เรื่องราวของมนุษย์กับการใช้เลือดเพื่อรักษาโรคในรูปแบบต่าง ๆ มีบันทึกมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการเอาเลือดออก หรือนำเลือดเข้าสู่ร่างกาย การค้นพบวิธีให้เลือดอย่างปลอดภัยผ่านการสะสมความรู้ การลองผิดลองถูกเป็นเวลายาวนานถึง 3 ศตวรรษ วิทยาการการให้เลือดนับเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ช่วยให้การรักษาโรคหลาย ๆ โรครวมทั้งการผ่าตัดยาก ๆ มีความก้าวหน้าและช่วยรักษาชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้อย่างมากมาย นับเป็นการค้นพบที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของวงการแพทย์
ความเชื่อเรื่องการดื่มเลือดเพื่อให้คืนความเยาว์วัยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่นนิยายแฟนตาซีพวกตระกูลแวมไพร์ ตัวอย่างการบรรยายฉากจากนิยายปะรัมปะราที่เขียนว่า “จอมขมังเวทย์ใช้มีดกรีดเส้นเลือดที่คอชายชรา นางใช้ภาชนะรองเลือดแล้วนำไปผสมกับสมุนไพร แล้วนำไปให้ชายชราดื่มเลือดกลับเข้าไป พร้อม ๆ กับชะโลมบาดแผลที่คอ เส้นผมสีเทา ๆ และรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าชายชราค่อย ๆ จางไป กลายเป็นชายหนุ่มขึ้นมาอีกครั้ง” สะท้อนความเชื่อว่าเลือดนั้นสามารถคืนความเยาว์วัยให้กลับมาได้
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มีการบันทึกไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำเลือดมาอาบตัวเจ้าหญิงอียิปต์เพื่อหวังว่าจะช่วยให้คืนชีพได้ การดื่มเลือดสด ๆ ที่ไหลออกมาจากร่างของนักรบ (gladiator) เพราะเชื่อว่าช่วยรักษาโรคลมชัก โดยเฉพาะการใช้เลือดรักษาโรคลมชักไม่ได้มีแต่การดื่มเลือดคน มีการแนะนำให้ดื่มเลือดสัตว์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแมว เต่า นก และอื่น ๆ มีครั้งหนึ่งที่มีการบันทึกว่า หลังจากที่ผู้ป่วยโรคลมชักดื่มเลือดจากแมวเข้าไป ผู้ป่วยเริ่มมีพฤติกรรมคล้าย ๆ แมว เช่น ขึ้นไปปีนป่ายเดินเล่นบนหลังคา ส่งเสียงเหมียว ๆ และเอาแต่จ้องมองรูที่พื้นห้อง
ตัวอย่างข้างต้นคือความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติของเลือดที่ไม่ได้มีพื้นฐานข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์ใด ๆ หรือถ้ามีก็เป็นความเชื่อที่ยังคลาดเคลื่อนจากความจริงอยู่มาก ย้อนกลับไปในยุคสมัยของอริสโตเติลนั้นเชื่อว่าหัวใจสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปทั่วร่างกายโดยที่ไม่มีการไหลหลับมาที่หัวใจอีก ต่อมาในยุคอเล็กซานเดรีย (ราว ๆ 300 ปีก่อนคริสตกาล) เชื่อกันว่าเส้นเลือดแดงทำหน้าที่ขนส่งอากาศจากปอดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งต่อมา กาเลน ได้ล้มล้างความเชื่อนี้และสอนว่าเลือดนั้นเกิดจากตับ ไม่ใช่หัวใจ (กว่าที่จะมีการลบล้างความเชื่อของกาเลนใช้เวลาถึง 1400 ปีเลยทีเดียว)
การที่เราขาดความรู้ที่ถูกต้องเรื่องระบบไหลเวียนโลหิตนี้ทำให้เกิดการทดลองรักษาแบบที่แปลก ๆ อยู่เรื่อย ๆ เช่นในปี ค.ศ.1490 แพทย์ชาวยิวได้พยายามจะรักษาองค์สันตะปาปาอินโนเซ็นต์ที่ 8 (Innocent VIII) ซึ่งชราภาพและป่วยหนักด้วยการนำเลือดจากเด็กชาย 3 คน โดยที่เด็กทั้ง 3 ได้ค่าจ้างเป็นเงิน 1 ducat ไม่มีบันทึกชัดเจนว่าเป็นการให้เลือดทางเส้นเลือดหรือโดยการดื่ม แต่ที่แน่ ๆ คือมีคนเสียชีวิตจากการรักษาครั้งนั้น 4 คน และแพทย์ที่ทำการรักษาก็หลบหนีไป…จะเห็นได้ว่าความเชื่อว่าเลือดของคนหนุ่มสาวหรือเด็กเป็นเหมือนยาอายุวัฒนะไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคสมัยนั้น รวมทั้งความเชื่อเรื่องการรักษาโรคโดยการกรีดเส้นเลือดแล้วนำเลือดเสียออกจากร่างกายของผู้ป่วยที่เรียกกันว่า blood letting ด้วย
