วัดพระเจ้าเข้ากาด

วัดพระเจ้าเข้ากาด

วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้แนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียงลอแผนผังของวัดวางตัว ในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก โบราณสถานสำคัญที่พบจากการขุดแต่งคือวิหารก่ออิฐในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีรูปแบบฐานเป็นเขียงนกสูง มีแท่นชุกชีขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปในผังย่อเก็จก่ออยู่เต็มแนวผนังด้านหลัง ติดผนังวิหารด้านทิศใต้หรือทางด้านขวามือของแท่นชุกชี มีแท่นสงฆ์ซึ่งเป็นที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์ขณะประกอบพิธีทางศาสนาตั้งอยู่ ส่วนอุโบสถมีขนาดไม่ใหญ่นัก ตั้งอยู่ด้านเหนือของวิหาร พบเพียงส่วนฐานในสภาพปรักหักพัง มีร่องรอยของเสาเสมาปักอยู่เป็นรอบๆ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พบว่า ชื่อ “วัดพระเจ้าเข้ากาด” นี้ไม่ใช่ชื่อเดิมของวัด แต่มีที่มาจากการขุดพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวนมากที่วัดนี้ เปรียบเสมือนเป็นตลาดพระ หรือที่ชุมนุมของพระ ชาวบ้านในท้องถิ่นจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระเจ้าเข้ากาด” มีความหมายว่าเป็นที่พบพระพุทธรูปจำนวนมาก นอกจากนั้นการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ใน พ.ศ.2547 ได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวนมากกว่าที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานแห่งอื่นๆ ในปีเดียวกัน ซึ่งการพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปจำนวนมากในวัดนี้นั้น อาจเป็นได้ในอดีตวัดนี้มีความสำคัญต่อชุมชน ชาวเวียงลอจึงนิยมสร้างพระมาถวายไว้ หรืออาจเป็นได้ว่าเป็นการเก็บรวบรวมมากจากวัดอื่นๆ ในเวียงลอหลังจากที่วัดเหล่านั้นถูกทิ้งร้างลง