กิจกรรมห้องสมุดพาทัวร์

เพราะทุกสถานที่มีความเป็นมา และมีความรู้แฝงอยู่ วันนี้ห้องสมุดจะพาไปพบกับแหล่งเรียนรู้ภายในอำเภอเมืองลำพูนที่คัดสรรมาให้เรียนรู้แบบสั้นๆ แต่ถ้าใครสนใจติดตามรายละเอียดสามารถคลิก อ่านต่อ... ด้านหลังแหล่งเรียนรู้ได้เลย

วัดมหาวัน ตำบลในเมือง

สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีครองหริภุญไชย เมื่อครั้งพระนางจามเทวีเสด็จจากอาณาจักรละโว้มาปกครองอาณาจักรหริภุญไชย ครั้งนั้นพระองค์ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญอีก 2 องค์ คือ พระแก้วขาว (พระเสตัง คมณี) และพระศิลาดำ (พระพุทธสิกขิ) พร้อมทั้งพาไพร่พล ที่มีความรู้สาขาต่างๆ พระสงฆ์ ประมาณ 500 รูป เมื่อถึงหริภุญไชย พระนางจามเทวีทรงโปรดให้สร้างวัดมหาวัน เพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์และนำพระศิลามาประดิษฐานไว้ (วัดมหาวันวนาราม., ม.ป.ป.) อ่านต่อ...

หอธรรมวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า

ชาวล้านนาในสมัยก่อนมีความเชื่อว่าการสร้างหอธรรมหรือหอพระไตรปิฎกนั้น เป็นการบูชาพระไตรปิฎกซึ่งถือเป็นพุทธวจนะของพระพุทธเจ้า และเมื่อพระไตรปิฎกที่ได้รับการจารอย่างถูกต้องแล้ว จะเป็นของสูงค่าและมีคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องเก็บไว้ในที่สูง และต้องสร้างแยกออกมาจากอาคารกลุ่มอื่นๆ หอธรรมวัดบ้านหลุก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 ลักษณะเด่นเป็นอาคาร 2 ชั้น มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีใต้ถุนสูง การเข้าไปยังห้องเก็บพระไตรปิฎกจะต้องใช้บันไดปีนพาดขึ้น อ่านต่อ...

ศูนย์วัฒนธรรมเทศบาลตำบลอุโมงค์ ตำบลอุโมงค์

เทศบาลตำบลอุโมงค์ ได้จำลองอาคาร “ห้างเจ้า” มาก่อสร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมเทศบาลตำบลอุโมงค์ บริเวณปิงห่างหน้าวัดกอม่วง เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมเครื่องมือ เครื่องใช้ในการทำมาหากินของชาวบ้านสมัยก่อน รวมทั้งได้พัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว สำหรับพักผ่อนหย่อนใจแก่ชุมชน อ่านต่อ...

วัดหนองช้างคืน ตำบลหนองช้างคืน

วัดหนองช้างคืน สร้างเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2330 ชาวบ้านเรียกว่าวัดหนองช่างฟืม โดยตามพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2357 เจ้าเศรษฐีคำฟั่นได้นำพลเมืองจากเชียงใหม่จำนวน 1,000 ครอบครัว และนำมาจากลำปางอีก 500 ครอบครัว มาตั้งรกรากใหม่ในเมืองลำพูน ได้มีการบูรณะซ่อมแซมวัดวาอารมเก่าทั้งหลาย วัดหนองช้างคืน เมื่อได้พิจารณาตามจำนวนเจ้าอาวาสแล้ว อาจประมาณได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีตอนปลายต่อเนื่องกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อ่านต่อ...

ผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือ ตำบลประตูป่า

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือประตูป่า และกลุ่ม ไทยอง ประตูป่า ได้มองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวบ้านตำบลประตูป่า และมีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อย่าง “ประเพณีสลากย้อม” นำเอาจุดเด่นนี้เข้ามาผสมผสานในงานผ้าหรือผลิตภัณฑ์ผ้า อ่านต่อ...

