5.1 การบริหารจัดการในการขยายอาชีพ

ใบความรู้เรื่องการบริหารจัดการในการขยายอาชีพ

1) การทำแผนธุรกิจ

1.1 ความหมายของแผนธุรกิจ

แผนธุรกิจ คือแผนงานทางธุรกิจที่แสดงกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติในการลงทุนประกอบการ โดยมีจุดเริ่มต้นจากจะผลิตสินค้าและบริการอะไร มีกระบวนการปฏิบัติอย่างไรบ้าง และผลจากการปฏิบัติออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ใช้งบประมาณและกำลังคนเท่าไร เพื่อให้เกิดเป็นสินค้าและบริการแก่ลูกค้า และจะบริหารธุรกิจอย่างไรธุรกิจจึงจะอยู่รอด (แหล่งที่มา : มาณพ ชิวธนาสุนทร, แผนธุรกิจ SMEs, สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม, 2547)

1.2 การศึกษาวิเคราะห์ชุมชนเพื่อการพัฒนาอาชีพ

การวิเคราะห์ชุมชน หมายถึง การนำเอาข้อมูลทั่วไปของชุมชนที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอก็ได้ขึ้นอยู่กับการกำหนดขอบเขตของชุมชนว่าจะนำข้อมูลของชุมชนในระดับใดมาพิจารณา โดยการจำแนกข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงประเด็นปัญหา และความต้องการที่แท้จริงของชุมชน เพื่อจะนำมากำหนดแนวทางการขยายอาชีพให้ตอบสนองตรงกับความต้องการของคนในชุมชน โดยเฉพาะเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ รายได้ของประชากรต่อคน ต่อครอบครัวเป็นอย่างไร ลักษณะของการประกอบอาชีพของประชากรเป็นอย่างไร รวมถึงข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อมูลด้านการตลาด แนวโน้มของความต้องการของการตลาด นโยบายของรัฐที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการผลิตหรือการประกอบอาชีพ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราวางแผนการดำเนินการพัฒนาอาชีพได้รอบคอบขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูล โดยวิเคราะห์สภาพการภายใน ภายนอกของชุมชน โดยใช้เทคนิค SWOT (SWOT Analysis)การศึกษาความต้องการของชุมชนเป็นการสำรวจความต้องการของชุมชนเพื่อให้ทราบถึงจุดเด่น จุดด้อย อุปสรรคหรือความเสี่ยงและโอกาสในด้านต่างๆ ของข้อมูลและความต้องการของชุมชน ทั้งนี้โดยใช้เทคนิค SWOT ในการวิเคราะห์ชุมชน มีดังนี้

S (Strengths) จุดแข็งหรือจุดเด่นของชุมชน

W (Weaknesses) จุดอ่อนหรือข้อด้อยของชุมชน

O (Opportunities) โอกาสที่จะสามารถดำเนินการได้

T (Threats) อุปสรรคหรือปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงของชุมชนที่ควรหลีกเลี่ยงในการปฏิบัติ

การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิเคราะห์ควรพิจารณาจำแนกข้อมูลในด้านต่างๆ โดยให้สมาชิกในชุมชนหรือกลุ่มอาชีพนั้นร่วมกันช่วยวิเคราะห์ หากพบข้อมูลส่วนใดที่เป็นจุดเด่นของชุมชนหรือกลุ่มอาชีพนั้นให้ใส่ข้อมูลในช่อง S หากพบข้อมูลใดที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อด้อยของชุมชนหรือกลุ่มอาชีพให้ใส่ข้อมูลในช่อง W หากส่วนใดที่เป็นโอกาสช่องทางของชุมชน เช่น ความต้องการสินค้าของประชาชน นโยบาย หรือจุดเน้นของรัฐหรือของชุมชนที่เป็นโอกาสดีให้ใส่ในช่อง O และในขณะเดียวกันข้อมูลใดที่เป็นความเสี่ยง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย หรือความต้องการของชุมชนไม่มีหรือมีน้อย ขาดแคลนวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิต เป็นต้น ให้นำข้อมูลใส่ในช่อง T ทำเช่นนี้จนครบถ้วน หากส่วนใดข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอก็ต้องสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมได้ จากนั้นนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อกำหนดทางเลือกในการพัฒนาอาชีพหรือทางเลือกในการแก้ปัญหาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ต่อไป

