ผ้าไหมยกดอกลำพูน

รูปแบบการทอผ้ายกลำพูน

รูปแบบการทอผ้ายกลำพูนนั้นมีรูปแบบการทอโดยใช้กี่พื้นเมือง (กี่กระทบหรือกี่มือ) ซึ่งมีทั้งกี่พื้นเมืองโบราณและกี่พื้นเมืองประยุกต์ ดังนี้

1. การทอผ้าด้วยกี่พื้นเมืองโบราณ การทอผ้ายกลำพูนด้วยกี่ทอผ้าพื้นเมืองโบราณนั้นเรียกอีกว่าการทอผ้าโดยการเกล้าจุก คือ การทอผ้าโดยไม่มีหัวม้วนเข้ามาช่วยในการดึงเส้นไหมยืน ผู้ที่ใช้กี่ทอชนิดนี้ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่ทอผ้ามาแต่โบราณ ซึ่งจะมีความชำนาญในการทอและการแก้ปัญหาการพันกันของเส้นไหมหรือแม้แต่การต่อเส้นไหมที่ขาด ตลอดจนการร้อยไหมให้ถูกตะกอ(เขา) การทอผ้ายกด้วยกี่พื้นเมืองโบราณนั้นมีข้อจำกัดคือ หากผู้ทอไม่มีความชำนาญจะทำให้เนื้อผ้าหลวม ไม่เรียบเนียน และได้ลวดลายไม่สวยเนื่องจากเส้นไหมหย่อน

2. การทอผ้าด้วยกี่พื้นเมืองประยุกต์ การทอผ้ายกลำพูนในปัจจุบันนิยมใช้กี่ทอที่ประยุกต์จากกี่พื้นเมืองโบราณ โดยการเพิ่มอุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาประกอบในตัวกี่ เพื่อเพิ่มความสะดวก และแก้ปัญหาการหย่อนของเส้นไหมยืน รวมถึงป้องกันการพันกันของเส้นไหม อุปกรณ์ที่ประกอบเพิ่มได้แก่ หัวม้วนไหมเส้นยืน ไม้ค้ำดันหัวม้วน ฟืม(ฟันหวี) คานรับตะกอดอก ไม้ม้วนผ้าทอ ดังนั้นเมื่อประกอบอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปจึงทำให้ผู้ทอสะดวกมากขึ้น และทำให้เกิดการผิดพลาดน้อยลงในการต่อเส้นไหมที่ขาด เนื่องจากเห็นเส้นไหมเรียงเส้นชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังได้ผ้าทอที่เรียบแน่นเมื่อลงแรงกระทบด้วยจังหวะที่พอดี จึงทำให้การทอผ้ามีมาตรฐานมากขึ้น

ปัจจุบันนาย ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญการทอผ้ายกลำพูนและได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดลำพูน ได้ทดลองพัฒนากี่ทอผ้าพื้นเมืองประยุกต์สำหรับทอผ้ายกเพิ่มเติม โดยนำเทคนิคการทอผ้าจากภาคอีสานมาผสมผสานกับการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมืองของลำพูน โดยการเพิ่มตะกอโยงเข้าไปผสมผสานกับการใช้ตะกอดอก เพื่อให้ได้ลายที่แปลกใหม่และสะดวกในการทอ ลดการรับน้ำหนักของตะกอดอกบนผืนผ้า ส่วนการทอนั้นก็ใช้วิธีการพุ่งกระสวยและการกระทบไม้เหมือนกับการทอด้วยกี่พื้นเมืองลำพูน

ผู้ให้ข้อมูล

นางอำไพ เชษฐธง และนายปรีชาเกียรติ บุญยเกียรติ

ผู้เรียบเรียง

ศูนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประชาสัมพันธ์ กรมหม่อนไหม