สวนไม้ไทย ตำบลริมปิง

เป็นสถานที่รวบรวมศิลปะแบบขอม อาทิ ผลงานของงานปั้นดินชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไม้เหล่าพันธุ์ไม้หายากและดอกไม้ในวรรณคดีไทย ที่ปลูกล้อมรอบงานปั้นให้ดูงดงามยิ่งขึ้น อ่านต่อ...

แหล่งเรียนรู้ไร่นาสวนผสม (ไร่คุณอนัน หมื่นสิทธิโรจน์) ตำบลบ้านแป้น

คุณอนัน หมื่นสิทธิโรจน์ ได้รับรางวัลที่ 3 ประเภท เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม ในการคัดเลือกเกษตรกรบุคคลทางการเกษตรและสถาบันเกษตรกรดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2563 จากกรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดลำพูน โดยในอดีตคุณอนันรับเหมาติดฝ้า เพดาน และติดตั้งไฟฟ้าในครัวเรือน หลังจากได้เข้ารับการอบรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เป็นจุดเริ่มต้นการทำการเกษตรอ่านต่อ...

วัดพระธาตุดอยแต ตำบลเหมืองจี้

วัดพระธาตุดอยแต มีความสำคัญเกี่ยวกับท่าน พระครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๒ หลังจากท่านอุปสมบทได้ ๑ ปี แล้วท่านได้ขอลาพระครูบาขัติยะ หรือคนทั่วไปเรียกท่านว่า “ครูบาแข้งแขะ” อาจารย์องค์แรกของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ไปศึกษากัมมัฏฐานและปฏิบัติธรรมกับพระครูบาอุปละ (อุบล) วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน (ในปี ๒๕๒๘ วัดพระธาตุดอยแต ได้โอนวัดมาขึ้นต่อตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน) อ่านต่อ...

ผ้าไหมยกดอกลำพูน ตำบลเวียงยอง

ผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นผ้าไหมที่ทอยกลวดลายให้สูงกว่าฝืนฝ้า โดยการเลือกยกบางเส้นข่มบางเส้นเพื่อให้เกิดลวดลาย โดยใช้ตะกอลอย และใช้เส้นไหมตีเกลียวเป็นทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง รวมทั้งมีเส้นไหมเพิ่มพิเศษในการทอยกให้เกิดลวดลาย ตามกรรมวิธีที่ประณีตที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสืบกันมา (ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2556) คำว่า ยกดอก นั้นบ่งบอกถึงเทคนิคที่ใช้ทอผ้าและบ่งบอกถึงลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูนที่เป็นลวดลายดอกไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ดังนั้นจึงเรียกว่า "ผ้าไหมยกดอก" หรือ "ผ้าไหมยกดอก ลำพูน" (กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ม.ป.ป.) อ่านต่อ...

สุขใจออแกนิคฟาร์ม ตำบลป่าสัก

ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของบ้านสวนสุขใจ ฟาร์มออร์แกนิก มีหลากหลายอย่าง ได้แก่ ข้าว “ปันสุข” เป็นข้าว 6 ชนิด ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอรี่สุขใจ, ข้าวกล้องหอมมะลิดอกสัก, ข้าวเหนียวกล่ำแบบผสม, ข้าวไรซ์เบอรี่แบบผสม, ข้าวเหนียวหอมแม่โจ้ และข้าวขาวหอมมะลิดอกสัก “ไข่ไก่อารมณ์ดี” จากไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อย เพื่อให้แม่ไก่ได้เดินเล่น และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ โดยมีแนวคิดว่า “From Mom to Mom” จากแม่ไก่สู่คุณแม่ทุก ๆ คน "กบออร์แกนิค" เลี้ยงด้วยอาหารออร์แกนิค ไม่มีสารเคมี อ่านต่อ...

