จุดประสงค์

  • สร้างสูตรอย่างง่ายได้

ในการใช้ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน เราสามารถสร้างสูตรคำนวณเพื่อประมวลผลข้อมูลตัวเลข เช่น บวก ลบ คูณ หาร จนถึงการคำนวณที่ซับซ้อนได้

โครงสร้างสูตรคำนวณ

ในการคำนวณในโปรแกรมตารางทำงาน จะต้องขึ้นต้นด้วยเครื่อง = (เท่ากับ) เสมอ และตามด้วยตัวแปร หรือตัวถูกดำเนินการ โดยมีตัวดำเนินการทำหน้าที่ประมวลผลตัวแปร หรือตัวดำเนินการเพื่อให้ผลลัพธ์ สูตรคำนวณประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

1. ตัวดำเนินการ คือ เครื่องหมายที่ใช้ในการคำนวณ เช่น บวก (+) ลบ (-) คูณ (*) หาร (/)

2. ตัวถูกดำเนินการ คือ ส่วนที่นำมาคำนวณหาผลลัพธ์ แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

- ตำแหน่งของเซลข้อมูล คือ การอ้างอิงตำแหน่งเซลที่ต้องการนำข้อมูลมาคำนวณ เช่น B5

- ค่าคงที่ คือ ค่าของข้อมูลที่ต้องการใช้ในการคำนวณ เช่น ค่าตัวเลข 1000

- ฟังก์ชัน คือ ฟังก์ชันสำเร็จรูปที่ซอฟต์แวร์มีให้ใช้งาน เช่น =SUM(B1:B5)

3. ตัวควบคุมลำดับการดำเนินการ คือ เครื่องหมายวงเล็บ ( ) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดลำดับการคำนวณก่อนหลังของตัวดำเนินการ โดยตัวดำเนินการที่ลำดับความสำคัญสูงกว่าจะถูกคำนวณก่อน ส่วนตัวดำเนินการที่มีระดับความสำคัญเท่ากันจะถูกคำนวณจากซ้ายไปขวา เช่น เครื่องหมาย * และ / มีลำดับความสำคัญสูงกว่าเครื่องหมาย + และ - จึงจะถูกคำนวณก่อน แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนลำดับการคำนวณจะต้องใส่เครื่องหมายวงเล็บครอบส่วนที่ต้องการให้คำนวณก่อน

สรุป ลำดับการคำนวณในสูตร

1. ( ) ถ้ามีวงลบอยู่ที่ไหนจะทำการคำนวณในวงเล็บก่อนเสมอ

2. ^ (ยกกำลัง) ถ้าเจอ ^ จะถูกนำมาคำนวณก่อน

3. * และ / ลำดับความสำคัญเท่ากัน จะถูกคำนวณจากซ้ายไปขวา

4. + และ - ลำดับความสำคัญเท่ากัน จะถูกคำนวณจากซ้ายไปขวา


ตัวอย่างลำดับการคำนวณจากสูตรเป็น ดังนี้

=2+3*4 มีลำดับการคำนวณคือ นำ 3 คูณกับ 4 ได้ 12 แล้วนำไปบวกกับ 2 ได้ผลลัพธ์สุดท้ายเป็น 14

=(2+3)*4 มีลำดับการคำนวณคือ นำค่าที่อยู่ในวงเล็บมาคำนวณก่อน คือ 2 บวกกับ 3 ได้ผลลัพธ์คือ 5 แล้วนำไปคูณกับ 4 ได้ผลลัพธ์สุดท้ายคือ 20

=3*3^2 มีลำดับการคำนวนคือ นำ 3 ยกกำลัง 2 ได้ผลลัพธ์ 9 แล้วนำไปคูณกับ 3 ได้ผลลัพธ์สุดท้ายคือ 27

=15+5*10/5-1 มีลำดับการคำนวณคือ นำ 5 คูณกับ 10 ได้ผลลัพธ์เป็น 50 แล้วหารด้วย 5 ได้ผลลัพธ์เป็น 10 และนำไปบวกกับ 15 ได้ผลลัพธ์เป็น 25 หลังจากนั้นลบค่า 1 ออไปได้ผลลัพธ์สุดท้ายเป็น 24

