การอัดแห้งพันธุ์ไม้

เพื่อให้ได้ตัวอย่างที่ดี ควรทำทันทีเมื่อเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้มาได้ วางตัวอย่างพันธุ์ไม้ลงบนกระดาษหนังสือพิมพ์ ๑ คู่ที่พับครึ่ง ใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ตกแต่งให้ได้ขนาดพอเหมาะ จัดให้ขนาดพอดี อย่าให้เกินหน้ากระดาษและแผงอัด เรียงให้ใบคว่ำบ้างหงายบ้างเพื่อจะได้เห็นลักษณะของใบทั้งสองด้านขณะแห้งแล้วจากนั้นพลิกกระดาษแผ่นที่เป็นคู่นั้นปิดทับลงไปและระหว่างชั้นวางกระดาษ ๒-๓ แผ่นซ้อนไว้เพื่อดูดซึมความชื้นจากพันธุ์ไม้ ระหว่างพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งๆ นั้น สอดกระดาษลูกฟูกไว้เพื่อช่วยให้ความชื้นระเหยออกไปได้เร็ว เสร็จแล้วก่อนปิดแผงใช้กระดาษลูกฟูกปิดทับทั้งสองด้านและผูกมัดให้แน่น เพื่อเวลาแห้งพันธุ์ไม้จะได้เรียบ

พันธุ์ไม้ที่มีดอกบอบบาง ดอกหนา หรือเป็นกิ่งขนาดใหญ่ควรทำดังนี้

– พันธุ์ไม้ที่มีดอกบอบบาง เช่น ผักบุ้ง ดอกกล้วยไม้ ใช้กระดาษไข หรือกระดาษเซลโลเฟนวางทั้งด้านบนและด้านล่างของดอก เพื่อป้องกันไม่ให้ติดกระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะทำให้ฉีกขาดง่ายเวลาเปลี่ยนกระดาษ

– พันธุ์ไม้ที่มีดอกหนา เช่น ดอกชบา พุดตาน ซึ่งมักจะขึ้นราได้ง่าย และมักจะติดกับกระดาษที่อัด ใช้กระดาษบางๆ ที่ดูดซับน้ำได้ขนาดพอดีกับดอกรองทั้งด้านล่างและด้านบน ก่อนที่จะอัดมักจะจุ่มในแอลกอฮอล์ ๗๐-๙๕% หรือฟอร์มาลิน เพื่อฆ่าเซลล์ จะทำให้แห้งเร็วขึ้น

– พันธุ์ไม้ที่มีดอกติดกับกิ่งที่มีขนาดใหญ่ เวลาอัดใบและดอกมักจะร่วงง่าย เนื่องจากถูกแรงกดของแผงจึงควรใช้กระดาษฟางตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ให้พอดีกับใบหรือดอก หนุนใบหรือดอกให้ได้ระดับเดียวกับกิ่งที่มีขนาดใหญ่ และควรคั่นกระดาษลูกฟูกระหว่างพันธุ์ไม้พวกนี้ทุกชิ้น

– พันธุ์ไม้ที่มีหนามแข็ง ให้ตัดหนามด้านที่กดเข้าหากระดาษลูกฟูกก่อนอัด ยกเว้นหนามที่ใบของพวกเตยดอกหรือผลที่เหลือจากการตกแต่ง ใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ เก็บไว้ใช้ตรวจหาชื่อวิทยาศาสตร์ หรืออัดและเก็บใส่ซองแล้วติดลงบนกระดาษติดพันธุ์ไม้แห้ง เพื่อที่จะได้ศึกษาลักษณะต่างๆ ได้ง่าย โดยไม่ต้องทำให้ตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่ติดไว้เสียหาย

วิธีอบหรือผึ่งพันธุ์ไม้ให้แห้ง

พันธุ์ไม้ที่อัดลงแผงเรียบร้อยแล้ว ควรทำให้แห้งทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ราอาจขึ้นได้ การทำพันธุ์ไม้ที่อัดให้แห้งอาจทำโดย

