กู่พระแก้ว

กู่พระแก้ว

ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านล้านนาจะเรียกซากเจดีย์โบราณที่ปรักหักพังหรือกองเศษอิฐเก่าแก่ที่ระบุประเภทโบราณสถานไม่ได้ว่า “กู่” และเนื่องจากที่เนินดินวัดร้างแห่งนี้เคยมีคนค้นพบพระพุทธรูปหินควอทซ์สีขาวใสชื่อพระแก้ว ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดพระแก้ว” ตั้งอยู่ในกำแพงเวียงลอทางทิศตะวันออกของวัดพระเจ้าเข้ากาด อยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำอิง เป็นกลุ่มโบราณสถานวางตัวในแนวทางทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก เจดีย์ประธานซึ่งคงเหลือเพียงส่วนฐานเขียง 2– 3 ชั้น ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหารขนาดใหญ่พื้นปูด้วยอิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ 1 ชั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเป็นโครงสร้างหลังคาแบบม้าต่างไหมมุงด้วยกระเบื้องดินขอ ด้านหลังวิหารมีฐานชุกซี สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่เต็มพื้นที่ ติดแนวผนังด้านตะวันตกมีแท่นสงฆ์ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์คงเหลือแต่ฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกันสองชั้นรองรับฐานเขียงในผนัง 4 เหลี่ยมย่อเก็จ เหนือขึ้นไปเป็นซากปรักหักพัง ส่วนอุโบสถและเจดีย์รายนั้นคงเหลือเพียงส่วนฐานเตี้ยๆ กำแพงแก้วและซุ้มประตูโขง จากหลักฐานซากอาคารที่พบทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าในอดีตนั้น วัดพระแก้วนี้เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ และน่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากวัดหนึ่งของเวียงลอ แต่ในอดีตโบราณสถานแห่งนี้ถูกขุดทำลายอย่างมาก จึงทำให้หลักฐานทางสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ถูกทำลายไป โบราณวัตถุสำคัญที่พบจากการขุดแต่งคือชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย คือ พระพิมพ์ยอดขุนพลเมืองพะเยา