3.2 เรื่อง งานตัดเย็บ

จุดประสงค์การเรียนรู้

1. ผู้เรียนสามารถออกแบบชิ้นงานกระเป๋าผ้าได้ถูกต้องและอย่างสร้างสรรค์ (K)

2. ผู้เรียนปฏิบัติการเย็บชิ้นงาน(กระเป๋าผ้า)อย่างสร้างสรรค์และใช้งานได้จริง (P)

3. ผู้เรียนเห็นคุณค่าในการตัดเย็บชิ้นงานด้วยตนเอง (A)

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้า

อุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้า

1. สายวัด สายวัดที่ดีควรทำด้วยผ้าอาบน้ำยาเคมี เพื่อป้องกันการหดหรือยืด มีโลหะหุ้มที่ปลายทั้ง 2 ข้าง มีตัวเลขบอกความยาวเป็นเซนติเมตรและนิ้ว

2. กระดาษสร้างแบบ ใช้สร้างแบบก่อนตัดผ้า มีทั้งสีขาวและสีน้ำตาล

3. กรรไกรตัดผ้า มี 2 ชนิด คือ ชนิดด้ามโค้งและด้ามตรง ซึ่งกรรไกรด้ามโค้งจะตัดได้เที่ยงตรงกว่า เพราะใบกรรไกรอยู่ขนานกับผ้าขณะตัด ไม่ควรทำกรรไกรตกขณะใช้เพราะทำให้เสียคม หมั่นลับกรรไกรให้คมเสมอ และหยอดน้ำมันจักรเป็นครั้งคราวเพื่อป้องกันไม่ให้กรรไกรฝืด

4. ชอล์กเขียนผ้า ใช้ทำเครื่องหมายบนผ้ามีทั้งแบบแท่งเหมือนดินสอและแบบแผ่นรูสามเหลี่ยม

5. กระดาษกดรอย เป็นกระดาษสีมีหลายสี อาบด้วยเทียนไข ใช้กับลูกกลิ้งเพื่อกดรอย เผื่อเย็บเกล็ดหรือตะเข็บลงบนผ้า ควรเลือกให้เหมาะกับสีของผ้า

6. ลูกกลิ้ง ใช้คู่กับกระดาษกดรอย มี 2 ชนิด คือ ชนิดลูกล้อฟันเลื่อย และชนิดปลายแหลมเหมือนเข็ม โดยทั่วไปนิยมใช้ชนิดลูกล้อฟันเลื่อยมากกว่า เพราะลูกกลิ้งติดสีได้ดีและรอยมีความถี่มากกว่า

7. เข็มเย็บผ้า ควรเลือกให้เหมาะสมกับผ้า เช่น เข็มเบอร์ 10–11 มีขนาดเล็กใช้กับผ้าเนื้อบางเบา เข็มเบอร์ 9 มีขนาดกลางใช้กับผ้าเนื้อหนาปานกลาง และเข็มเบอร์ 8 มีขนาดใหญ่ใช้กับผ้าเนื้อหนา

8. เข็มจักร ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของด้ายและความหนาของเนื้อผ้า เช่น เข็มจักรเบอร์ 9 ใช้กับผ้าแพร ผ้าชีฟอง ผ้าไหม และผ้าป่าน เข็มจักรเบอร์ 11 ใช้กับผ้าสักหลาดและผ้าฝ้ายผสมไนลอน เข็มจักรเบอร์ 13 ใช้กับผ้าลินิน ผ้าเสิร์จ และผ้าฝ้าย เข็มจักรเบอร์ 14 ใช้กับผ้าขนสัตว์ ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้าขนสัตว์ผสมสำลี เข็มจักรเบอร์ 16 ใช้กับผ้าใบ ผ้ายีน และหนัง

9. เข็มหมุด ใช้กลัดเพื่อป้องกันการเคลื่อนเวลากดรอยเผื่อเย็บ ใช้ทำเครื่องหมายลงบนผ้า หรือเนาผ้าให้ติดกัน เมื่อจะตัดผ้าตามแบบ

10. ด้าย ใช้เย็บเพื่อประกอบชิ้นส่วนของผ้าให้ติดกัน ควรเลือกให้เหมาะสมกับสีผ้า ความหนาของผ้า และขนาดของเข็ม ด้ายที่นิยมใช้กับผ้าทุกชนิด คือ เบอร์ 60

