เอคโค่หัวใจ

ใครต้องทำ

แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น ขาบวม ใครมีอาการคล้ายๆแบบนี้บ้างครับ ถ้ามีแล้วต้องไปตรวจเอคโค่หัวใจไหมน้า? วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กัน

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับสู่ DRK Channel กับผมหมอเต้ กิจจา คลิปก่อนหน้าเราคุยกันเรื่องการตรวจการทำงานของหัวใจ โดยการทำ เอคโค่หัวใจ (echocardiography) ว่าทำแล้วสามารถบอกอะไรให้เรารู้กันได้บ้างไปแล้ว ถ้าใครย้งไม่ได้ดู กดดูได้ตามลิงค์นี้เลย แลฝาติดตามช่อง DRK Channel เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยน้า ขอบคุณมากค๊าบ ^_^

ใครบ้างที่ควรต้องทำเอคโค่หัวใจนะ ?

ผมจะอธิบายง่ายๆ โดยแยกออกเป็นข้อๆดังนี้นะครับ

ผู้ที่มีอาการหรือผลตรวจสุขภาพอื่นๆ สงสัยจะเป็นโรคหัวใจ

การทำเอคโค่หัวใจเป็นการตรวจหัวใจแบบละเอียด โดยใช้เทคโนโลยีคลื่นเสียงสะท้อนขั้นสูง คล้ายกับ ultrasound แต่เป็นอีกเทคโนโลยีนึงครับ เราจะเห็นทั้งรูปร่างโครงสร้างของหัวใจ และการทำงานของหัวใจในแต่ละชุด ดังนั้นคนกลุ่มแรกที่ควรทำเอคโค่หัวใจก็คือ ผู้ที่สงสัยจะมีโครงสร้างของหัวใจผิดปกติ เช่นมีหัวใจโตหรือไม่ ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วหรือเปล่า หรือสงสัยว่าหัวใจทำงานลดลงเช่นจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด / เส้นเลือดหัวใจตีบ เราก็ควรที่จะทำเอคโค่หัวใจครับ

ผู้มีอาการใจสั่น ใจหวิว ใจเต้นแรง (Palpitation)

สำหรับบางคนที่มีอาการใจสั่น หวิวๆ สงสัยว่าจะมีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (ECG / EKG / electrocardiogram) เราก็น่าจะต้องตรวจเพิ่มเติมโดยละเอียดหลายอย่าง และเอคโค่หัวใจก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เพราะอาจบอกสาเหตุของโรคได้ และในขณะเอคโค่หัวใจจะมีการทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ real time อยู่ด้วย ทำให้เพิ่มความสำเร็จในการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจสั่น / หัวใจกระตุก / หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ครับ อันนี้รวมถึงในผู้ป่วยอัมพฤกษ์/อัมพาตจากเส้นเลือดสมองตีบ (ischemic stroke) ที่สงสัยว่าจะเกิดจากลิ่มเลือดในหัวใจลอยไปอุดตันเส้นเลือดสมองด้วยนะครับ (embolic stroke)

ผู้มีอาการในกลุ่มหัวใจวาย น้ำท่วมปอด (Heart failure)

ผู้ป่วยที่มีอาการขาบวม นอนราบไม่ได้ (orthopnea) ตื่นขึ้นมาหอบในเวลากลางคืน (PND) มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลัง (DOE, dyspnea on exertion) หรือสรุปง่ายๆว่าสงสัยว่าจะมีภาวะหัวใจโต น้ำท่วมปอด / หัวใจวาย (CHF, congestive heart failure) หรือไม่ การทำเอคโค่หัวใจก็เป็นหนึ่งในการวินิจฉัยหลักของกลุ่มอาการนี้เช่นกัน

ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องให้เคมีบำบัดบางชนิด หรือผู้ป่วยก่อนผ่าตัดบางราย

ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจมีผลต่อหัวใจบ้าง ซึ่งควรได้รับการตรวจประเมินความแข็งแรงของหัวใจ โดยการทำเอคโค่หัวใจก่อนให้เคมีบำบัด (chemotherapy) และสำหรับผู้ป่วยก่อนผ่าตัดใหญ่บางราย การตรวจเอคโค่หัวใจก็อาจช่วยประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัดของผู้ป่วยได้เป็นอย่างด

ถึงตรงนี้เพื่อนๆก็คงเก่งกันแล้วทุกคนเลยนะครับ เพราะมีความรู้เรื่องเอคโค่หัวใจกันเป็นอย่างดีแล้ว ผมขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆกันอีกครั้งนะครับว่าผู้ป่วยดังต่อไปนี้ควรได้รับการตรวจเอคโค่หัวใจ

การตรวจเอคโค่หัวใจอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเหล่านี้ ได้แก่

1. ผู้ป่วยที่สงสัยโรคหัวใจ ได้แก่มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ขาบวม นอนราบไม่ได้

2. ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่จะได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด

3. ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัตพาต

4. ผู้ป่วยก่อนผ่าตัดบางประเภท

5. ผู้ป่วยโรคไตก่อนปลูกถ่ายไต

6. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ และมีอาการสงสัยโรคหัวใจ

หวังว่าคลิปนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆที่จะเข้ารับการตรวจเอคโค่บ้างนะครับ หากมีคำถามก็สามารถเขียนไว้ในช่องคอมเม้นต์ใต้คลิปเลยนะครับ ก่อนจากกันไปฝากเพื่อนๆช่วยกดติดตามช่องยูทูป DRK Channel เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ กดตามลิงค์นี้เลย พบกันใหม่คลิปหน้า สวัสดีครับ


https://www.youtube.com/channel/UCF3iOWwldQehnS5v7t6a9Rw/SeattleWebSearch?sub_confirmation=1


★☆★ ดีอาร์เค ชาแนล ★☆★

ช่องแห่งรอยยิ้ม อิ่มด้วยสาระ

โดยนายแพทย์ กิจจา จำปาศรี (หมอเต้ กิจจา)

KITCHA CHAMPASRI, MD #doctorkitcha