กุฎิโบราณวัดศรีชุม ตำบลบ้านกลาง

อาคารกุฎิแห่งนี้ สร้างในรูปแบบทรงตึกสมัยใหม่ สองชั้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบตะวันตก มีระเบียงทางเดินยาวและตกแต่งลวดลายวงโค้ง -"อาร์ค" เรียงรายในลักษณะ "อาเขต" (Arcade) หรือที่นิยมเรียกกันว่า "รูปแบบมิชชันนารี" หรือนีโอโคโลเนียล มีการเปิดพื้นที่ตอนในอาคารเป็นสวนโรมัน หรือ Roman Court ในทุกรายละเอียดจะมีการตกแต่ง ทั้งด้วยเครื่องไม้และปูนหล่อสลับกัน อาทิ ลูกกรงระเบียง บันได ฝ้าเพดาน บานหน้าต่าง ประตู ฯลฯ ทุกองค์ประกอบสถาปัตยกรรม จะให้ความสำคัญกับการเน้นช่องไฟจังหวะ มุมฉาก ความกลมกลึงของการถากไม้ ผสานกับการฉาบปูน ทาสีส้มอมชมพูที่ผนังด้านนอก สอดรับกับลูกกรงปูนหล่อ มีตัวอักษรจารึกไว้ในช่องโค้งเหนือบานหน้าต่าง ด้านนอกอาคารทางทิศตะวันตก เขียนว่า ปีชวด "อัฐศก" จุลศักราช 1298 พร้อมกับการคำนวนตัวเลขเป็น พ.ศ.2479 ให้ทราบด้วย (เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์, 2564) อ่านต่อ...

ยาสมุนไพร ป.ล.ย. สะแล่งโอสถ ตำบลมะเขือแจ้

ยาแผนโบราณ ป.ล.ย. ซึ่งคำว่า ป.ล.ย. ย่อมาจากคำว่า “ป้อเลี้ยงยอด” หรือ “พ่อเลี้ยงยอด” ซึ่งเป็นชื่อของคุณปู่ของคุณบุญทวี คนทางเหนือในสมัยก่อนนิยมเรียกคนผลิตยาว่า “ป้อเลี้ยง” หรือ “พ่อเลี้ยง” และเรียกคนที่มารับยาว่า “ลูกเลี้ยง” คุณบุญทวี จึงได้ตั้งชื่อยาขึ้นมาว่า “ยาแผนโบราณ ปอเลี้ยงยอด สะแล่งโอสถ” แต่ชื่อนี้เมื่อนำไปพิมพ์ลงบนฉลากยาที่ต้องจดทะเบียนตำรับยาแผนโบราณแล้ว มีความยาวเกินไปจึงได้ทำการย่อมาเป็น “ยาแผนโบราณ ป.ล.ย. สะแล่งโอสถ” เพื่อให้คนทั่วไปสามารถจดจำชื่อยาสมุนไพรและยาแผนโบราณนี้ได้ส่วนคำว่า “สะแล่ง” คือชื่อของหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านที่ประกอบการอยู่ อ่านต่อ...

ป่าน้ำจำ (ป่าชุมชน) ตำบลศรีบัวบาน

ในปี 2466 ขณะทำเหมืองฝาย ชาวบ้านบ้านทุ่งยาว ตำบลศรีบัวบานได้พบว่ามีน้ำซับไหลออกมาจากต้นไม้ใหญ่ตลอดเวลา จึงเรียกผืนป่านี้ว่า “ป่าน้ำจำ” และได้ร่วมกันบำรุงรักษาป่าผืนนี้ตลอดจนเหมืองฝายที่มีระยะทางยาวกว่า 4 กิโลเมตร โดยใช้เวลาขุดกว่า 3 ปี นำลำน้ำแม่สารเข้าสู่ชุมชนและพื้นที่เรือกสวนไร่นาของชุมชน

ในความเชื่อของคนล้านนาภาคเหนือ ป่าแห่งใดมี “น้ำจำ” หรือ น้ำซับ หรือตาน้ำผุดขึ้นมา นั่นหมายความว่า ที่นั่นมีผีปกปักรักษาอยู่ ทุกๆ ปี ชาวบ้านจึงมีการเลี้ยงผี เพื่อแสดงความเคารพและตอบแทนบุญคุณ เรียกกันว่าประเพณี “เลี้ยงผีขุนน้ำ” อ่านต่อ...

ถ้าศึกษาแหล่งเรียนรู้ภายในอำเภอเมืองลำพูนที่คัดสรรมาให้เรียนรู้แล้ว สามารถร่วมทำแบบทดสอบ เพื่อรับเกียรติบัตรได้ที่ >>ลิ้งค์นี้<< แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำแบบทดสอบให้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 จึงจะได้รับเกียรติบัตรผ่านอีเมล์ทันที