แม้กระทั่งช่วงกลางศตวรรษที่ 16 เมื่อ Vesarius ได้เผยแพร่ตำรากายวิภาคศาสตร์ที่มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นกายวิภาคในเชิงโครงสร้างมากกว่าในแง่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ความเข้าใจเรื่องระบบไหลเวียนของเลือดที่ถูกต้องเกิดขึ้นในอีกราว ๆ 100 ปีต่อมา เมื่อแพทย์ชาวอังกฤษที่ชื่อ William Harvey ได้ตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อเป็นภาษาละตินว่า "Exercitatio Anatomica de Motu Cordis et Sanguinis in Animalibus" ในปีค.ศ.1628 (เรียกสั้น ๆ ว่า “de Motu Cordis”) หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายว่าหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังร่างกายผ่านเส้นเลือดแดง (ไม่ใช่ดูดเลือดกลับอย่างที่เคยเข้าใจมา) และเลือดไหลกลับเข้าหัวใจผ่านเส้นเลือดดำ รวมทั้งสันนิษฐานอย่างแม่นยำว่าเลือดดำและแดงมีการเชื่อมต่อกันผ่านโครงข่ายของเส้นเลือดขนาดเล็ก ๆ ที่ต่อมาเราเรียกกันว่าเส้นเลือดฝอยหรือ capillaries แนวคิดเรื่องการให้เลือดจากเส้นเลือดของคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอีกครั้ง
ในปี 1665 มีรายงานการให้เลือดจากสัตว์สำเร็จเป็นครั้งแรกที่ลอนดอน โดยการถ่ายเลือดจากเส้นเลือดแดงของสุนัขตัวหนึ่งไปยังเส้นเลือดดำของสุนัขอีกตัวหนึ่ง และในปีต่อมามีการให้เลือดจากเส้นเลือดแดงที่คอของลูกแกะไปยังเส้นเลือดดำของเด็กหนุ่มวัย 15 ปี สำเร็จเป็นครั้งแรกที่ปารีส โดยนายแพทย์ Jean Baptiste Denis แม้ว่าผู้ป่วยจะต้องถูกผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเลือดถึง 20 ครั้งเพื่อถ่ายเลือดจำนวน 9 ออนซ์ (ประมาณ 300 ซีซี) ก็ถือได้ว่าทำได้สำเร็จโดยผู้ป่วยไม่เสียชีวิตไปก่อน นำมาสู่การทดลองให้เลือดครั้งที่ 2 คราวนี้ทำในคนปกติ โดยอาสาสมัครได้รับเงินค่าจ้างตอบแทน การทดลองเป็นไปได้ด้วยดี ทำให้ชื่อเสียงของนายแพทย์เดนนิส ขจรขจายไปทั่งกรุงปารีส การให้เลือดครั้งที่ 3 ทำในผู้ป่วยหนักแต่เป็นที่น่าเสียได้ว่าทำได้แค่ช่วยยืดระยะเวลาการเสียชีวิตออกไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่วนครั้งที่ 4 นั้น ทำในผู้ป่วยโรคจิต โดยผู้ป่วยได้รับเลือด 2 ครั้ง หลังจากการให้เลือดครั้งที่ 2 ผู้ป่วยเริ่มบ่นว่าปวดแขน เหงื่อออก ปวดท้อง ต่อมาปัสสาวะกลายเป็นสีดำ ภรรยาของผู้ป่วยจึงขอร้องให้นายแพทย์เดนนิสให้เลือดให้เป็นครั้งที่ 3 หลังจากนั้นไม่นานผู้ป่วยก็เสียชีวิต และเหตุการณ์นี้ทำให้นายแพทย์เดนนิสถูกดำเนินคดีและทำให้การให้เลือดในคนเป็นเรื่องต้องห้ามในฝรั่งเศส
แม้จะมีความพยายามทดลองการรักษาด้วยวิธีนี้อีกหลายครั้งในอังกฤษและยุโรป แต่จากการขาดความรู้เรื่องข้อบ่งชี้ที่ถูกต้องของการให้เลือด ทำให้เลือกผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสม การขาดความรู้เรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ระบบการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ศาสตร์แขนงนี้หยุดชะงักไปอีกนานนับร้อยปี
เจมส์ บลันเดลล์ สูติแพทย์ชาวอังกฤษ ได้พยายามรื้อฟื้นศาสตร์การให้เลือดขึ้นมาใหม่เนื่องจากเขาเห็นว่ามีหญิงที่ตกเลือดจากการคลอดบุตรเป็นจำนวนมาก และการให้เลือดน่าจะช่วยชีวิตผู้หญิงเหล่านี้ได้ ในบันทึกของนายแพทย์บลันเดลล์ในปี 1834 เขียนไว้ว่าการให้เลือดควรทำในสัตว์สปีชี่ส์เดียวกันเท่านั้น เช่น คนควรได้รับเลือดจากคน และเทคนิคการให้เลือดที่เคยทำมาก่อนหน้านี้คือเป็นการให้เลือดโดยตรงจากเส้นเลือดของคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งโดยตรงนั้นมีความยุ่งยาก ซึ่งต่อมานายแพทย์บลันเดลล์ ได้ทำการทดลองพบว่า สามารถนำเลือดออกมาใส่ในหลอด หรือ syringe ไว้ก่อนจะนำไปให้ผู้รับ ไม่ต้องให้โดยตรงจากเส้นเลือดก็ได้ เขาได้ทดลองใช้วิธีนี้ให้เลือดแก่หญิงที่มีภาวะตกเลือดจากการคลอดบุตรจำนวน 11 คน