11. ที่เลาะด้าย ใช้เลาะด้ายส่วนที่ไม่ต้องการทิ้ง ส่วนปลายมีลักษณะแหลมคมและมีง่าม มีปลอกสวมเพื่อความปลอดภัย

12. หมอนเข็ม เป็นอุปกรณ์พักเข็มชนิดต่าง ๆ หลังใช้งานหรือรอการใช้งาน หมอนเข็มที่ดีควรทำจากผ้ากำมะหยี่หรือผ้าขนสัตว์ ไส้ในควรบรรจุด้วยเส้นผม ขนสัตว์ หรือขี้เลื่อย เพื่อป้องกันสนิม

การเลือกผ้าเพื่อใช้ในการตัดเย็บ

1. ควรเลือกผ้าที่ทอเนื้อละเอียด ไม่บาง มีน้ำหนักเพื่อให้จับได้เต็มที่ขณะเย็บ

2. ควรเป็นผ้าสีพื้น ไม่ควรใช้ผ้าที่ต้องต่อลายให้ตรงกัน

3. ควรเป็นผ้าที่ไม่ยับง่าย เพราะจำทำให้เสียเวลาในการรีด

4. ควรเป็นผ้าที่สีไม่ตก และหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าสีเข้ม เช่น สีน้ำเงิน น้ำตาล

5. ควรเป็นผ้าที่มีความคงทน เส้นด้ายทอไม่แตกง่าย และไม่ยืดหรือหดเมื่อผ่านการซัก

6. ควรเป็นผ้าที่สวมใส่แล้วสบายตัว ไม่ระคายเคืองผิว

7. ควรเลือกผ้าตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ เช่น ผ้าที่ใช้ตัดชุดนอนควรเป็นผ้าเนื้อนิ่ม เป็นต้น

8. ไม่ควรเลือกใช้ผ้าราคาแพง เพราะหากตัดเย็บไม่สำเร็จจะสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

9. พยายามเลี่ยงผ้าที่มีเชิงริมผ้าทั้ง 2 ด้าน เพราะจะทำให้ตัดและเย็บประกอบเป็นตัวเสื้อได้ยาก

สำหรับผ้าที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. ผ้าฝ้าย มีคุณสมบัติซึมซับน้ำและระบายความร้อนได้ดี ทนความร้อนสูง ทนต่อการซักรีด ราคาไม่แพงและตัดเย็บง่าย เหมาะจะนำมาตัดชุดนอน ชุดลำลอง กางเกง กระโปรง ชุดเด็ก และผ้าอ้อม

2. ผ้าลินิน มีคุณสมบัติซึมซับน้ำได้ดีและมีความเหนียวมาก สวมใส่สบาย เหมาะที่จะนำมาตัดเย็บเป็นของใช้ในครัว แต่ไม่ควรนำมาฝึกตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะยับง่าย รีดยาก และราคาแพง

3. ผ้าไหม เนื้อนุ่ม เบา ขึ้นเงาสวยงาม นิยมนำมาตัดชุดสำหรับงานพิธี งานกลางคืน หรือโอกาสพิเศษ ไม่ควรนำมาฝึกตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะซักรีดยาก ราคาแพง

4. ผ้าขนสัตว์ มีความยืดหยุ่นดีเยี่ยม ไม่ยับ และเก็บความร้อนได้ดี แต่มีราคาแพง นิยมนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าและเครื่องกันหนาว

5. ผ้าเส้นใยสังเคราะห์ ถ้าร้อยเปอร์เซ็นต์จะร้อน ไม่ซับเหงื่อ และสวมใส่ไม่สบาย แต่ชนิดที่ผสมเส้นใยธรรมชาติจะไม่ยับ ซักรีดง่าย และสวมใส่สบายกว่า นอกจากนี้ยังมีความเหนียวและจับจีบได้สวยงาม ผ้าเส้นใยสังเคราะห์มีชื่อเรียกทางการค้าต่าง ๆ กัน เช่น วิสคอสเรยอน ไลครา เคดอน แอนทรอน เดครอน ไวครอน ออร์ลอน ไวคารา เป็นต้น

กิจกรรมฝึกทักษะการเย็บกระเป๋าผ้า "กระเป๋าผ้าทำเองกับมือ"

ดาวน์โหลดชุดกิจกรรม การเย็บผ้าด้วยมือ ทำกระเป๋าผ้าได้ที่นี่