The Gift of Anesthesia
พรจากการไร้ความรู้สึก

LinkSpotifyYouTube

คนในยุคปัจจุบันได้รับการผ่าตัดแบบที่ไม่ต้องเจ็บปวดมาก เพราะเรามักจะได้ยาระงับปวด มีการฉีดยาชา หรือดมยาสลบในการผ่าตัดใหญ่ ๆ แต่ในอดีตก่อนที่จะมีการค้นพบวิธีการดมยาสลบนั้น การผ่าตัดถือเป็นสิ่งที่น่ากลัว คนที่ทำการผ่าตัดมักจะเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้มีด ดังนั้นสมัยก่อนเขาจะเรียกหมอผ่าตัดว่า Barber surgeon ส่วนคนที่ถูกผ่าตัดนั้น โอกาสจะรอดหรือเสียชีวิตหลังผ่าตัดก็อาจจะพอ ๆ กัน เรียกได้ว่าเป็นวิธีการรักษาสุดท้ายที่จะเลือกใช้กัน ดังนั้นการค้นพบวิธีที่จะทำให้สามารถผ่าตัดได้โดยที่คนไข้ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด จึงนับว่าเป็นการค้นพบที่เปลี่ยนโฉมหน้าของการรักษาโรคที่สำคัญอย่างหนึ่ง

การดมยาสลบผ่าตัดต่อหน้าสาธารณะครั้งแรกของโลก

การดมยาสลบผ่าตัดต่อหน้าสาธารณะครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1846 ณ Massachusetts General Hospital เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เป็นการผ่าตัดก้อนบริเวณคางของชายที่ชื่อว่า Gilbert Abbott โดยศัลยแพทย์คือนายแพทย์ John Warren และผู้ดมยาสลบคือทันตะแพทย์ William T.G. Morton สารระเหยที่ใช้ในการดมยาสลบตอนนั้นคืออีเธอร์ (Ether) การผ่าตัดครั้งนั้นมีการเปิดโอกาสให้มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ หลังจากนั้นไม่นานนายแพทย์ Oliver Wendell Holmes ได้เสนอให้เรียกการระงับความรู้สึกว่า anesthesia ซึ่งมาจากภาษากรีกคำว่า "anaisthesis" ที่แปลว่า การสูญเสียความรู้สึก (loss of sensation) 

การผ่าตัดก่อนที่จะมียาสลบ Surgery before anesthesia

การผ่าตัดในยุคก่อนที่จะมียาสลบหรือการระงับความรู้สึกนั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสยดสยองทั้งผู้ถูกผ่าและผู้ช่วยเหลือ และมักจะจำกัดอยู่ที่การผ่าตัดอวัยวะภายนอก เช่น แขน ขา เท่านั้น การผ่าตัดอวัยวะภายในไม่ว่าจะเป็นช่องท้อง ทรวงอก หรืออวัยวะสำคัญ เช่นศีรษะนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้เลย ในการผ่าตัดแต่ละครั้งมักจะเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงกรีดร้องอันเจ็บปวดของผู้ป่วยและหยาดน้ำตาของญาติ ต้องมีผู้ช่วยจับตัวคนไข้ หรือไม่แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดอาจจะต้องชกให้เอาอะไรฟาดศีรษะเพื่อให้ผู้ป่วยหมดสติก่อนทำการผ่าตัดซึ่งมักจะทำได้ไม่นานนัก ทำให้แพทย์ที่ผ่าตัดนอกจากจะต้องมีความกล้าแล้วยังต้องอาศัยความรวดเร็วในการปฏิบัติการก่อนที่ผู้ป่วยจะรู้สติขึ้นมา ดังนั้นน่าจะพอนึกภาพออกว่าผลการผ่าตัดไม่น่าจะดีเท่าที่ควร หลายครั้งที่ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัด หรือไม่ก็หลังผ่าตัดไม่นาน แทบจะเรียกได้ว่าการรักษาด้วยวิธีนี้คือทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น 