๑. การตากแดด ควรหมั่นเก็บแผงที่ตากแดดเอหมดแสงอาทิตย์ อย่าปล่อยทิ้งให้ตากน้ำค้างหรือตากฝน จะทำให้ตัวอย่างที่อัดเสียหายได้

๒. การอบด้วยความร้อน โดยใช้อุปกรณ์เตาอบพันธุ์ไม้ชนิดใช้ความร้อนจากหลอดไฟ

หรือใช้ความร้อนจากการผิงไฟ ในกรณีไปเก็บตัวอย่างในแหล่งธรรมชาติเป็นระยะเวลาหลายวันและไม่มีวิธีอบแห้งอย่างอื่น

ไม่ว่าจะทำวิธีใด จะต้องหมั่นเปลี่ยนกระดาษที่ชื้นจากการซับน้ำจากพันธุ์ไม้ วันแรกที่ทำแห้งควรเปลี่ยนกระดาษ ๒ ครั้ง กระดาษที่ใช้แล้วทำให้แห้งแล้วใช้ใหม่ได้ แผงที่อัดพันธุ์ไม้หลังจากที่อบแห้งหรือตากแดดแล้วประมาณครึ่งวัน ต้องคอยดึงเชือกรัดแผงให้แน่นอยู่เสมอ เพราะว่าพันธุ์ไม้ที่อัดแห้งจะยุบตัวลงเชือกที่รัดจะหลวมถ้าปล่อยไว้ไม่ค่อยรัดให้ตึง ใบหรือดอกอาจจะเหี่ยวย่นได้

วิธีติดพันธุ์ไม้บนกระดาษติดพันธุ์ไม้

พันธุ์ไม้ที่แห้งสนิทดีแล้ว นำมาติดบนกระดาษสีขาว ขนาดกว้างยาวประมาณ ๓๐ ซม. x ๔๒ ซม. ชนิด ๓๐๐ กรัม เพื่อช่วยให้กิ่งพันธุ์ไม้ตัวอย่างไม่เปราะหักง่ายเวลานำตัวอย่างพันธุ์ไม้ออกจากตู้มาศึกษา

การติดพันธุ์ไม้มีวิธีง่ายๆ ดังนี้

๑. ใช้แปรงจุ่มกาว ทาลงบนกระจกเรียบขนาดประมาณ ๓๐ ซม. x ๔๕ ซม.โดยทาบางๆ ให้พอดีกับขนาดของพันธุ์ไม้ที่จะติด

๒. ใช้ปากคีบวางพันธุ์ไม้ด้านที่จะติดกระดาษให้แตะกาวบนกระจก กดให้ติดกาวจนทั่ว

๓. นำกลับมาวางบนกระดาษติดพันธุ์ไม้ กะให้วางตรงกลางค่อนไปทางขวา ให้เหลือที่มุมซ้ายสำหรับติดป้ายบันทึกข้อมูล

๔. ใช้กระดาษฟางหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ปูทับ แล้วจึงใช้ถุงทรายวางทับอีกทีให้เรียบเสมอกัน

๕. เมื่อกาวแห้งดีแล้ว เย็บพันธุ์ไม้ให้ติดกับกระดาษ โดยใช้ด้ายสีขาวที่มีความเหนียว เย็บเริ่มจากโคนกิ่งหรือโคนต้น แล้วโยงไปตามส่วนต่างๆ ให้มั่นคงและดูสวยงาม หรือจะใช้แถบกาวผ้าปิดทับไว้เป็นระยะๆ ก็ได้

๖. ปิดป้ายบันทึกข้อมูลซึ่งจะต้องเขียนรายละเอียดต่างๆ ที่ลอกมาจากสมุดบันทึกข้อมูล ที่จะต้องเขียนเพิ่มเติมคือ ชื่อผู้เก็บ (collector) หมายเลขลำดับที่เก็บ (collecting number) ชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อผู้ตรวจสอบหาชื่อของพันธุ์ไม้