ขั้นตอนกระบวนการวางแผน

ขั้นตอนของกระบวนการวางแผนในการขยายธุรกิจของชุมชน มีดังนี้

1. ขั้นการกำหนดวัตถุประสงค์ต้องให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติหรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

2. ขั้นการกำหนดวัตถุประสงค์การกำหนดวัตถุประสงค์ต้องมีความชัดเจนว่าจะทำเพื่ออะไร และวัตถุประสงค์นั้นจะต้องมีความเป็นไปได้หรือไม่ และสามารถวัดผลได้

3. ขั้นการตั้งเป้าหมาย เป็นการระบุเป้าหมายที่จะทำว่าตั้งเป้าหมายในการดำเนินการไว้จำนวนเท่าใด และสามารถวัดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ

4. ขั้นการกำหนดขั้นตอนการทำงาน เป็นการคิดไว้ก่อนว่าจะทำกิจกรรมอะไรก่อน หรือหลัง ซึ่งการกำหนดแผนกิจกรรมนี้จะทำให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. ขั้นปฏิบัติกิจกรรมตามแผน ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจึงจะได้ผล

6. ขั้นการปรับแผนการปฏิบัติงาน ในบางครั้งแผนที่วางไว้เมื่อได้ดำเนินการไประยะหนึ่ง อาจจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจึงควรมีการปรับแผนบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น และการดำเนินงานตามแผนจะมีประสิทธิภาพขึ้น

การวางแผนปฏิบัติการจัดการความเสี่ยง

การวางแผนปฏิบัติการจัดการความเสี่ยง ควรมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ ในองค์การเป็นเสมือนคณะทำงานกลางเพื่อร่วมกันวางแผนปฏิบัติการจัดการความเสี่ยง ซึ่งจะต้องมีการทบทวน วิเคราะห์ ตัดสินใจและประเมินความเสี่ยงขององค์การก่อน การวางแผนปฏิบัติการจัดการความเสี่ยง ประกอบด้วยขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1. สำรวจความเสี่ยงในองค์การ การสำรวจความเสี่ยงทั้งองค์การโดยศึกษาจากตัวแทนฝ่ายต่างๆ ด้วยวิธีการตอบแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลต่อความเสี่ยงขององค์การ

2. ประเมินความเสี่ยงในระดับองค์การ คณะทำงานกลางรวบรวมข้อมูลความเสี่ยงจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมาจัดลำดับความเสี่ยง โดยอาจเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมพิจารณา

3. กำหนดตัวควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในโอกาสต่างๆ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

4. การทำแผนปฏิบัติการ จะต้องเลือกความเสี่ยงสูงสุดที่เป็นวิกฤติก่อนมาทำแผนปฏิบัติการ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การผันผวนจากราคาสินค้าต้นทุน เป็นต้น

5. การทำรายงานสรุปความเสี่ยง เพื่อนำข้อมูลความเสี่ยงมาจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการความเสี่ยง โดยเรื่องวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไข

การจัดการการผลิต

ความหมายของการจัดการการผลิต การบริการ และการควบคุมคุณภาพการจัดการการผลิต หมายถึง กระบวนการที่ดำเนินงานผลิตสินค้าตามขั้นตอนต่างๆ อย่างต่อเนื่องและมีการประสานงานกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือกิจการการบริการ หมายถึง กระบวนการที่เน้นการให้บริการแก่ลูกค้าโดยตรง โดยการทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ มีความสุขและได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่การควบคุมคุณภาพ หมายถึง การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการและสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าบนแนวคิดพื้นฐานว่า เมื่อกระบวนการดี ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะดีตาม

การจัดการเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพการผลิตการควบคุมคุณภาพนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์หรือการบริการบรรลุจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้

1. สินค้าที่สั่งซื้อหรือสั่งผลิตมีคุณภาพตรงตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญา

2. กระบวนการผลิตดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสม

3. การวางแผนการผลิตเป็นไปตามที่กำหนดไว้

4. การบรรจุหีบห่อดีและเหมาะสม หมายถึงสามารถนำส่งวัสดุยังจุดหมายปลายทางในสภาพดี

ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพการผลิต แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นการกำหนดนโยบาย ในขั้นนี้จะเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์กว้างๆ เช่น ระดับสินค้า ขนาดของตลาด วิธีการจำหน่าย ตลอดถึงการรับประกัน ข้อกำหนดเหล่านี้จะเป็นเครื่องชี้นำว่ากิจการจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้วางเอาไว้