"มีเรื่องเล่าถึงการผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยชายคนหนึ่ง ที่ผู้ป่วยดิ้นหลุดออกจากการจับตรึงของผู้ช่วยแล้วไปขังตัวเองในห้องเก็บของ แพทย์ที่ทำการผ่าตัดต้องวิ่งตามไปพังประตูแล้วลากผู้ป่วยออกมาทำการผ่าตัดจนสำเร็จ"

ก่อนจะมาเป็นยาสลบ The long journey of anesthesia

มีหลักฐานว่ามนุษย์ในยุคโบราณรู้จักฝิ่นจากการขุดพบงานศิลปะในยุคซูเมเรียน (6000 ปีก่อน) ที่มีการแกะสลักเป็นดอกฝิ่น นอกเหนือจากฝิ่นยังมีการใช้สมุนไพรอื่น ๆ เพื่อช่วยระงับความเจ็บปวด รวมทั้งวิธีการฝังเข็มที่ใช้กันมาในประเทศจีน ในอินเดียเองช่วงราว ๆ 2600 ปีก่อน ก็มีการบันทึกว่ามีการใช้กัญชาเพื่อทำให้ผู้ป่วยง่วงหลับในระหว่างการผ่าตัด สารอื่นที่มีการนำมาใช้ลดความเจ็บปวดกันอย่างแพร่หลายคือเหล้า หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งมักจะให้ผู้ป่วยดื่มจนเมามายเพื่อให้ลดความเจ็บปวด 

ชาวอาหรับเองก็มีการใช้วิธีการต่างๆ ในการระงับความเจ็บปวด ในช่วงศตวรรษที่ 10-11 มีบันทึกของแพทย์ชาวอาหรับเกี่ยวกับการใช้ผ้าชุบกับสมุนไพรบางอย่างวางไว้บนปากและจมูกของผู้ป่วยเพื่อทำให้หลับในระหว่างการผ่าตัด ซึ่งตอนหลังวิธีการเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้ในยุโรปและอเมริกาด้วยเช่นกัน

สารระเหยที่เรียกว่าอีเธอร์นั้น ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1540 โดยชาวแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวปรัสเซียที่ชื่อ Valerius Cordus เขาทำโดยการกลั่นไวน์ที่ผสมกับกรดซัลฟูริก (sour oil of vitriol) เขาเรียกสารระเหยที่ได้จากการกลั่นว่า sweet oil of vitriol ต่อมามีการใช้สารนี้เป็นยาเพื่อรักษาโรคลมชัก

ในปี 1798 ชายหนุ่มที่ชื่อว่า Humphrey Davy ได้ทดลองสูดกาซไนตรัส ออกไชด์ เขาพบว่าการสูดดมกาซทำให้เขารู้สึกมีความสุขและช่วยลดอาการปวดฟันได้ ก็เลยเรียกชื่อกาซนั้นว่า กาซหัวเราะ (laughing gas) เขาเคยเสนอให้นำกาซนี้ไปใช้ในการลดความเจ็บปวด แต่คนกลับสนใจคุณสมบัติอีกอย่างมากกว่า ปรากฎว่ากาซหัวเราะเป็นที่นิยมในงานปาร์ตี้ต่าง ๆ เป็นอันมาก

ในปี 1818 Michael Faraday เคยตีพิมพ์เกี่ยวกับคุณสมบัติการระงับความปวดและการช่วยให้หลับของอีเธอร์ แต่เนื่องจากการกำหนดปริมาณของอีเธอร์ที่เหมาะสมยังทำได้ยาก ทำให้หลังจากใช้อีเธอร์เพื่อให้หลับกว่าที่คนป่วยจะตื่นขึ้นมาก็ใช้เวลานานกว่า 24 ชั่วโมง กลายเป็นว่าไม่ค่อยมีคนสนใจนำคุณสมบัตินี้ของอีเธอร์ไปใช้ประโยชน์ แต่กลับนำไปใช้สูดดมเพื่อความบันเทิงในงานต่าง ๆ มากกว่า จนเป็นที่มาของคำว่า “ether frolics” หมายถึงงานปาร์ตี้ที่ผู้ร่วมงานจะมาสูดอีเธอร์กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของคนยุคนั้น ส่วนหนึ่งของผู้ที่นิยมไปงานปาร์ตี้แบบนี้ก็คือนักศึกษาแพทย์ รวมทั้งนายแพทย์หนุ่มที่ชื่อ Crawford Williamson Long เขาสังเกตว่าเมื่อสูดอีเธอร์เข้าไป แม้จะหกล้มหรือเดินชนอะไร เขากลับไม่รู้สึกเจ็บ เขาจึงทดลองผ่าตัดก้อนที่คอของผู้ป่วยรายหนึ่งโดยให้สูดอีเธอร์ขณะผ่าตัดในปี 1842 ซึ่งนับได้ว่าเป็นการนำอีเธอร์มาใช้เป็นยาดมสลบในการผ่าตัดครั้งแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่านายแพทย์ลองไม่ได้เผยแพร่การใช้อีเธอร์ของเขา 

