ECG คืออะไร ใครต้องทำ

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ECG คืออะไร ใครต้องทำ

โดยแพทย์โรคหัวใจ


คลื่นไฟฟ้าหัวใจคืออะไร? ECG ต่างจาก EKG หรือไม่? แล้วเราจำเป็นต้องทำไหมนะ วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันครับ


ECG คืออะไร

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีคำย่อให้เรียกกันสั้นๆอยู่ 2 ชื่อคือ ECG และ EKG ซึ่งก็คืออย่างเดียวกันนะครับ โดยย่อมาจาก Electrocardiogram เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจแบบหนึ่ง โดยใช้ตัวรับสัญญาณไฟฟ้า (electrode) ติดที่บริเวณหน้าอก 6 จุด และติดที่แขนและขาทั้ง 2 ข้าง จากนั้นเครื่องจะรับสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจ และแปลผลออกมาเป็นกราฟ 12 เส้น พิมพ์ลงบนกระดาษ เพื่อให้แพทย์ได้อ่านและแปลผลต่อไป


ECG ตรวจรู้โรคหัวใจอะไรได้บ้าง

1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (coronary artery disease and acute coronary syndrome)

2. โรคหัวใจโต รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว (cardiomyopathy and LVH)

3. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia) รวมถึงโรคหัวใจแต่กำเนิดบางชนิด เช่นโรคไหลตาย

4. ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสป (pericarditis)

5. การทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ (cardiac pace marker)


การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจ ECG

1. โดยปกติ เพื่อนๆแทบไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนทำ ECG เลย โดยสามารถรับประทานอาหาร และยาประจำตัวได้ตามปกติครับ

2. ขั้นตอนแรก ทีมแพทย์จะให้เพื่อนๆ เปลี่ยนเสื้อเป็นเสื้อของคลินิกหรือโรงพยาบาลก่อน เพื่อให้สามารถติดอุปกรณ์ต่างๆได้สะดวก

3. สำหรับโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ แนะนำให้ฝากญาติไว้ก่อนนะครับ เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน

4. ทีมแพทย์จะให้เพื่อนๆนอนหงานบนเตียง จากนั้นจะได้รับการติดตัวรับสัญญาณไฟฟ้าที่หน้าอก 6 จุด และที่แขนขาทั้ง 2 ข้าง

5. เมื่อติดเสร็จแล้ว แพทย์จะให้เพื่อนๆนอนเฉยๆบนเตียง เพื่อให้เครื่องรับสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจ ในขั้นตอนนี้เพื่อนๆนอนหายใจช้าๆ เบาๆนะครับ กราฟจะได้ไม่สั่น แค่ประมาณ 1-2 นาทีเอง เราก็จะได้กราฟ ECG ของเราแล้ว จากนั้นเพื่อนๆก็รอแพทย์อ่านผล พร้อมทั้งวางแผนการรักษาต่อไปได้เลยครับ



ใครที่ควรได้รับการตรวจ ECG

1. มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เจ็บร้าวไปไหล่หรือกราม รวมถึงจุกแน่นลิ้นปี และหายใจไม่อิ่ม

2. มีอาการหอบเหนื่อย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ นอนราบแล้วเหนื่อย ตื่นขึ้นมาหอบเหนื่อยเวลากลางคืน

3. มีอาการใจสั่น ใจหวิวๆ หัวใจกระตุกเหมือนตกหลุม

4. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือมีประวัติเสียชีวิตในช่วงอายุน้อย

5. ผู้ที่สงสัยการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจผิดปกติ


ข้อจำกัดของการตรวจหัวใจด้วย ECG

แม้ว่าประโยชน์ของ ECG จะมีมากมาย แต่ในบางสถานการณ์อาจต้องการการตรวจหัวใจพิเศษอื่นๆเพิ่มเติม ได้แก่

1. ผู้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจต้องได้รับการตรวจเลือด เพื่อดูภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยดูได้จากเอนไซม์จากหัวใจบางตัว เช่น cardiac troponin และแม้ว่าผล ECG จะออกมาปกติ ก็ยังอาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบซ่อนอยู่ได้ และอาจจำเป็นต้องตรวจเอคโค่หัวใจ หรือวิ่งสายพานตรวจหัวใจ (EST) ต่อไปหากสงสัยภาวะนี้มาก

2. ในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากในขณะที่ตรวจ ECG ผู้ป่วยไม่มีอาการใจสั่น ผลตรวจก็อาจปกติได้ ซึ่งอาจต้องใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. (Holter) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยต่อไป เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าการตรวจ ECG นั้นทำได้ง่าย รวดเร็วเพียงประมาณ 10-15 นาที ราคาไม่แพง และไม่เจ็บเลย แต่อาจมีร่องรอยของการติดตัวรับสัญญาณไฟฟ้าที่หน้าอกเป็นจ้ำๆช้ำๆอยู่ประมาณ 1-2 วันก็จะจางหายไปได้เอง ECG จึงเป็นที่นิยมใช้ในการตรวจคัดกรองโรคหัวใจขั้นต้น ก่อนการตรวจพิเศษอื่นๆ ตามที่แพทย์หัวใจของเพื่อนๆวางแผนต่อไป