กู่ลอมธาตุ

กู่ลอมธาตุ

คลองชลประทานที่ตัดผ่านทำให้ส่วนหนึ่งของโบราณสถานนี้หายไปพบเพียงฐานองค์เจดีย์ฐานปัทม์ ลักษณะเป็นฐานใบบัว 8 เหลี่ยม ฐานเขียงซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ ตั้งอยู่ในทุ่งนา นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากวัดศรีปิงเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร พบเพียงชุดฐานขององค์เจดีย์ซึ่งมีลักษณะเป็นฐานปัทม์ หรือฐานบัวในผัง 8 เหลี่ยม ซึ่งมีรายละเอียดคือฐานเขียงซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้น รองรับฐานบัวคว่ำเหนือขึ้นไปซึ่งน่าจะเป็นส่วนของท้องไม้ประดับด้วยอิฐก่อแนวทะแยงแบบฟันปลารองรับอิฐก่อแบบฐานเขียงหรือหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซึ่งเหลือเพียง 1-2 ชั้น และชิ้นส่วนของปลียอดเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมที่ตกลงมาอยู่ด้านข้าง จากลักษณะที่ปรากฏพบว่ารูปแบบของเจดีย์มีความคล้ายคลึงกับฐานเจดีย์ที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา โบราณวัตถุสำคัญที่พบจากการขุดแต่งคือชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาสมัยหริภูญไทบ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วนจากแหล่งเตาล้านนา และแหล่งเตาในประเทศจีนอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าชื่อของ “กู่ลอมธาตุ” ไม่ใช่ชื่อเดิมของโบราณสถานแห่งนี้ แต่มีการเรียกสืบต่อๆ กันมาหลายชั่วคน ส่วนที่มาของชื่อนั้นไม่ชัดเจน สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากที่ตั้งของโบราณสถานอยู่กลางทุ่งนา ประกอบกับรูปทรงของเนินดินที่ปกคลุมโบราณสถานที่มีรูปทรงครึ่งวงกลมคล้ายกองฟาง หรือ “ลอมฟาง” แต่พบหลักฐานเศษอิฐกระจัดกระจายซึ่งแสดงลักษณะของความเป็น “กู่เก่า” หรือ “ธาตุเก่า” หรือ “เจดีย์เก่า” จึงเรียกว่า “ลอมธาตุ” ซึ่งมีความหมายถึงเนินดินรูปครี่งวงกลมซึ่งเป็นที่ตั้งของเจดีย์เก่า