ทันตะแพทย์ William T.G. Morton ซึ่งได้เห็นประโยชน์จากการระงับความรู้สึกของอีเธอร์จากการไปปาร์ตี้ ether frolics เช่นกัน เขาได้ลองนำอีเธอร์มาใช้ทดลองกับสัตว์เลี้ยงก่อนจะนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มาถอนฟันจนทำให้มีคนไข้ที่ต้องการถอนฟันจำนวนมากมาใช้บริการที่คลินิกของเขา ในขณะที่ทันตะแพทย์คนอื่น ๆ นิยมใช้กาซหัวเราะหรือไนตรัส ออกไซด์มากกว่า (การใช้กาซถอนฟันใช้เวลาค่อนข้างสั่้น ทำให้ทำได้ง่ายกว่าการผ่าตัดใหญ่ ๆ ทันตะแพทย์จึงเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่นำกาซระงับปวดเหล่านี้มาใช้) ต่อมาเขาจึงได้เสนอว่าจะแสดงการดมยาสลบต่อหน้าสาธารณะในปี 1946 จึงทำให้การระงับความรู้สึกด้วยอีเธอร์เป็นที่สนใจในวงการแพทย์รวมทั้งที่อังกฤษ ต่อมามีการนำยาดมสลบไปใช้ในการระงับปวดหญิงคลอดบุตรด้วย แม้กระทั่งควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษก็ได้รับอานิสงฆ์จากการระงับความรู้สึกในการคลอดเจ้าชายลีโอโปลในปี 1853 และเจ้าหญิงเบียทริกซ์ในปี 1857 โดยวิสัญญีแพทย์ก็คือ John Snow นั่นเอง 

และมีเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Canon of Medicine (ตีพิมพ์ปี 1595) 

เรื่องอื้อฉาวของมอร์ตัน

ในตอนแรกนั้นมอร์ตันพยายามจะปกปิดสูตรยาดมสลบเป็นความลับเพราะหวังว่าจะนำไปจดลิขสิทธิ์ ทำให้มีเรื่องขัดแย้งกับนักเคมีที่ช่วยเขาคิดค้นสูตรและขนาดที่เหมาะสมของอีเธอร์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสสังคมได้เขาจึงยอมเปิดเผยสูตรในที่สุด จากเรื่องราวอื้อฉาวนี้ทำให้อนุสาวรีย์ที่สร้างเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดมยาสลบในปี 1846 ได้ชื่อว่า Ether Monument แทนการระบุชื่อบุคคล และมีชื่อเล่นว่า Either Monument

การระงับความรู้สึกในปัจจุบัน

ในยุคปัจจุบันวิทยาการของการระงับความรู้สึกก้าวหน้าไปไกลจากเมื่อเกือบ 200 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก ผลจากการระงับความรู้สึกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ทำให้การผ่าตัดยาก ๆ นั้นสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ผ่าตัดหัวใจ หรือผ่าตัดสมอง ถือได้ว่าการค้นพบวิธีระงับความรู้สึกเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด และศัลยแพทย์ก็ไม่ใช่แค่ barber surgeon อีกต่อไป เนื่องจากสามารถพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าผู้ป่วยจะเจ็บปวดหรือรู้สึกตัวขึ้นมาระหว่างการผ่าตัดนั่นเอง