กู่บวกกู่

กู่บวกกู่

ตั้งอยู่ถัดจากวัดหนองผำไปทางทิศตะวันตกใกล้แนวกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ ในเขตตำบลหงส์หิน แต่เดิมบริเวณด้านเหนือของวัดมีหนองน้ำที่เต็มไปด้วยสมุนไพร ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บวกยาแก้” และเรียกวัดนี้ว่า “วัดบวกกู่” ต่อมาขจึงเพี้ยนเป็น “กู่บวกกู่” โบราณสถานสำคัญคือ ฐานเจดีย์ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส วิหาร อุโบสถ และกำแพงแก้วล้อมรอบ โบราณสถานกลุ่มนี้ประกอบด้วยเจดีย์ซึ่งคงเหลือเพียงฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซ้อนเหลี่ยมกัน 2-3 ชั้น มีแท่นบูชาขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ ถัดจากแท่นบูชาเป็นวิหารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก มีบันไดทางขึ้น 3 ทาง ปูพื้นด้วยอิฐสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่และอิฐสี่เหลี่ยมผืนผ้าเต็มพื้น อิฐบางก้อนมีจารึกอักษรธรรมล้านนาหรือไม่ก็วาดภาพลายเส้นคนและสัตว์ พบภาพสำคัญเป็นคนชนชั้นปกครองแต่งเครื่องทรงสวมมงกุฎบนหลังช้าง เป็นภาพวาดที่สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตและบ้านเมืองที่สงบสุขในช่วงเวลานั้น

มีหลักฐานว่าวิหารหลังนี้น่าจะบูรณะใหม่ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง พบชิ้นส่วนเศียรพระพุทธรูปดินเผาทรงเครื่องซึ่งคล้ายคลึงกับศิลปะปูนปั้นฝาผนังวิหารวัดเจ็ดยอด เมืองเชียงใหม่ที่สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ดังนั้นการบูรณะวิหารครั้งที่ 2 น่าจะอยู่ช่วงหลังการสร้างวิหารวัดเจ็ดยอดเล็กน้อย

อุโบสถตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก สภาพปรักหักพัง พบร่องรอยของอิฐพื้นปูนและฐานชุกซีขนาดเล็กอยู่ติดผนังด้านท้ายอาคาร ผลการขุดแต่งพบว่ามีการก่อสร้างและบูรณะ 2 ครั้ง เช่นกัน โดยได้ขยายอาคารออกไปด้านทิศเหนือ ทำให้พื้นอาคารในยุคนี้ปิดทับใบเสมาของอุโบสถยุคที่ 1 ไว้ด้านใน