2. ขั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ในที่นี้ หมายถึง การกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์จึงต้องมีความสัมพันธ์กับระบบการผลิต

3. ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพของการผลิต การควบคุมคุณภาพการผลิต แบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อย 3 ขั้น คือ การตรวจสอบคุณภาพของชิ้นส่วน การควบคุมกระบวนการการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยในการตรวจสอบทั้ง 3 ขั้นนี้ ส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่าง เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้นั้นมีจำนวนมากไม่อาจจะทำการตรวจสอบได้อย่างทั่วถึงภายในเวลาจำกัด

4. ขั้นการจำหน่าย การควบคุมคุณภาพ จะมีลักษณะเป็นการให้บริการหลังการขาย ซึ่งในระบบการตลาดสมัยใหม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสินค้าบางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทเครื่องมือ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีวิธีการใช้และการดูแลรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยาก ผู้ผลิตหรือผู้ขายจะต้องคอยดูและเพื่อให้บริการหลังการขายแก่ผู้ซื้ออยู่เสมอ เพื่อสร้างความพึงพอใจ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและความก้าวหน้าทางธุรกิจในอนาคต

การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิต

การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิต เป็นการพัฒนาความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ของมนุษย์ ช่วยในการแก้ปัญหาและสนองความต้องการของมนุษย์อย่างสร้างสรรค์ โดยนำความรู้มาใช้กับกระบวนการเทคโนโลยี เพื่อสร้างและใช้สิ่งของเครื่องใช้ วิธีการให้การดำรงชีวิตมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์

การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ต่อชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมและงานอาชีพ มีหลักการดังต่อไปนี้

1. การวิเคราะห์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์หรือวิธีการที่ได้จากเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งทางด้านคุณภาพ รูปแบบ วัสดุ ความสะดวกในการใช้ ความคุ้มค่า โดยก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีใดมาใช้นั้น ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ ควรนำคุณลักษณะทั่วไป คุณลักษณะเฉพาะของเทคโนโลยีมาศึกษาเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจเลือก

2. เมื่อมีการเลือกใช้เทคโนโลยีสำหรับการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์แล้ว ย่อมต้องมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการต้องศึกษาทบทวนว่าเทคโนโลยีที่กำหนดใช้นั้นมี ข้อดี ข้อเสียและผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับนั้นเป็นอย่างไร

3. ตัดสินใจเลือกและใช้เทคโนโลยีที่มีผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในทางสร้างสรรค์มากที่สุด

ปัจจัยในการลด และควบคุมต้นทุนการผลิต

ในการผลิตสินค้า ต้นทุนการผลิตจะสูงหรือต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ หลายประการดังนี้

1. ผู้บริหารต้องมีนโยบายและโครงการเพื่อลดต้นทุนการผลิตอย่างจริงจังและชัดเจนไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านคุณภาพมาตรฐานระดับสากล เช่น ISO , การสนับสนุนศักยภาพของบุคลากร ฯลฯ หรือระบบและวิธีการลดต้นทุน ซึ่งต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

2. สร้างจิตสำนึกพนักงาน ให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อโครงการลดต้นทุนการผลิต จึงจะได้รับความร่วมมือและประสบความสำเร็จได้

3. มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริหารจัดการธุรกิจอย่างจริงจัง ทุกปัจจัยที่กล่าวมามีความสำคัญเท่ากันหมด แต่การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพผู้บริหารธุรกิจต้องกำหนดเป้าหมายและการดำเนินงานอย่างจริงจัง และต้องมีการจัดทำข้อมูลและวัดประสิทธิภาพของการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

การจัดการการตลาด

การจัดการการตลาด หมายถึง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้านธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการผลิต การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การวิจัยการตลาด การส่งเสริมการขาย การทำฐานข้อมูลลูกค้า การกระจายสินค้า การกำหนดราคา การจัดจำหน่าย ตลอดจนการดำเนินกิจการทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการ และบริการให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคพอใจ ทั้งในเรื่องราคาและบริการ การจัดการการตลาดเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ

