กู่เกือกม้า

กู่เกือกม้า

ชื่อเรียกตามการพบแผ่นเหล็กโค้งรองกีบเท้าม้า หรือเกือกม้าบริเวณโบราณสถานซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งนา ห่างจากวัดสารภีไปทางทิศเหนือ โบราณสถานสำคัญของวัดคือวิหารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานวิหารมีรูปแบบเป็นฐานเขียงเตี้ยๆ รองรับด้วยฐานบัวคว่ำ ท้องไม้และบัวหงาย ขึ้นรองรับผนังซึ่งพบหลักฐานเพียงเล็กน้อย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผนังเตี้ยๆ พื้นวิหารปูด้วยอิฐ ฐานเสาเป็นหินทราย ท้ายวิหารมีแทนชุกชีซึ่งก่อเต็มพื้นที่และพบหลักฐานการซ่อมสร้างหลายครั้ง หน้าแท่นชุกชีมีร่องรอยแท่นบูชาขนาดเล็กตั้งอยู่ ส่วนโบราณวัตถุสำคัญที่พบจากการขุดแต่งคือชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์ปกโพธิ์ซึ่งพบติดอยู่ใต้แนวอิฐล้มด้านหลังวิหารจำนวนมาก จากหลักฐานสถาปัตยกรรมที่พบสันนิษฐานว่าวิหารหลังนี้น่าจะเป็นวิหารโถง มีผนังเต็มพื้นที่เฉพาะด้านหลัง ส่วนด้านข้างและด้านหน้านั้นน่าจะเป็นผนังเตี้ยๆ โบราณวัตถุอื่นที่พบคือชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาล้านนา และเครื่องถ้วยจีน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ซึ่งของโบราณสถานแห่งก็มีที่มาคล้ายๆกับโบราณสถานส่วนมากของเวียงลอ คือเป็นชื่อที่ชาวบ้านตั้งขึ้นใหม่แทนชื่อเดิมซึ่งไม่พบหลักฐาน ซึ่งชื่อใหม่นี้อาจตั้งขึ้นตามรูปทรงของเนินโบราณสถานเช่นลอมธาตุ ตั้งตามชื่อต้นไม้ สภาพพื้นที่ หรือโบราณวัตถุที่พบใกล้เคียงเช่นกู่ขะจาว กู่มะม่วงแก้มแดง สารภี หนองผำ ฯลฯ เป็นต้น เช่นเดียวกับชื่อกู่เกือกม้านี้มีที่มาจากการเคยมีผู้พบเกือกม้าในบริเวณกู่นี้