1.2 ลักษณะการขยายพันธ์ุพืช

การขยายพันธุ์พืช โดยอาศัยเพศ

การเพาะเมล็ด

วิธีการขยายพันธุ์พืช

1. การขยายพันธ์ุพืชโดยอาศัยเพศ ได้แก่ การเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ด

การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=5&chap=6&page=t5-6-infodetail02.html


การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด โดยปกติมักจะทำไปพร้อมๆ กับการปลูกพืชไปในตัว หรือพูดว่าการปลูกพืชโดยใช้เมล็ดก็คือ การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนั่นเอง เช่น การปลูกข้าว ซึ่งเมล็ดข้าว ๑ เมล็ด เจริญเป็นต้นข้าวได้ ๑ ต้น และต้นข้าว ที่ได้เมื่อโตขึ้น ก็จะแตกกอเป็นหลายต้น แต่ละต้นก็จะออกรวงเกิดเป็นเมล็ดข้าวได้หลายเมล็ด ซึ่งเมื่อนำเมล็ดข้าวเหล่านี้ไปปลูก ก็จะเจริญเป็นต้นข้าวได้หลายต้น ในทำนองเดียวกัน การปลูกข้าวโพด ถั่วต่างๆ ฝ้าย ละหุ่ง ฯลฯ ก็เป็นไปแบบเดียวกันกับการปลูกข้าว จึงเห็นได้ว่า การปลูกพืชจากเมล็ดก็คือ การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนั่นเอง


ในการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนี้ ได้นำไปใช้ในงานด้านการเกษตรหลายด้านด้วยกัน ซึ่งเราพอจะแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้


๑. ใช้ในด้านการปลูกพืช และธัญพืช


เช่น การปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ ละหุ่ง ฝ้าย งา ป่าน ปอ เป็นต้น เนื่องจากการปลูกพืชไร่ และธัญพืชต้องทำในเนื้อที่มากๆ และต้องใช้ต้นพืชมาก ฉะนั้นการขยายพันธุ์ที่สะดวกก็คือ ขยายจากเมล็ด การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการปลูกพืชประเภทนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพืชอายุสั้น ๓-๔ เดือนเป็นส่วนใหญ่


๒. ใช้ในด้านการปลูกสวนป่า


การปลูกสร้างสวนป่า ต้องปลูกเป็นจำนวนมาก และต้องการต้นพืชที่มีรากแก้ว เพราะมีความแข็งแรงกว่าขยายได้มาก และรวดเร็ว อีกทั้งสะดวกที่จะถอนย้ายไปปลูกในที่อื่น ดังเช่น การปลูกสร้างสวนสัก ที่สถานีวนกรรม ของกรมป่าไม้ทำอยู่ในขณะนี้ โดยที่เมล็ดของพืชสวนป่า มักจะเก็บมาจากต้นที่เจริญอยู่ในกลุ่มตามธรรมชาติ ในท้องที่ที่ได้คัดเลือกไว้แล้ว ฉะนั้น โอกาสการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น ถือได้ว่ามีน้อยมาก และมักจะไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในการปลูกสร้างสวนป่านั้น จะปลูกต้นพืชให้ชิดกัน เพื่อให้ทรงต้นตรง และชะลูด ต้นพืชจะแข่งกันเจริญไปในตัว ต้นใดที่มีความแข็งแรงน้อยกว่า ก็จะถูกเบียดบังจากต้นที่โตกว่าจนไม่เจริญหรือตายไปในที่สุด ส่วนต้นที่แข็งแรงก็จะเจริญเติบโตต่อไป ฉะนั้น จึงเป็นการคัดเลือกต้นพืชไปในตัวด้วย


๓. ใช้ในด้านการขยายพันธุ์พืชโดยวิธีติดตาต่อกิ่ง


โดยเฉพาะการขยายพันธุ์ไม้ยืนต้น ซึ่งต้องการต้นตอที่มีระบบรากที่หยั่งลึก ซึ่งสามารถจะทนลมพายุ และทนแล้ง ได้ดีกว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น เช่น การตอนกิ่ง หรือการตัดชำกิ่ง เป็นต้น ฉะนั้น ต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์จากเมล็ดจึงเหมาะสม ที่จะใช้เป็นต้นตอสำหรับนำไปติดตา และต่อกิ่ง แต่เนื่องจากการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ต้นพืชที่ได้อาจกลายพันธุ์ได้ จึงต้องคัดต้นที่มีลักษณะไม่ตรงตามพันธุ์ที่ต้องการออก เพื่อให้ได้ต้นตอที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์มากที่สุดไว้ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป



๔. ใช้ในด้านการปลูกผักและไม้ดอกล้มลุก


โดยปกติพืชอายุสั้นจำเป็นต้องใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่เจริญได้เร็ว และก็มีราคาถูกด้วย ในกรณีเช่นนี้ การใช้เมล็ดปลูกหรือขยายพันธุ์ จึงเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด และทำได้สะดวกรวดเร็ว ดังนั้นการใช้เมล็ดขยายพันธุ์ หรือปลูกพืชเหล่านี้ จึงเป็นวิธีเดียว ที่จะทำได้ เช่น การปลูกผักบุ้ง คะน้า มะเขือเทศแอสเทอร์ และบานชื่น เป็นต้น