1. การโฆษณา หมายถึง การนำเสนอหรือส่งเสริมความคิดในการขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อต่างๆ มีผู้อุปถัมภ์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณา โดยมีวัตถุประสงค์ของการโฆษณา เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าและงานบริการ

2. การประชาสัมพันธ์ หมายถึง การติดต่อสื่อสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างลูกค้ากับผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความเชื่อถือศรัทธา ความคิดเห็น ทัศนคติที่ดีต่อองค์การ การประชาสัมพันธ์ ได้แก่ ข่าวแจกสำหรับเผยแพร่ การแถลงข่าว

3. การส่งเสริมการขาย หมายถึง กิจกรรมการส่งเสริมการตลาดนอกเหนือจากการโฆษณาการขายโดยบุคคล และการประชาสัมพันธ์ เป็นการช่วยกระตุ้นความสนใจ การซื้อของผู้บริโภคหรือบุคคล อื่นในช่องทางการจัดจำหน่าย การจัดแสดงในงานแสดงสินค้า การแจกของแถม การลดราคา การชิงโชค การแข่งขัน การแจกคูปอง

4. การวิจัยการตลาด หมายถึง การศึกษาปัจจัยภายนอกและภายในเกี่ยวกับการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลในการวางแผนการตลาดได้อย่างมั่นใจและสามารถบอกรายละเอียดในการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน

บัญชีธุรกิจ

ความหมายของบัญชีธุรกิจ บัญชีธุรกิจ หมายถึง ระบบประมวลข้อมูลทางการเงิน การจดบันทึกรายการค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรับ – จ่ายเงิน สิ่งของ และสิทธิที่มีมูลค่าเป็นเงินไว้ในสมุดบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เป็นระเบียบถูกต้องตามหลักการและสามารถแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกิจการในระยะเวลาหนึ่งได้

ความสำคัญของการทำบัญชี เป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงินของธุรกิจ และความมั่นคงของธุรกิจ จะบันทึกบัญชีรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เช่น การลงทุน การรับ การจ่าย โดยไม่นำส่วนที่เป็นของส่วนตัวเข้ามาบันทึกด้วย สิ่งที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาจัดทำเป็นรายงานทางการเงินได้ เช่น งบดุล งบกำไร ขาดทุน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนในการดำเนินธุรกิจ

เป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนและตัดสินใจธุรกิจ สามารถนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากมีการบันทึกที่ถูกต้อง จะทำให้สามารถพัฒนากิจการให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

เป็นเครื่องมือในการวางแผนกำไร และควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท ช่วยในการตัดสินใจกำหนดราคาสินค้า ช่วยในการควบคุมต้นทุนการผลิต และสามารถวิเคราะห์ปรับปรุงรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก รวมถึงช่วยในการวางแผนการดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่

การจดบันทึกการปฏิบัติงานและการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย เป็นการช่วยความทรงจำ และถ้ามีการจดบันทึกกิจการต่างๆ อย่างมีระบบ การลงบัญชีที่ดี มีความเข้าใจในการจดบันทึก และการสรุปข้อมูลให้เหมาะสมแล้วสามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจทำการปลูกพืชให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด แนวโน้มของราคา ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ผลิตทราบได้ว่ากิจการของตนเป็นอย่างไร และวิธีการอย่างหนึ่งที่จะแสดงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานว่ามีรายรับ – รายจ่ายอย่างไร ช่วยในการประเมินผลการดำเนินงานว่ามีกำไร หรือขาดทุนอย่างไรอีกด้วย รูปแบบการบันทึกการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ดังตัวอย่าง

บัญชีทรัพย์สิน – หนี้สิน

เป็นการบันทึกรายการทรัพย์สิน หนี้สินต่างๆ เช่น ที่ดิน เครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ อุปกรณ์การเกษตร ปัจจัยการผลิต จำนวนผลผลิต ผลผลิตที่คงเหลือ ตลอดจนหนี้สินต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการผลิต ในการบันทึกทรัพย์สิน – หนี้สินต่างๆ เพื่อจะนำไปใช้สรุปฐานะทางการเงินของตนเองและเป็นข้อมูลที่จะใช้ในการคำนวณหารายได้ต่อไป โดยสรุปเป็นฤดูกาลเพาะปลูก หรือสิ้นปีให้กำหนดเป็นมูลค่าจำนวนเงิน ดังตัวอย่าง บัญชีทรัพย์สิน – หนี้สิน