การเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (HERBARIUM)

การเก็บและรักษาตัวอย่างพันธุ์ไม้ทำได้ ๓ วิธี คือ

๑.การอัดแห้งโดยการอัดพันธุ์ไม้แล้วอบหรือผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปติดบนกระดาษสำหรับติดตัวอย่างพันธุ์ไม้ เป็นวิธีที่นิยมกันมาก

๒. การทำแห้งเฉพาะส่วน เป็นการเก็บตัวอย่างส่วนต่างๆ ของพืชมาอบหรือผึ่งให้แห้ง โดยไม่อัดในแผงอัดพรรณไม้ ที่นิยมทำเป็นตัวอย่างแห้งเฉพาะส่วน ได้แก่ ผลและเมล็ด

๓. การดอง มักใช้กับพืชบางกลุ่มที่มีปัญหาในการทำตัวอย่างแห้ง เช่น พวกไม้น้ำ พืชที่มีต้นและใบอวบน้ำ พวกที่มีดอกบอบบาง หรือตัวอย่างผลสด (ผลมีเนื้อ) เป็นต้น นอกจากนี้ตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่ต้องการจะตั้งแสดง หรือประกอบการสอน ก็อาจเก็บรักษาด้วยการดอง

อุปกรณ์สำหรับเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้

๑. แผงอัดพันธุ์ไม้ มีลักษณะเป็นแผ่นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองอันประกบกัน ขนาดกว้างยาวประมาณ ๓๐ ซม. x ๔๕ ซม. วัสดุที่ใช้อาจจะเป็นไม้หรือโลหะ ขึ้นอยู่กับความสะดวก แต่ควรจะมีน้ำหนักเบา

๒. เชือกสำหรับผูกแผง แผงอัดพันธุ์ไม้จะต้องมีเชือกมัดสองเส้นเพื่ออัดพันธุ์ไม้ให้เรียบ ไม่หงิกงอเมื่อแห้ง เชือกควรใช้เชือกแบนๆ เช่น ไส้ตะเกียงขนาดกว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร ปลายเชือกข้างหนึ่งทำเป็นห่วงเพื่อร้อยเชือกผูกเวลาอัด เชือกผูกนี้ใช้เข็มขัดผ้าใบ หรือเข็มขัดหนังแทนก็ได้

๓. กรรไกรตัดกิ่ง กรรไกรชัก หรือขวาน มีดพับ พลั่ว หรือเสียม กรรไกรชักหรือขวานสำหรับตัดกิ่งไม้ที่อยู่สูงๆ เป็นท่อนๆ แล้วใช้กรรไกรตัดกิ่ง ตัดตกแต่งให้ได้ขนาดพอดีก่อนที่จะอัดแผง มีดพับใช้แซะพืชที่เกาะอยู่ตามกิ่งไม้หรือก้อนหิน พลั่วหรือเสียมสำหรับใช้ขุดพันธุ์ไม้ที่จำเป็นต้องใช้รากหรือส่วนของต้นที่อยู่ใต้ดิน

๔. ถุงพลาสติกและยางสำหรับรัดปากถุง ถุงพลาสติกใช้สำหรับใส่พันธุ์ไม้ที่ตัดเป็นกิ่งเล็กๆ แล้วระหว่างทางที่เดินเก็บซึ่งจะป้องกันพันธุ์ไม้เหี่ยวแห้งก่อนอัดในแผงได้เป็นอย่างดี

๕. กระดาษอัดพันธุ์ไม้ นิยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ๑ คู่ พับครึ่งตามขวางสำหรับอัดพันธุ์ไม้ ๑ ชิ้นคั่นกลางด้วยกระดาษลุกฟูกแข็งซึ่งมีร่องตามขวาง กระดาษหนังสือพิมพ์จะช่วยซับน้ำจากพันธุ์ไม้ ส่วนกระดาษลูกฟูกแข็งจะช่วยทำให้พันธุ์ไม้เรียบเสมอกัน และช่วยระบายความชื้นออกทางร่องของลูกฟูกด้วย

๖. ป้ายกระดาษสำหรับผูกพันธุ์ไม้ ขนาดกว้างยาวประมาณ ๒ ซม. x ๓ ซม. ปลายข้างหนึ่งเจาะรูร้อยด้ายทำเป็น ๒ ทบ ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ใช้สำหรับผูกและเขียนหมายเลขของพันธุ์ไม้ให้ตรงกับหมายเลขของสมุดบันทึก

๗. สมุดบันทึก ใช้สำหรับจดข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ ได้แก่ วัน เดือน ปีที่เก็บ ลักษณะวิสัย(habit) ถิ่นอาศัย (habitat) สถานที่เก็บตัวอย่าง (locality) ชื่อพื้นเมือง (local name) ระดับความสูง และลักษณะเด่นของพันธุ์ไม้ที่อาจจะเปลี่ยนแปลง หรือไม่สามารถสังเกตได้จากตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้ง เช่น การมียางสีของดอกและผล กลิ่นของใบ ดอก ผล รสของผล ลักษณะของเปลือกไม้ เป็นต้น สมุดบันทึกควรมีขนาดที่สามารถพกติดตัวได้ง่าย

๘. ดินสอดำ ใช้จดบันทึกข้อความในสมุดบันทึก และเขียนหมายเลขบนป้ายกระดาษ ไม่นิยมใช้ปากกาเพราะตัวหนังสืออาจจะเลอะเลือนได้ง่าย

๙. เครื่องวัดระดับความสูง (altimeter) ใช้สำหรับวัดดูว่าพันธุ์ไม้ที่เก็บขึ้นอยู่ในพื้นที่ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไร ความสูงอาจเป็นฟุตหรือเมตรขึ้นอยู่กับมาตราของเครื่องวัด

๑๐. กล้องถ่ายรูป ควรเป็นกล้องที่สามารถติดเลนส์ถ่ายใกล้ (close-up) ใช้สำหรับถ่ายภาพลักษณะพันธุ์ไม้ ถิ่นอาศัย ฯลฯ

๑๑. ขวดดองตัวอย่าง ขวดแก้วหรือขวดพลาสติกใสมีฝาปิด ขนาดต่างๆ

๑๒. เอทานอล (เอทิลแอลกอฮอล์) ๗๐% ใช้สำหรับดองตัวอย่าง

๑๓. อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ควรมีติดตัว เช่น เทปวัดระยะ แว่นขยาย (กำลังขยาย ๑๐-๒๐ เท่า) และกล้องส่องทางไกล เป็นต้น