ปอยหลวง

งานปอยหลวง งานบุญที่ยิ่งใหญ่ของคนภาคเหนือ ซึ่งจัดเป็นประจำของทุกๆปี เพื่อเป็นการจัดฉลองที่ยิ่งใหญ่ของวัด คำว่า ปอยมาจากคำว่า ประเพณี หมายถึง งานฉลองรื่นเริง ส่วนคำว่า หลวงหมายถึง ยิ่งใหญ่ดังนั้นคำว่า ปอยหลวงจึงเป็นงานฉลองที่ยิ่งใหญ่หรืองานฉลองที่ใหญ่โต ซึ่งเป็นการฉลองถาวรวัตถุ ของวัดหรือฉลองสิ่งก่อสร้างของวัด ที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้น เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ และประเพณีงานปอยหลวง มักจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 5 ไปจนถึงเดือน7 เหนือ ซึ่งก็ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงเดือนเมษายน หรือบางแห่งอาจไปถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ส่วนระยะเวลาการจัดงานจะมี ประมาณ 3-7 วัน

ที่มา

คำว่า"ปอย" ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (2542: 4610) ใช้คำว่า "พอย" (ปริวรรค) แต่อ่านว่า "ปอย" ซึ่ง มณี พยอมยงค์(2543: 119) กล่าวว่า ประเพณีปอย คืองานฉลอง หรืองานรื่นเริง และงานเทศกาลที่จัดขึ้น คำว่า "ปอย" มาจากภาษาพม่าว่า "ปเวณิ์" หรือ "ปเวณี" แต่ชาวพม่าอ่านออกเสียงภาษาพูดเร็ว จึงฟังเพี้ยนเป็นเสียง "ปอย" ดังนั้นเมื่อมีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชหรืองานประเพณีต่างๆ ชาวล้านนาจึงเรียกงานต่างๆว่า "งานปอย..." เช่น ปอยหลวง ปอยน้อย หรือปอยลูกแก้ว ปอยข้าวสังฆ์(งานทำบุญอุทิศถึงญาติพี่น้องที่ถึงแกกรรมไปแล้ว) และปอยล้อ(งานศพพระสงฆ์)

พิธีการ

งานประเพณีปอยหลวงของชาวล้านนา นิยมจัดขึ้น 2 – 3 วัน วันแรก เรียกว่า วันแต่งดาหรือ วันห้างดาวันที่ 2 เรียกว่า วันกินส่วนวันสุดท้ายเรียกว่า วันตานหรือ วันครัวตานเข้า

วันแต่งดา คือวันที่มีการเตรียมอาหารคาวหวานผลไม้ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่จะนำไปถวายวัดใส่ใน ครัวตานซึ่งสร้างขึ้นจากไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยม สำหรับใช้คนหาม ด้านบนมียอดแหลมทำมาจากใบคา สำหรับปักเงิน หรือสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับพระภิกษุ สามเณร เช่น แป้ง สบู่ ผงซักฟอก แปรงสีฟัน สมุด ดินสอ ปากกา เพื่อนำไปถวายให้กับวัด ส่วนยอดของครัวตานแต่ละบ้านจะไม่เหมือนกัน บางบ้านทำเป็นรูปใบโพธิ์ นำถ้วย ช้อน จาน ชาม มาประดับ บางบ้านนำโต๊ะเก้าอี้ สำหรับถวายให้กับวัด ซึ่งแล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบ้าน ถ้าต้นครัวตานของใครสวยงามก็จะเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้มาร่วมงาน สิ่งสำคัญของครัวตาน คือ ยอด มักนิยมนำธนบัตรมาหนีบไว้กับไม้ไผ่แล้วนำมาปักประดับตามยอดเป็นช่อชั้นอย่างสวยงาม

 เมื่อถึงวันกิน จะมีบรรดาญาติมิตรสหาย แขกผู้มีเกียรติซึ่งเจ้าของบ้านได้บอกกล่าวให้มาร่วมงาน ก็จะมีการยกสำรับกับข้าว เหล้ายาปลาปิ้งมาเลี้ยง ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันที่สนุกสนาน รุ่งขึ้นอีกวันถือเป็นวันตาน