นับว่าเป็นการให้เลือดแก่คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและเป็นครั้งแรกที่การให้เลือดอยู่บนพื้นฐานเชิงวิทยาศาสตร์ในแง่ของการให้เพื่อชดเชยการสูญเสียเลือดจากร่างกาย ทำให้ศาสตร์แขนงนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง และวิธีการให้เลือดของหมอบลันเดลล์ยังเป็นเทคนิคที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ให้เลือดในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นี้ยังประสบปัญหาอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่นการประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับให้เลือด ปัญหาจากการแข็งตัวของเลือด ทำให้ต้องให้เลือดครั้งละน้อย ๆ และต้องต่อเส้นเลือดหลายครั้ง นำมาสู่ปัญหาการติดเชื้อและหลอดเลือดอักเสบจากเทคนิคและอุปกรณ์ที่ยังไม่ดี นอกจากนี้การหาคนมาบริจาคเลือดก็ทำได้ยาก ทำให้ยังมีความพยายามจะนำเลือดจากสัตว์มาให้คนอยู่บ้าง จนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีการค้นพบว่าในผู้ป่วยที่เสียเลือดการให้สารละลายเกลือแร่ทดแทนทางเส้นเลือดก็สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ และยังปลอดภัยจากการที่ไม่เกิดผลข้างเคียงเหมือนการให้เลือดรวมทั้งไม่จำเป็นต้องใช้คนมาบริจาคเลือดด้วย ทำให้ความพยายามให้เลือดเพื่อการรักษาหยุดชะงักไปอีกครั้ง
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เกิดศาสตร์แขนงใหม่ ๆ ต่อยอดจากความรู้ด้านชีววิทยาจากความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น เช่นแบคทีเรียวิทยา (Bacteriology) ภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology) เป็นต้น ความรู้เหล่านี้ทำให้อันตรายของการให้เลือดจากการติดเชื้อเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่อุปสรรคของการให้เลือดยังไม่หมดไป
จนกระทั่งในปี 1900 นายแพทย์ Karl Landsteiner ชาวออสเตรีย พบว่าทำไมเราจึงให้เลือดกับคนไข้บางคนได้อย่างปลอดภัย แต่กลับทำให้คนบางคนเกิดปฏิกิริยารุนแรงจนเสียเชียวิตได้ นั่นคือการค้นพบว่าที่ผิวของเม็ดเลือดแดงของมนุษย์มีสารที่เรียกว่า isoagglutinins ที่ทำให้เกิดการตกตะกอนของเม็ดเลือดได้ และเขาใชัคุณสมบัตินี้จำแนกเม็ดเลือดแดงออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ A B และ O (ส่วน AB มาพบในอีก 1 ปีต่อมาภายหลังโดย Jan Jansky) เป็นที่มาของการแบ่งหมู่เลือดออกเป็น A B O AB เป็นหมู่เลือดหลักที่เเราใช้จนถึงปัจจุบัน (ปัจจุบันระบบหมู่เลือดมีการจำแนกแยกย่อยอีกได้ถึง 33 แบบ) ซึ่งการค้นพบนี้มีความสำคัญไม่ใช่แค่ใช้จำแนกหมู่เลือดเท่านั้น แต่มันทำให้เราเข้าใจว่าจะต้องให้เลือดอย่างไรจึงจะไม่เกิดการตกตะกอนของเลือดจนทำให้คนที่รับเลือดเสียชีวิตได้ และยังนำไปสู่ความเข้าใจความเจ็บป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเลือดและภูมิคุ้มกันตามมาอีกมากมาย ทำให้นายแพทย์ Karl Landsteiner ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ในปี 1930
เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ซับซ้อนสำหรับคนยุคปัจจุบันเช่นการให้เลือดนี้ผ่านการลองผิดลองถูกและสะสมความรู้มายาวนานถึง 300 ปีเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ความรู้ที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยแบบไหนที่ควรได้รับเลือด ความเข้าใจเรื่องกลไกการแข็งตัวของเลือด ความรู้เรื่องภูมิคุ้มกันวิทยา การค้นพบระบบหมู่เลือดจนไปถึงการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้เลือดไม่ว่าจะเป็น ถุงเก็บเลือด สายน้ำเกลือ เข็ม ศาสตร์ต่าง ๆ หลากหลายแขนงเหล่านี้อยู่เบื้องหลังการให้เลือดได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นในปัจจุบัน