กินยาคุม

แล้วฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

กินยาคุมอยู่ จะฉีดวัคซีน COVID-19ได้ไหม? ต้องหยุดกินยาคุม ก่อนฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่? คุณสาวๆคงอยากรู้ วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันครับ

จากข่าวดังของน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่กินยาคุมกำเนิดอยู่แล้วไปฉีดวัคซีนโควิด จากนั้นมีอาการหน้ามืดแล้วเสียชีวิตในอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมาจากลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทำให้เกิดข้อสงสัยในประเด็นที่ว่า วัคซีนโควิด และยาคุมชนิดกิน มีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันอย่างไร และหากเรากินยาคุมอยู่ เราจะฉีดวัคซีนได้ไหม หรือต้องหยุดยาคุมไหม ทำยังไงดี ก่อนอื่นขอให้เพื่อนๆใจเย็นๆก่อนนะครับ เรามาค่อยๆคุยเรื่องนี้กันแบบเข้าใจง่ายๆกันดีกว่า

ยาคุมกาเนิดมีกี่ชนิด ออกฤทธิ์ต่างกันยังไง

ก่อนอื่นเรามารู้จักยาคุมกำเนิดกันก่อน ยาคุมกำเนิดมี 3 ชนิดหลักๆคือ

1. ยาคุมชนิดกิน มีหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดผสมระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสเตอโรน (progesterone)

2. ยาคุมชนิดฉีด แบบที่นิยมสุดจะเป็นแบบฉีดทุก 3 เดือน ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนล้วนๆ

3. ยาคุมชนิดฝัง เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียวเหมือนยาคุมฉีด

ยาคุมชนิดกิน

เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด แต่พบได้น้อยมากในคนไทย

ยาคุมฉีด

ไม่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด

ยาคุมฝัง

ไม่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด

ยาคุมกาเนิดส่งผลต่อการเกิดลิ่มเลือดหรือไม่

ตอนนี้เรารู้จักยาคุมแล้วว่ามี 3 ชนิด แล้วชนิดไหนบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด คำตอบก็คือ ยาคุมชนิดกินเท่านั้น โดยตัวที่ทำให้เกิดคือฮอร์โมนเอสโตรเจนนั่นเอง แต่ความเสี่ยงมีไม่มากนะครับ และก็โชคดีที่พบน้อยมากในหญิงไทยอีกด้วย โดยพบประมาณ 500-1200 คนต่อผู้หญิงที่กินยาคุม 1 ล้านคน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับความเสี่ยงของตัววัคซีนโควิดเอง พบว่าวัคซีนโควิดทำให้เกิดลิ่มเลือดน้อยกว่ามาก คือพบเพียง 2.5 คนใน 1 ล้านคนเท่านั้น และยิ่งพบน้อยมากในผู้ที่ได้รับวัคซีนชิโนแวค คือเพียง 7 รายจากการฉีดมากกว่า 200 ล้านโดส (0.035 รายต่อ 1 ล้านโดส)


พูดแบบนี้เพื่อนๆคงยังงงอยู่ว่ามันมากหรือน้อยยังไง ผมขอเทียบกับเปอร์เซ็นต์ของการถูกหวยรางวัลที่ 1 คือ 1 ใบจาก 1ล้านใบ หรือพูดง่ายๆว่า 1 ในล้าน ดังนั้นจะเห็นว่าความเสี่ยงของวัคซีนในการทำให้เกิดลิ่มเลือดไม่ได้มากเลย ยิ่งซิโนแวคด้วยแล้วการเกิดน้อยกว่าการถูกหวยรางวัลที่ 1 อีก เพื่อนๆเคยถูกหวยรางวัลที่ 1 กันบ้างไหมครับ (^_^)

การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดที่มีสาเหตุจากการฉีดวัคซีนโควิดซิโนแวคมีน้อยมากๆเลยครับ ถูกหวยรางวัลที่หนึ่งยังง่ายกว่าอีก

ลิ่มเลือดอุดตันในปอดคืออะไร ?

ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism) ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเกิดลิ่มเลือดที่ขาก่อน (DVT, Deep Vein Thrombosis) แล้วลิ่มเลือดนั้นหลุดไปอุดตันที่ปอด หากเป็นแบบเฉียบพลันจะทำให้การฟอกเลือดของปอดผิดปกติ จึงเกิดอาการหอบเหนื่อย วูบ เป็นลมหมดสติได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเสียชีวิตทั้งหมดนะครับ เพราะหากวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว ก็มีโอกาสหายได้ครับ

ลิ่มเลือดจากเส้นเลือดดำที่ขา หลุดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดดำของปอด

อะไรบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการการลิ่มเลือดอุดตัน ?

จริงๆแล้วไม่ใช่แค่ยาคุมกำเนิดชนิดกินนะครับที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ยังมีสาเหตุอีกหลายประการเลย ยกตัวอย่างเช่น

  1. สูบบุหรี่ (cigarette smoking) จริงๆแล้วเป็นความเสี่ยงทีมากกว่ายาคุมอีกนะครับ ดังนั้นต้องรีบเลิกบุหรี่นะ

  2. ภาะวะที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน (immobilization) เช่น การนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน หรือการนอนบนเดียงเป็นเวลานาน เช่นเข้าเฝือก หลังผ่าตัด หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง

  3. โรคเรื้อรังบางอย่าง เช่นโรคมะเร็ง โรคอ้วน เป็นต้น

  4. การตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงนะครับ

จริงๆแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยง รวมถึงกรรมพันธุ์ด้วยนะ ไว้ว่างๆหากเพื่อนๆอยากรู้แบบละเอียดผมจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มครับ

ลิ่มเลือดอุดตันในปอด ตรวจได้ชัดเจนจากการทำคอมพิวเตอร์ปอดครับ

Obstet Gynecol Sci. 2013 Jul; 56(4): 273–276.

ก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องหยุดยาคุมชนิดกินไหม

คำถามนี้ มีหลายสมาคมได้ออกมายืนยันไปในทางเดียงกันนะครับ ว่าไม่ต้องหยุดกินยาคุมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะข้อมูลยังไม่บ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามประกาศราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ยังมีอีกทางออกให้กับคนที่ไม่สบายใจ คือหากเราต้องการหยุดกินยาคุม เราก็สามารถหยุดได้โดยใช้วิธีการอื่นๆมาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้นครับ

สรุปคำแนะนำสำหรับผู้ที่กินยาคุมอยู่และต้องการฉีดวัคซีน COVID-19

  1. ไม่จำเป็นต้องหยุดกินยาคุมก่อนฉีดวัคซีนโควิด

  2. หากจะหยุดกินยาคุม แนะนำใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นแทน

  3. หยุดบุหรี่ หรือเลิกไปเลยก็ดีนะครับ

  4. ดื่มน้ำเยอะๆเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (dehydration) รวมถึงงดชา และ กาแฟ เพราะทำให้ปัสสาวะบ่อย อาจขาดน้ำได้ง่าย

  5. ไม่นั่งเฉยๆเป็นเวลานาน แนะนำให้ลุกเดินบ่อยๆ

  6. งดกินยาหรือสมุนไพรอื่นๆที่ไม่จำเป็น

  7. หากมีอาการผิดปกติ เช่นวูบ เป็นลม หอบเหนื่อย หรือแน่นหน้าอก ให้รีบพบแพทย์

หวังว่าคลิปนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆบ้างนะครับ ฝากกดติดตามช่อง DRK Channel เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ กดตามลิงค์นี้เลย พบกันใหม่คลิปหน้า สวัสดีครับ


https://www.youtube.com/channel/UCF3iOWwldQehnS5v7t6a9Rw/SeattleWebSearch?sub_confirmation=1


หมอเต้ | DRK Channel

นายแพทย์ กิจจา จำปาศรี | Kitcha Champari, M.D. #doctorkitcha