เอคโค่หัวใจ

Echocardiogram

หากเพื่อนๆไปหาหมอหัวใจ ด้วยอาการใดอาการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หรือใจสั่น เพื่อนๆอาจจะได้รับการนัดตรวจพิเศษทางหัวใจวิธีหนึ่ง ที่เรียกว่า เอคโค่หัวใจ (echocardiogram) วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันดีไหมครับ

เอคโค่หัวใจ เรามักจะเรียกกันง่ายๆติดปากว่า เอคโค่ (ECHO) ซึ่งหากเพื่อนๆได้ยินครั้งแรกอาจจะงงๆว่า หมอจะไปร้องคาราโอเกะกันหรือไงนะ (^_^) ซึ่งจริงๆแล้วมันก็คล้ายๆกันนะครับ เพราะการเอคโค่หัวใจ เป็นการใช้เทคโนโลยีคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงเป็นตัวทำให้เห็นภาพและการทำงานของหัวใจขึ้นมาได้

เอคโค่หัวใจ สามารถตรวจหัวใจได้หลายอย่างเลยนะครับ ผมจะสรุปเป็นข้อๆให้เข้าใจกันง่ายๆดังนี้

1. โครงสร้าง ขนาดของหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจ เราจะทราบว่าหัวใจเราโตกว่าปกติหรือไม่ เป็นโรคหัวใจโตหรือเปล่า หรือมีความพิการของหัวใจแต่กำเนิดหรือไม่ โดยเราสามารถวัดขนาดออกมาได้ครบทั้ง 4 ห้องของหัวใจเลยนะครับ

2. ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ซึ่งเรานิยมดูที่ห้องซ้ายล่าง (left ventricle) มากที่สุด เพราะเป็นห้องที่จะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายของเรา โดยจะใช้ชื่อย่อว่า EF (Ejection Fraction) โดยคำนวณจากปริมาตรเลือดก่อนและหลังบีบว่าได้กี่เปอร์เซ็นต์ หากได้มากกว่า 50-60% ก็ถือว่าปกติครับ

3. ความเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจในการคลายตัว (diastolic dysfunction) หัวใจของเรา จะมีการบีบตัวและคลายตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราอายุมากขึ้น หัวใจก็จะแก่ลงเช่นกัน ทำให้การคลายตัวของหัวใจไม่ดีเหมือนตอนเราอายุน้อยๆ เราอาจมีอาการเหนื่อยง่ายขึ้นได้ หรือหากเป็นมากๆอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้เช่นกันครับ (diastolic heart failure)

4. ลิ้นหัวใจ คนเรามีห้องหัวใจ 4 ห้อง ก็จะมีลิ้นหัวใจ 4 ลิ้นเช่นกันครับ หน้าที่ของลิ้นหัวใจคือกันเลือดให้ไหลไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยลิ้นหัวใจต้องเปิดกว้าง และปิดสนิท หากเปิดไม่กว้างเราจะเรียกว่าลิ้นหัวใจตีบ (stenosis) และหากปิดไม่สนิทเราจะเรียกว่ารั่ว (regurgitation) ซึ่งหากเรามีลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว เราก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย บวม หรือใจสั่นได้ครับ

5. ลิ่มเลือดในหัวใจ (intracardiac thrombus) โรคหัวใจบางชนิด เช่นโรคหัวใจสั่นพริ้ว หรือโรคลิ้นหัวใจตีบอาจทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดในหัวใจไม่ดี เกิดการตกตะกอนเป็นลิ่มเลือดค้างในหัวใจ ซึ่งอาจหลุดลอยไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดสมองขาดเลือด เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ อันตรายมากครับ

6. เยื่อหุ้มหัวใจ บางภาวะอาจมีน้ำ หรือหนองในเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้เรามีอาการเหนื่อยได้ หากเราตรวจพบ เราก็สามารถหาสาเหตุและรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง

เมื่อฟังมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆคงจะเห็นได้ว่า เอคโค่หัวใจมีประโยชน์มากมายที่จะทำให้เราสามารถตรวจได้ว่าเพื่อนๆเป็นโรคหัวใจหรือไม่ เป็นชนิดไหน และแพทย์โรคหัวใจจะสามารถวางแผนการรักษา และรักษาได้ตรงโรค ตรงสาเหตุนั่นเองครับ

การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการตรวจเอคโค่หัวใจ

หากเพื่อนๆได้รับการนัดตรวจเอคโค่หัวใจ เพื่อนๆไม่ต้องกลัวเลยครับ เพราะการตรวจเอคโค่นี้ไม่เจ็บเลย เพื่อนๆแค่นอนตะแคง ให้แพทย์ใช้หัวตรวจ (probe) วางที่บริเวณหน้าอกด้านซ้าย (transthoracic echocardiogram) และส่องเข้าไปด้านในด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทำให้เราเห็นภาพและการทำงานของหัวใจออกมาที่หน้าจอเลยครับ สำหรับการเตรียมตัวมีขั้นตอนง่ายๆดังนี้

  1. วันที่นัดตรวจ เพื่อนๆสามารถกินอาหารและน้ำได้ตามปกติ รวมถึงยาประจำต่างๆด้วย สำหรับชาหรือกาแฟแนะนำให้งดในวันตรวจครับ

  2. พยาบาลจะให้เพื่อนๆเปลี่ยนเป็นเสื้อของโรงพยาบาล มักเป็นเชือกผูกด้านหน้า ให้สามารถหัวใจตรวจได้สะดวก จากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดแผ่นขั้วไฟฟ้า (electrode) ที่ไหล่ 2 ข้างและบริเวณหน้าท้องอีก 1 จุด

  3. ในระหว่างตรวจเอคโค่ ให้เพื่อนๆนอนนิ่งๆนะครับ หายใจตามปกติ ไม่ต้องพยายามหายใจลึกมากหรือถอนหายใจ ระหว่างนั้นแพทย์จะใช้หัวตรวจที่ทาเจลวางที่หน้าอกในหลายๆจุด เพื่อให้สามารถส่องเห็นภาพและการทำงานของหัวใจในหลายๆมุม ให้ครบทุกมิติ และแพทย์อาจอธิบายสิ่งที่ตรวจพบบางอย่างที่สำคัญ

  4. หลังตรวจเสร็จเพื่อนๆเช็ดเจลที่หน้าอก และแกะ electrode ออกได้เลยครับ จากนั้นแพทย์อาจให้รอเพื่อฟังผลเลย หรือนัดมาฟังผลอีกครั้งในวันหลังครับ

หวังว่าคลิปนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆที่จะเข้ารับการตรวจเอคโค่บ้างนะครับ หากมีคำถามก็สามารถเขียนไว้ในช่องคอมเม้นต์ใต้คลิปเลยนะครับ ก่อนจากกันไปฝากเพื่อนๆช่วยกดติดตามช่องยูทูป DRK Channel เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ กดตามลิงค์นี้เลย พบกันใหม่คลิปหน้า สวัสดีครับ


https://www.youtube.com/channel/UCF3iOWwldQehnS5v7t6a9Rw/SeattleWebSearch?sub_confirmation=1


★☆★ ดีอาร์เค ชาแนล ★☆★

ช่องแห่งรอยยิ้ม อิ่มด้วยสาระ

โดยนายแพทย์ กิจจา จำปาศรี (หมอเต้ กิจจา)