การตอนกิ่ง

การตอนกิ่ง คือ การทำให้ส่วนของพืชเกิดรากในขณะที่ยังติดอยู่กับต้นแม่ คือ ทำให้เกิดรากพิเศษ (adventitious roots) เมื่อกิ่งออกรากดีแล้วก็ตัดไปปลูก ต้นพืชที่ปลูกและตั้งตัวได้ดีแล้ว จะกลายเป็นต้นพืชต้นใหม่ต่อไป สำหรับการตอนกิ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์ไม้ผลวิธีการหนึ่งที่นิยมทำกันมากเพราะสามารถกระทำได้โดยง่าย สะดวก และใช้อุปกรณ์น้อย

การออกรากของกิ่งตอน จะขึ้นอยู่กับความชื้น การถ่ายเทอากาศ และระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่ถ้าปล่อยให้ดินหรือวัสดุหุ้มกิ่งแห้งโดยมิได้ดูแล ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดรากได้เช่นกัน ดังนั้น ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดในการตอนกิ่ง ควรเป็นฤดูฝน

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตอนกิ่ง

1) การทำให้เกิดการสะสมอาหารและสารบางชนิดที่จำเป็นต่อการงอกราก ในบริเวณที่ทำการตอน โดยวิธีการทำให้กิ่งเกิดแผล เพื่อตัดท่อลำเลียงอาหารของพืชในส่วนอื่นๆ จึงเกิดการสะสมอาหารและสารบางอย่างขึ้นเหนือแผลที่ทำการตอน

2) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการงอกรากของพืช เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และแสงสว่าง

3) การดูแลรักษา ควบคุมความชื้นหรือการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย อันเกิดจากศัตรูอื่นๆ เช่น มด แมลง สัตว์เลี้ยง เป็นต้น

อุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่ง

1) มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์ (Cutter) หรือมีดติดตาต่อกิ่ง

2) ถุงพลาสติกขนาด 2x4 นิ้ว หรือ 3x5 นิ้ว

3) วัสดุหุ้มกิ่งตอน เช่น กาบมะพร้าว ถ่านแกลบหรือขุยมะพร้าว

4) เชือกมัดวัสดุหุ้มกิ่งตอน เช่น เชือกฟาง

5) ฮอร์โมนเร่งราก

รูปแบบการตอนกิ่ง มีหลายวิธี ที่นิยมกันได้แก่

1) การตอนกิ่งในอากาศ (Air Layering)

2) การตอนกิ่งแบบฝังยอด (Tip Layering)

3) การตอนกิ่งแบบฝังกิ่งให้ยอดโผล่พ้นดิน (Simple Layering)

4) การตอนกิ่งแบบงูเลื้อย (Compound Layering)

5) การตอนกิ่งแบบขุดร่อง (Trench Layering)

6) การตอนกิ่งแบบสุมโคน (Mound or Stool Layering)

การตอนกิ่งในอากาศ (Air Layering)

การตอนกิ่งในอากาศ โดยเฉพาะแบบควั่นกิ่ง เหมาะสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กุหลาบ โมก โกสน แสงจันทร์ เล็บครุฑ ฯลฯ และไม้ผลบางชนิด เช่น มะม่วง ลำไย มังคุด มะเฟือง ฯลฯ เป็นต้น มีขั้นตอน ดังนี้

(1) เลือกกิ่งที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี หรืออยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งจะออกรากได้ดีกว่ากิ่งที่มีอายุมาก และควรเป็นกิ่งกระโดงหรือกิ่งน้ำค้าง ที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง

(2) ควั่นเปลือกกิ่ง ความยาวของรอยแผล ประมาณเส้นรอบวงของกิ่ง ทั้งด้านบนและล่างของกิ่ง แล้วลอกเอาเปลือกออกและขูดเยื่อเจริญที่เป็นเมือกลื่นๆ รอบกิ่งออกให้หมด

(3) นำตุ้มตอน (ขุยมะพร้าวเก่าที่แช่น้ำจนอิ่มตัว แล้วบีบน้ำออกพอหมาดๆ อัดลงในถุงพลาสติกแล้วผูกปากถุงให้แน่น) มาผ่าตามความยาวแล้วนำไปหุ้มรอยแผลของกิ่งตอน มัดด้วยเชือกทั้งบนและล่างรอยแผลที่ควั่น

(4) เมื่อกิ่งตอนงอกรากซึ่งจะเกิดตรงบริเวณรอยควั่นด้านบน และรากเริ่มแก่เป็นสีเหลือง หรือมีสีน้ำตาล ปลายรากมีสีขาวและมีจำนวนรากมากพอ จึงตัดกิ่งตอนไปชำหรือปลูกได้

(5) ตัดกิ่งตอนไปชำในภาชนะ ในกระถางหรือถุงพลาสติก เพื่อรอการปลูกต่อไป

https://www.youtube.com/watch?v=VdCBhMuoqhU

ขอบคุณเนื้อหา : https://sites.google.com/site/dremthepositioncom/kar-txn-king