กู่หนองผำ

กู่หนองผำ

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดศรีชุม ใกล้กันมีหนองน้ำขนาดใหญ่เรียกว่าหนองผำ จึงเป็นที่มาของชื่อวัด พบอาคาร 3 หลัง หลังแรก ซึ่งเป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก ภายในอาคารสามารถแบ่งพื้นที่ใช้งานออกได้ 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 คือส่วนฐานซึ่งตั้งรองรับตัวอาคารมีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งทางด้านตะวันออกและด้านเหนือ (ลักษณะคล้ายระเบียงในบ้านยุคปัจจุบัน) มีบันไดทางขึ้นอยู่ในแนวฐานอาคารด้านเหนือค่อนไปทางตะวันออก และในแนวฐานอาคารด้านตะวันตก บนฐานอาคารด้านทิศใต้มีอาคารขนาดเล็กมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีร่องรอยการก่อซ่อมแซมไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง บนอาคารส่วนนี้ไม่พบร่องรอยอิฐปูพื้นและฐานชุกชี จากรูปแบบแผนผังและหลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่พบ สันนิษฐานว่าอาคารนี้น่าจะเป็นที่พักหรือกุฏิสงฆ์มากกว่าที่จะเป็นอาคารที่ใช้ในศาสนพิธี นอกจากนี้คำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่าเคยมีผู้ลักลอบขุดบริเวณอาคารหลังนี้พบว่ามีการก่ออิฐเป็นกรอบเรียงตามแนวยาวคล้ายช่องเล็กๆหลายช่อง ภายในพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์จำนวนมาก

อาคารหลังที่ 2 นั้น ตั้งอยู่ทางตะวันออก ลักษณะเป็นส่วนฐานของอาคารหลังเล็กซึ่งอาจะเป็นแท่นบูชาหรือกู่

อาคารหลังที่ 3 พบเพียงส่วนฐานของอาคารเตี้ยๆ ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารเอนกประสงค์หรือศาลา

กำหนดอายุจากรูปแบบจารึกบนก้อนอิฐ และศิลปกรรมของพระพุทธรูปที่พบโบราณสถานแห่งนี้น่าจะมีอายุการใช้งานอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23