พริกชี้ฟ้า

พริกชี้ฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum Linn. Var acuminatum Fingerh.)

เป็นพืชวงศ์ Solanaceae

  • ชื่ออังกฤษ: Cayenne pepper, chili spur pepper, long fed pepper, spur pepper
  • ชื่อพื้นเมือง: พริกชี้ฟ้า พริกเดือยไก่ พริกบางช้าง พริกหนุ่ม (ภาคเหนือ) พริกมัน (กรุงเทพฯ) พริกแล้ง (เชียงใหม่) พริกซ่อม พริกขี้หนู พริกนก พริกแด้ (เหนือ) พริกขี้นก ดีปลีขี้นก (ใต้) ดีปลี (ปัตตานี) ปะแกว (นครราชสีมา) หมักเพ็ด พริกแกว (อีสาน) พริกยักษ์ - พริกหวาน พริกฝรั่ง พริกหลวง พริกแม้ว พริกกะเหรี่ยง พริกหัวเรือ พริกห้วยสีทน พริกสันป่าตอง พริกภูเรือ พริกจีน พริกเจแปน พริกต้ม และพริกแจว เป็นต้น

ลักษณะ

ไม้ล้มลุก สูง 0.5-1.5 เมตร ใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามหรือออกสลับ รูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 2-8 เซนติเมตร ดอกสีขาว ออกเดี่ยวตามซอกใบและปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกห้อยลง เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 5 อัน ผลรูปทรงกระบอกยาว ปลายเรียวแหลม มักโค้งงอ ยาว 6-9 เซนติเมตร ผิวเป็นมันสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง มีเมล็ดแบนสีนวลจำนวนมาก

การปลูก

มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุยืน 1-3 ปี ในประเทศไทยมีการนำเข้าและเพาะปลูกกันมานานแล้ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดีหรือปลูกบนดินรังปลวกก็จะมีอายุอยู่ได้นาน พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย ลดความดันโลหิต เพราะทำให้เลือดอ่อนตัว และทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี ช่วยเร่งการย่อยสลาย ขับเหงื่อ และช่วยลดน้ำหนักได้ดี ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้พริกชี้ฟ้ามีรสชาติที่เผ็ดร้อนน้อยกว่าพริกขี้หนูมาก

การเพาะกล้า

การปลูกพริกจำเป็นต้องเลือกพันธุ์พริกที่ต้องกับความต้องการบริโภคหรือตามความต้องการของตลาด ซึ่งอาจต้องพิจารณาความนิยม และราคาเป็นสำคัญ เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกหยวก พริกหวาน เป็นต้น

การเพาะเป็นขั้นแรกของการเริ่มปลูก ซึ่งจำเป็นต้องเพาะกล้าในแปลงเพาะหรือกะบะเพาะชำเพื่อให้ได้ต้นกล้าอ่อนก่อนย้ายออกปลูกในแปลงปลูก โดยนำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำไว้ 1 คืน และวางในร่ม 1-2 วัน พร้อมทำการเพาะตามขั้นตอน ดังนี้

– เตรียมดินเพาะหรือแปลงเพาะด้วยการผสมดินกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น มูลสัตว์ แกลบ ขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว เป็นต้น ในอัตราส่วนระหว่าดินกับวัสดุ 2:1

– แปลงเพาะอาจเตรียมในแปลงดินที่ว่าง โดยการยกร่องแปลงสูง 20-30 เซนติเมตร หากเพาะในแปลงให้คลุกดินกับวัสดุในแปลง แต่หากเพาะในกะบะให้เตรียมด้านนอกก่อน

– การเพาะในแปลงให้หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 30 กรัม/ตารางเมตร

– การเพาะในกะบะเพาะให้หยอดเมล็ดพันธุ์ 3-4 เมล็ด/หลุม ขึ้นอยู่กับขนาดหลุมกะบะ พร้อมโรยดินกลบเล็กน้อย เมื่อกล้าโต 5-10 เซนติเมตร ให้ถอนเหลือหลุมละต้น

– หลังการหว่านหรือหยอดเมล็ดให้รดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

การเตรียมดิน

แปลงที่ใช้ปลูกควรไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และสามารถระบายน้ำได้ดีหากฝนตก ซึ่งให้เตรียมแปลง ดังนี้

– หากเป็นแปลงใหม่ ควรไถตากดินพร้อมกำจัดวัชพืช นาน 1 สัปดาห์

– ทำการหว่านปุ๋ยคอกในอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หากดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาว 100-200 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถกลบยกร่องแปลงสูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 40-60 เซนติเมตร

– แปลงกว้างขนาด 30-50 สำหรับปลูกแถวเดี่ยว แปลงกว้าง 80-100 สำหรับปลูกแถวคู่ ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์

– ปรับระดับแปลง พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินพร้อม 2-3 วัน

วิธีการปลูก

เมื่อต้นกล้ามีอายุ 30-40 วัน สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีใบจริง 5-7 ใบ และให้งดน้ำต้นกล้า 2-3 วันก่อนย้อยปลูก โดยมีขั้นตอนปลูก ดังนี้

– ขุดหลุมในระยะห่างระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์

– นำกล้าที่ถอนเตรียมไว้ลงหลุมปลูก พร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณ

– รดน้ำให้ชุ่ม และรดทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

การดูแลรักษา

– เมื่อกล้าตั้งต้นได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ให้คลุมแปลงรอบโคนต้นพริกทั้งหมดด้วยผ้าพลาสติกหรือฟางข้าว

– การให้น้ำควรให้ทุกวันในระยะแรก 1-2 ครั้ง และวันเว้นวันในช่วงผลแก่

– การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 500 กิโลกรัม/ไร่ ทุก 3 เดือน ร่วมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 14-14-21 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ และระยะออกดอกให้ใส่สูตร 12-12-24 อัตรา 15 กิโลกรัม/ไร่

– การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดทุกๆ 1 เดือน โดยเฉพาะบริเวณรอบโคนต้น

การเก็บผลผลิต

การเก็บผลพริกจะเริ่มเก็บเมื่อพริกเริ่มเปลี่ยนสี ขึ้นกับสายพันธุ์ที่ปลูก โดยทั่วไปพริกจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2-3 เดือน หลังย้ายปลูกในแปลง

ภาพกิจกรรมการปลูกพริกชี้ฟ้าของนักเรียนหอพักนอน