วันตาน มีการแห่ต้นครัวตานของแต่ละบ้านไปวัด บรรยากาศในวันนี้ก็ยิ่งสนุกสนานคึกคัก ด้วยว่าแต่ละบ้านจะมีมหรสพแตรวง ดนตรีพื้นบ้านนำหน้าครัวตาน ญาติพี่น้องก็จะออกมาร่วมรำวงฟ้อนรำขณะเดียวกันบรรยากาศภายในวัดก็ดูคึกคักไม่แพ้กัน มีทั้งคนเฒ่า หนุ่มสาว เด็กเล็ก พ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาจำหน่าย รวมถึงศรัทธาญาติโยม ตลอดจนพระสงฆ์องค์เจ้าที่มาร่วมงานตามคำเชิญของวัดเจ้าภาพ พระภิกษุสงฆ์ที่อาราธนามาเป็น เจ้าพร หรือ ตุ๊เจ้าปั๋นปอน จะเป็นพระที่มีน้ำเสียงไพเราะมีโวหารที่สละสลวย เพราะต้องให้ศีลให้พรแก่ศรัทธาที่นำครัวตานมาถวาย เจ้าพรอาจจะพรรณาถึงความงดงามของครัวตานนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ที่นำครัวตานมาถวายเกิดความปลาบปลื้มใจ

องค์ประกอบสำคัญงานปอยหลวง

1. ตุงและช่อ ทอด้วยฝ้ายหลากสีสัน ประดับด้วยดิ้นสีเงิน สีทอง บางผืนทอขึ้นเป็นสีธงชาติไทย หรือ ปักเป็นรูปนักษัตร 12 ราศี ยาวประมาณ 2 เมตร นำไปติดไว้กับปลายไม้ไผ่ แล้วก็จะต้องนำตุงไปปักเรียงรายตามถนนหนทาง ก่อนที่จะเข้าวัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนที่สัญจรไปมาได้รับทราบว่า วัดแห่งนี้จะมีงานปอยหลวง

2.ธงธรรมจักร์อันเป็นสัญลักษณ์ของชาติและพระพุทธศาสนา จะปักตลอดแนวบริเวณของวัดที่มีงานปอยหลวง

3.ต้นครัวทาน ชาวล้านนามักเรียกสิ่งของต่างๆ ที่นำมารวมกันแล้วตกแต่งให้สวยงามเพื่อถวายเป็นเครื่องไทยทานว่า ต้น ต้นทานหรือต้นครัวทาน โดยเฉพาะเครื่องไทยทานที่นำมาตกแต่งบนชองอ้อย คือแคร่หรือกระบะคานหามแล้วประดับประดาด้วยกระดาษสีหรือวัสดุอื่นๆ แล้วนำฟางหรือหญ้าคามาทำเป็นท่อน มัดแน่นขนาดประมาณ 2 กำ ยาวประมาณ 1-2 เมตร ส่วนล่างแยกออกเป็นสามขา เสริมด้วยไม้ไผ่เพื่อเพิ่มความแข็งแรง นำดอกไม้ประดิษฐ์หรือเครื่องไทยทาน ซึ่งแขวนกับก้านไม้ไผ่มาปักโดยรอบให้เป็นพุ่ม ทำเป็นพุ่มดอกไม้ หรือ พุ่มเครื่องไทยทาน และมียอดเป็นธนบัตรหนีบด้วยไม้ตับ ซึ่งทั้งหมดนี้มักเรียกโดยรวมว่า ต้นครัวทาน หรือ ต้นทาน และเรียกอีกอย่างว่า ต้น อันหมายถึงต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งรวมเป็นสำรับของทานที่ร่วมมือกันจัดทำขึ้น เพื่อนำเครื่องปัจจัยไทยทานไปถวายวัดในงาน พอยหลวง (อ่าน “ปอยหลวง”) คืองานฉลองการถวายถาวรวัตถุไว้กับพุทธศาสนา และนำไปถวายวัดในเทศกาลประเพณีต่างๆ ในการเคลื่อนต้นครัวทาน เพื่อนำไปถวายเป็นทานนั้น มักจะมีการแห่แหนด้วยขบวนฆ้องกลองซึ่งอาจมีช่างฟ้อนทำหน้าที่ฟ้อนรำนำขบวนไปด้วย 

ที่มา

จักรพงษ์  คำบุญเรือง.(2562). ประเพณี “ปอยหลวง” ล้านนา. ค้นเมื่อ 12 มกราคม 2567. จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/885756

Creative Lanna Blog.(2565).ต้นครัวตาน. ค้นเมื่อ 12 มกราคม 2567. จาก https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/details/2596