=(15+5)*10/(5-1) หมายถึง นำ 15 บวกกับ 5 ในวงเล็บแรกได้ผลลัพธ์เป็น 20 แล้วนำ 5 ลบ 1 ในวงเล็บหลังได้ผลลัพธ์เป็น 4 จากนั้น นำ 20 คูณกับ 10 ได้ผลลัพธ์เป็น 200 แล้วหารด้วย 4 ได้ผลลัพธ์สุดท้ายเป็น 50

การใส่สูตรคำนวณในเซล

เราสามารถใส่สูตรในเซลโดยป้อนสูตรลงเซลเหมือนการป้อนข้อมูลทั่วๆ ไป แต่ต้องเริ่มต้นด้วยเครื่องหมายเท่ากับ (=) เสมอ แล้วตามด้วยตัวถูกดำเนินการและตัวดำเนินการ ซึ่งต้องคำนึงถึงลำดับการคำนวณด้วย โดยเมื่อจบสูตรแล้วให้คลิกที่สัญรูปเครื่องหมายถูกบนแถบสูตร หรือกดแป้น Enter

กรณีที่ตัวถูกดำเนินการเป็นการอ้างอิงตำแหน่งเซลข้อมูล เราสามารถป้อนตำแหน่งในสูตรหรือคลิกเซลที่ต้องการได้

ตัวอย่างการสร้างสูตรเพื่อคำนวณหาเงินคงเหลือของพนักงานบริษัทครูไอทีดอทคอม

1. คลิกเซลที่จะใส่สูตรเพื่อคำนวณเงินคงเหลือและป้อนเครื่องหมาย =

จากภาพ คลิกเซลที่ต้องการคำนวณค่า คือเซล F6 จากนั้นป้อนเครื่องหมาย =

2. จากตารางจะเห็นว่ามีเงินเดือนเป็นรายได้ มีค่าน้ำและค่าไฟเป็นรายจ่าย เพราะฉะนั้นคงเหลือ ก็คือการเอาค่าของเงินเดือนตั้ง คือ C6 ลบด้วยรายจ่ายคือค่าน้ำ (D6) และค่าไฟ (E6) ดังนั้นเขียนสูตรการคำนวณได้คือ =C6-D6-D6 เมื่อพิมพ์เสร็ให้กด Enter

หรือสามารถเขียนสูตรได้อีกแบบซึ่งให้ผลลัพธ์เดียวกันคือการเอาค่าของเซลของเงินเดือนตั้ง (C6) ลบด้วยผลบวกของรายจ่ายคือ ค่าน้ำ (D6) และค่าไฟ (E6) จะได้สูตรดังนี้ =C6-(D6+E6)

เมื่อได้ผลลัพธ์ในเซล F6 แล้ว การหาผลลัพธ์ของเซล F7, F8, F9 ,F10 ทำลักษณะเดียวกันกับ F6 หรือจะใช้ความสามารถของโปรแกรมในการคัดลอกสูตรจากเซล F6 ถึงเซล F10 โดยการนำเมาส์คลิกที่จุดมุมล่างของเซล F6 แล้วลากเมาส์ค้างไว้จนถึงเซล F10 จากนั้นปล่อยเมาส์ก็จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ หรือสามารถคลิกที่เซล F6 แล้วทำการคัดลอก โดยการกดปุ่ม Ctrl ค้างไว้แล้วตามด้วยปุ่ม c บนแป้นพิมพ์ จะเกิดเส้นลายๆ รอบๆ เซล F6 จากนั้นไปคลิกที่เซล F7 แล้ววางข้อมูลที่เกิดจากการคัดลอกลงที่เซล F7 โดยการกดปุ่ม Ctrl ค้างไว้แล้วกดปุ่ม v ก็จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในเซล F8-F10

แบบฝึกหัดทบทวน

- จากตารางข้อมูลแสดงรายรับ-รายจ่าย ให้นักเรียนเขียนสูตรคำนวณจำนวนเงินเหลือในแต่ละวัน