุงเทพฯ), มะเขือขาว, มะเขือจานมะพร้าว, มะเขือกระโปกแพะ, มะเขือจาน (ภาคกลาง), สะกอวา, ยั่งมูไล่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เกียจี้ (จีน)

ถิ่นกำเนิด

ถิ่นกำเนิดจะอยู่แถบประเทศพม่าและอินโดจีน ซึ่งพบว่ามีความหลากหลายทางพันธุกรรมมาก แหล่งอื่นที่สันนิษฐานว่าอาจเป็นถิ่นกำเนิดคือ แถบประเทศจีน และทวีปแอฟริกา ในปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขตร้อน เขตกึ่งร้อน เขตอบอุ่น และการปลูกในเรือนกระจกของเขตอบอุ่น เป็นพืชที่มีการปลูกสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน มีความหลากหลายของสายพันธุ์ ลักษณะรูปทรงและสีสันของผลจึงแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ตั้งแต่ขาว เขียวอ่อน เขียวแก่ เหลือง และม่วง ผลมีรูปร่างเป็นทรงกลมเรียกว่า มะเขือเปราะ ผลเป็นทรงรีเรียกว่า มะเขือไข่เต่าหรือมะเขือม่วง ผลทรงยาวเรียกว่า มะเขือยาว

ลักษณะ

ต้นเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ลักษณะของลำต้นจะแข็งแรง มีสีเขียวหรือสีม่วง ลำต้นมีขนนุ่ม และสั้นปกคลุมทั่ว หรืออาจมีหนามเล็ก ๆ ส่วนบนจะแตกกิ่งก้านสาขาหนาทึบ ใบจะออกสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลม โคนใบเบี้ยว ส่วนปลายใบแหลม ริมขอบใบหยัก หรือเป็นคลื่นหลังใบ และใต้ท้องใบจะมีขนนุ่มปกคลุม ขนาดของใบยาวประมาณ 2.5-7 นิ้ว กว้างประมาณ 1.5-5 นิ้ว ก้านใบยาวประมาณ 1 นิ้ว ส่วนดอกออกเป็นช่อ หรือออกเป็นดอกเดียว ลักษณะของดอกมีสีม่วง กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันส่วนปลายแยกจากกันเป็น 5 แฉก ปลายแหลม กลางดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อันและตัวเมีย 1 อัน อยู่ติดกับกลีบดอก ก้านเกสรและอับเกสรเป็นสีเหลือง ผลจะมีลักษณะกลมยาว มีสีเขียวอ่อน สีม่วงคล้ำ หรือเป็นสีขาว ผิวเปลือกจะเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ตรงขั้วผลก็จะมีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ ส่วนการขยายพันธุ์ มะเขือยาวเป็นพรรณไม้เจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมร่วนซุย ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

คุณค่าทางอาหาร

ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซีและสารไกลโคอัลคาลอยด์ (glycoalkaloids) สารต้านเอนไซม์โปรทีเอส สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เทอร์ปีน (terpenes)

ประโยชน์

ผลมะเขือยาวมีวิตามิน เอ บี ซี และ พี ไขมัน โปรตีน น้ำตาล และเกลือแร่ต่างๆ โดยทั่วไปในมะเขือยาวผิวสีม่วงจะมีวิตามิน P ในปริมาณที่มาก ในมะเขือยาวผิวสีม่วง 600 กรัม มีวิตามิน P มากกว่า 3,600 มิลลิกรัม วิตามิน P สามารถเพิ่มภูมิต้านทานเชื้อโรคให้กับหลอดโลหิตฝอยไม่ให้แตกง่าย ทำให้หลอดเลือดทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแข็งตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจโคโรนารี (Coronary) มีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือโรคลักปิดลักเปิด เป็นต้น ควรกินมะเขือยาวเป็นประจำ จะทำให้อาการโรคดังกล่าวทุเลาลงหรือหายได้

สรรพคุณทางยา

มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น รากและลำต้นใช้แก้บิดเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือด เท้าเปื่อยบวมอักเสบ ปวดฟันแปหและใช้รักษาแผลที่เกิดจากการถูกความเย็นจัด ใบใช้แก้ปัสสาวะขัด หนองใน ถ่ายเป็นเลือด ตกเลือดในลำไส้ แผลบวมอักเสบ มีหนอง ดอกใช้แก้แผลมีหนองและปวดฟัน ขั้วใช้เป็นยาแก้ฝีอักเสบ มีหนองแผลในช่องปากและปวดฟัน

ลำต้นและราก ใช้ลำต้นและรากแห้ง ประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้ม เอาน้ำกินเป็นยาแก้บิดเรื้อรัง บิดอุจจาระเป็นเลือด หรือใช้ลำต้นและรากสดนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาหรือล้างบริเวณที่เป็นแผล ที่ถูกความเย็น แผลเท้าเปื่อยอักเสบ

ใบ ใช้ใบแห้ง นำมาตำให้เป็นผงละเอียดกินประมาณ 6-10 กรัม เป็นยาแก้โรคบิดอุจจาระเป็นโลหิต แก้ปัสสาวะขัด แก้โรคหนองใน แก้ตกเลือดในลำไส้ ใช้ภายนอกนำเอามาต้มเอาน้ำใช้ล้างแผล หรือใช้พอกบริเวณที่เป็นแผลบวมเป็นหนอง และแผลที่เกิดเนื่องจากถูกความเย็น

ดอก ใช้ดอกสด หรือดอกแห้ง นำมาเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดให้เป็นผงละเอียด ใช้มาบริเวณที่ปวดเป็นยาแก้ปวดฟัน ฟันผุ และบริเวณแผลที่มีหนอง

ผล ใช้ผลแห้ง นำมาทำเป็นยาเม็ด กินเป็นยาแก้ปวด แก้ตกเลือดในลำไส้ ขับเสมหะ อุจจาระเป็นโลหิต หรือใช้ผลสด นำมาตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็นแผลอักเสบที่มีหนอง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง และผดผื่นคัน

ขั้วผล ใช้ขั้วผลที่แห้ง ประมาณ 60-90 กรัม นำมาต้มหรือเผาให้เป็นเถ้าบดให้ละเอียดกิน เป็นยาแก้ตกเลือดในลำไส้ อุจจาระเป็นโลหิตหรือใช้ขั้วผลสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกหรือทา บริเวณที่เป็นแผลบวมมีหนอง แผลในปาก ปวดฟัน หรือเป็นฝี

ภาพกิจกรรมการปลูกมะเขือของนักเรียนหอพักนอน