หลักและวิธีการเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้

วิธีเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้นั้น แล้วแต่ประเภทของพันธุ์ไม้ การเก็บไผ่ ปาล์ม เตย กระบองเพ็ชร และพืชที่มีใบหนาและอวบใหญ่ เช่น ศรนารายณ์ พลับพลึง เป็นต้น มีวิธีเก็บตัวอย่างพิเศษแตกต่างจากไม้ดอกทั่วๆ ไป

สำหรับไม้ดอกทั่วๆ ไป มีวิธีเก็บดังนี้

๑. พันธุ์ไม้ที่เก็บนั้นควรคำนึงว่าจะนำไปติดบนกระดาษติดตัวอย่างพันธุ์ไม้ซึ่งมีขนาดประมาณ ๓๐ ซม.x ๔๒ ซม. ดังนั้นควรพยายามเลือกเก็บต้นหรือกิ่งที่มีขนาดพอเหมาะ สำหรับไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือไม้ล้มลุกบางชนิด เก็บเป็นกิ่งที่มีดอกหรือช่อดอกติดกับใบและผล ขนาดยาวประมาณ ๓๐ ซม. หากช่อดอกหรือใบมีลักษณะยาวเกินหน้ากระดาษอัด ก็ควรหักพับให้พอดี ไม่ต้องตัดทิ้ง เพราะจะได้ทราบขนาดแท้จริง ควรเก็บใบดอก ผล และเนื้อไม้จากต้นเดียวกัน ข้อควรระวังคือ พยายามเลือกเก็บต้นหรือกิ่งที่มีลักษณะปกติ ไม่ใช่ต้นที่กำลังเหี่ยว แมลงกัด ไฟไหม้ หรือเป็นโรค

อุปกรณ์

ก. แผงอัดพันธุ์ไม้ เชือกรัดแผง และกระดาษอัดพันธุ์ไม้

ข. กรรไกรตัดกิ่งไม้

ค. ป้ายหมายเลขและเชือกผูก

ง. พลั่วมือ

จ. เทปวัดระยะ

ฉ. ถุงพลาสติก

ช. กล้องถ่ายรูป

ใบเลือกเก็บแต่ใบที่สมบูรณ์ ไม่ถูกแมลงหรือสัตว์กัดทำลาย หรือใบเป็นโรคหงิกงอ ไม่ควรเก็บใบที่เกิดตามหน่อที่แตกจากตอ หรือกิ่งที่ถูกตัดไป หรือใบของกล้าไม้ เพราะมักจะมีขนาดสัดส่วนผิดไปจากปกติควรเก็บใบที่แก่จัด และเก็บมาทั้งกิ่งไม่ใช่เด็ดมาเป็นใบๆ

ดอกถ้าเป็นไปได้ควรเก็บให้ได้ทั้งดอกตูมและดอกบานเต็มที่แล้ว และเก็บดอกหรือช่อดอกให้ติดกับใบด้วย

ผลเก็บให้ติดกับใบเช่นกัน ควรเก็บให้ได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่จัดซึ่งติดอยู่บนต้น (ถ้าเป็นผลสดหรือผลแห้งขนาดใหญ่ ดูการเก็บตัวอย่างแห้งเฉพาะส่วนและการดอง)

๒. ประเภทไม้ล้มลุกต้นเล็กๆ เช่น หญ้า จะต้องเก็บทั้งต้นพร้อมทั้งราก และควรเก็บต้นที่มีขนาดปานกลาง ทั้งนี้ควรบันทึกช่วงขนาดของต้นที่พบด้วย แต่ถ้าหากพันธุ์ไม้ที่จะเก็บมีขนาดสูงต่างกันระหว่าง ๓-๑๐ซม. ก็สามารถที่จะเก็บตัวอย่างขนาดต่างๆ กัน และติดบนกระดาษติดตัวอย่างพันธุ์ไม้แผ่นเดียวกันได้