แปลงผักกาดที่ปลูกโดยการใช้เมล็ด

๕. ใช้ในงานด้านการผสมพันธุ์พืช


เนื่องจากความต้องการในเรื่องอาหาร และของใช้ที่เป็นปัจจัยในการครองชีพของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ฉะนั้น พันธุ์พืชที่จะนำมากินมาใช้ก็ต้องมีการปรับปรุงตามไปด้วย การปรับปรุงพันธุ์พืชที่นำมากินมาใช้ให้เหมาะกับความต้องการนี้ ก็ต้องอาศัยการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากการเพาะเมล็ด โดยการผสมพันธุ์ต้นพืชที่มีลักษณะตามความต้องการ แล้วเอาเมล็ดมาเพาะ จากนั้นจึงคัดเลือกต้นพืชที่มีลักษณะดีเด่นตามความต้องการไว้ใช้ในการปลูก หรือขยายพันธุ์ต่อๆ ไป



เมล็ดพันธุ์พืชจะมี 3 ลักษณะ ที่จำแนกได้ ดังนี้

•1.แบบเปลือกหุ้มเมล็ด ซึ่งจะมีเปลือกหุ้มเพื่อคอยป้องกันโครงสร้างภายในไม่ให้โดนแมลงเจาะ หรือมีความเสียหายเกิดขึ้น เพราะถ้าส่วนภายในได้รับความเสียหายเนื้อเยื่อก็จะได้รับความเสียหายไปด้วย จะทำให้เพาะไม่ได้ หรือถ้าเพาะได้ก็จะได้ต้นที่ไม่แข็งแรง

•2.แบบที่มีอาหารสะสมอยู่ในเมล็ดแล้ว ซึ่งแบบนี้จะมีการเก็บสะสมอาหารไว้ที่เนื้อเยื่อที่มีความแตกต่างกัน โดยอาหารจะมีการสะสมในรูปแบบแป้ง โปรตีน ฯลฯ เพื่อไว้ใช้ในการงอก และเลี้ยงต้นกล้าที่งอกใหม่ๆ ซึ่งเมล็ดพันธุ์แบบนี้จะให้ต้นกล้าที่มีความแข็งแรงและสมบูรณ์เมื่องอกออกมา

•3.แบบคัพภะ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก โดยจะมีราก ลำต้น และยอด เพื่อการงอกออกมาเป็นต้นพืชใหม่ แต่ถ้าคัพภะเมล็ดนั้นตายก็จะสามารถงอกต้นพันธุ์ขึ้นมาได้ ส่วนนี้จึงมีความสำคัญค่อนข้างมาก


ในการขยายพันธุ์พืช หรือปลูกพืชโดยใช้เมล็ด โดยทั่วไปมักจัดทำกันอยู่ ๓ แบบ คือ

1. เพาะเมล็ดในแปลงเพาะ หรือในภาชนะเพาะ

2. เพาะหรือปลูกเมล็ดในแปลงปลูกโดยตรง

3. เพาะหรือปลูกเมล็ดในภาชนะเดี่ยว

1. การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือในภาชนะเพาะ การปลูกพืชหรือเพาะเมล็ดโดยวิธีนี้ เป็นการเตรียมกล้าพืช เพื่อใช้ปลูกก่อนที่จะปลูกในแปลง หรือในกระถางถาวร โดยเพาะเมล็ดในเนื้อที่แคบๆ จนกระทั่งต้นพืชที่เพาะ หรือที่เรียกว่า "กล้า" หรือ"เบี้ย" มีขนาดโตพอจึงถอนย้ายไปปลูก วิธีปลูกพืชโดยการเพาะเมล็ดก่อนนี้ เหมาะสำหรับเมล็ดพืชที่มีราคาแพง เนื่องจากการเพาะทำในเนื้อที่ไม่มาก เมล็ดมีโอกาสสูญเสียน้อย เพราะสามารถดูแลได้ทั่วถึง วิธีการนี้มักจะใช้กับพืชสวนผัก หรือไม้ดอกล้มลุก รวมทั้งไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นที่เมล็ดมีขนาดเล็ก หรือเจริญเติบโตช้า ได้แก่ การปลูก หรือเพาะเมล็ดพืช จำพวกมะเขือเทศ กะหล่ำดอก แอสเทอร์ พิทูเนีย ฝ้ายคำ ปาล์มขวด เป็นต้น ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดนั้นอาจแบ่งออกเป็น ๒ แบบตามขนาด และความเหมาะสมในการปฏิบัติ คือ การเพาะเมล็ดในภาชนะเพาะ และการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ

2. การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ ส่วนมากเป็น การเพาะเมล็ดในฤดูกาลตามปกติ ซึ่งมีดินฟ้าอากาศอำนวย ฉะนั้นงานใดที่ต้องใช้กล้าจำนวนมากๆ จึงมักจะใช้การเพาะเมล็ดโดยวิธีนี้ ความสำเร็จของ การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะส่วนใหญ่มักจะขึ้นอยู่ กับการเลือกสภาพพื้นที่ และวิธีการเตรียมแปลง ส่วนการดูแลรักษาต้นกล้านั้น ทำได้ง่ายในฤดูนี้