๓. พืชบางชนิด ใบมีรูปร่างหลายแบบ ควรเลือกเก็บตัวอย่างให้ได้ครบ

๔. พยายามทำตัวอย่างที่เก็บให้สะอาด ถ้าเป็นพันธุ์ไม้ที่มีลำต้นใต้ดินและราก ต้องพยายามขุดอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ลักษณะบางอย่างผิดไปจากเดิม พยายามทำให้ดินและกรวดทรายออกให้หมด อาจทำโดยการล้างหรือเคาะกับพื้นดินหรือก้อนหินเบาๆ

๕. ตัวอย่างพันธุ์ไม้แต่ละชนิดที่เก็บ ควรเก็บให้มีปริมาณพอเพียงสำหรับความต้องการที่จะใช้โดยทั่วไปจะเก็บประมาณ ๒-๖ ชิ้น แต่ถ้าต้องการจะแลกเปลี่ยนกับพิพิธภัณฑ์พืชอื่นๆ ก็ควรที่จะเก็บมากกว่านี้แต่ละชิ้นผูกป้ายหมายเลขพันธุไม้ ชนิดหนึ่งๆ ถ้าเก็บหลายชิ้น ทุกชิ้น จะมีหมายเลขเดียวกัน พันธุ์ไม้ต่างชนิดจะมีหมายเลขต่างกัน

๖. บันทึกลักษณะต่างๆ ของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดที่เก็บลงในสมุดบันทึก บันทึกตามหัวข้อต่างๆ ดังนี้

No: หมายเลขตัวอย่าง ใส่หมายเลขให้ตรงกันกับหมายเลขบนป้ายที่ผูกพันธุ์ไม้แต่ละชนิด ถ้าชนิดเดียวกันและเก็บที่เดียวกันให้จดจำนวนชิ้นด้วย

Date: วัน เดือน ปี ที่เก็บพันธุ์ไม้ จะเป็นการช่วยให้ทราบถึงฤดูออกดอกออกผลของพันธุ์ไม้นั้นๆ

Locality: สถานที่เก็บ บันทึกจังหวัด อำเภอ ตำบล หรือถิ่นฐานอื่นๆ เช่น ภูเขา ลำห้วย เป็นต้น

Altitude: ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลของสถานที่ที่เก็บพันธุ์ไม้ ใช้เครื่อง วัดความสูง

(altimeter) หรือสอบถามได้ตามจังหวัดต่างๆ

Local name: ชื่อพื้นเมือง ชื่อที่เรียกพันธุ์ไม้ในท้องที่ที่เก็บ ควรสอบถามชื่อจากชาวบ้านแถวนั้น

Note: บันทึกลักษณะเด่นของพันธุ์ไม้ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ หรือไม่สามารถสังเกตได้จากตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้ง เช่น ลักษณะวิสัย ขนาด ความสูงโดยประมาณ จำนวนพันธุ์ไม้ (โดยเฉพาะที่พบว่าหายาก) ชนิดของป่าที่พันธุ์ไม้ขึ้น (ป่าดงดิบ ป่าชายเลน เป็นต้น) ลักษณะของดอก เช่น สี จำนวนของส่วนประกอบ(กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรเพศผู้ เกสรเพศเมีย เป็นต้น) กลิ่น การมียางของต้น สีของผล หรือลักษณะเด่นอื่นๆ ประโยชน์และโทษของพันธุ์ไม้นั้นถ้าทราบ

Collector ………… No ……..…. : ลงชื่อผู้เก็บและหมายเลขเรียงตามลำดับไว้ ผู้เก็บแต่ละคนใช้หมายเลขของตนติดต่อกันไป ไม่ว่าจะเดินทางไปเก็บพันธุ์ไม้ในท้องที่ใด

๗. เก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ใส่ถุงพลาสติก พันธุ์ไม้ที่มีลำต้นบอบบางควรเอาไว้ตอนบนๆ เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งซึ่งอาจเสียรูปได้ เมื่อใส่พันธุ์ไม้มากพอสมควรแล้ว มัดปิดปากถุง เพื่อรักษาความชื้นภายในถุงพันธุ์ไม้ที่ตัดมาจะได้ไม่เหี่ยวเร็ว แล้วนำออกมาอัดแผงเมื่อกลับถึงที่พัก พันธุ์ไม้บางชนิดที่มีบางส่วนบอบบางเหี่ยวง่าย ควรที่จะรีบอัดลงแผงในทันทีที่เก็บ