ฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ

CORONARY ANGIOGRAM

การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ มีชื่อเรียกเป็นศัพท์แพทย์ภาษาอังกฤษว่า coronary angiogram (CAG) เป็นการตรวจที่ดีที่สุดเพื่อดูว่าหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ ตีบแค่ไหน และควรวางแผนการรักษาอย่างไรต่อไป

การฉีดสีเจ็บหรือไม่ ต้องวางยาสลบหรือเปล่า

การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ เป็นการตรวจคล้ายๆการผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปในหลอดเลือด ดังนั้นไม่เจ็บมาก แค่เพียงฉีดยาชาตรงเส้นเลือดที่จะเจาะใส่สายสวนหัวใจเข้าไป โดยสามารถเลือกเจาะเส้นเลือดได้หลายจุด จุดที่นิยมได้แก่ที่ข้อมือ และขาหนีบ หลังจากใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงแล้ว แพทย์จะไหลปลายสายสวนเข้าไปจนถึงหลอดเลือดหัวใจ แล้วจะฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจเพื่อที่จะถ่ายวีดีโอให้เห็นเส้นเลือดหัวใจได้โดยตรง และเห็นภาพการตีบของหลอดเลือดได้อย่างละเอียด สำหรับคำถามเรื่องต้องวางยาสลบหรือไม่ ขอตอบให้ชัดเจนอีกครั้งว่าไม่ต้องวางยาสลบนะครับ เพราะขณะทำไม่เจ็บเลย เจ็บเพียงแค่ตอนฉีดยาชาที่ผิวหนังตรงที่จะเจาะเส้นเลือดเท่านั้นครับ

ใครบ้างที่ต้องฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ

ผู้ที่ต้องฉีดสีเพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ มี 2 กลุ่มคือผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกแบบเฉียบพลัน และการคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) รวมถึงการตรวจเลือด (cardiac troponin) สงสัยว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจอย่างเร่งด่วน และพิจารณาให้การรักษาด้วยยา การทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจ (PCI, percutaneous coronary intervention) หรือทำผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ (CABG, coronary bypass graft surgery)

สำหรับผู้ป่วยอีกกลุ่มคือกลุ่มไม่ฉุกเฉิน แต่มีอาการเจ็บหน้าอก (angina pectoris) สงสัยหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยมีการวินิจฉัยอื่นๆสนับสนุน เช่นการวิ่งสายพาน (EST) การทำคอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (coronary CT) หรือการทำตรวจพิเศษอื่นๆตามที่แพทย์เห็นสมควร (stress echocardiogram, stress CMR, MIBI, SPECT) เป็นต้น

ฉีดสีหลอดเลือดหัวใจแล้ว จะได้ประโยขน์อะไร

เมื่อเราฉีดสีหลอดเลือดหัวใจแล้ว เราจะเห็นภาพของหลอดเลือดหัวใจว่าตีบหรือไม่ ตีบกี่จุด ตีบแค่ไหน ต้องรีบรักษาด่วนหรือไม่ และสามารถวางแผนต่อไปได้ว่าจะเลือกวิธีการรักษาด้วยวิธีอะไรต่อดี โดยการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมี 3 วิธีหลักคือ

1. การรักษาด้วยยา (medications)

2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ และใส่โครงขดลวดค้ำยัน (percutaneous coronary balloon angioplasty with stenting)

3. การผ่าตัดบายพาลหลอดเลือดหัวใจ (CABG)

อธิบายโดยสรุปคือหากหลอดเลือดหัวใจตีบไม่มาก (non-significant coronary artery disease) หมายถึงหลอดเลือดตีบน้อยกว่า 50% หรือบางกรณีเกิดจากหลอดเลือดหดเกร็ง (coronary spasm) ก็สามารถรักษาโดยการใช้ยาอย่างเดียวได้ โดยไม่ต้องทำบอลลูนหรือบายพาส

แต่หากหลอดเลือดหัวใจตีบมาก แพทย์และผู้ป่วยจะต้องเลือกว่าจะทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจ (คล้ายๆผ่าตัดส่องกล้อง เพราะไม่ต้องผ่าเปิดหน้าอก) หรือต้องผ่าตัดใหญ่โดยการทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งหากเป็นไปได้ก็คงจะเลือกทำบอลลูนอยู่แล้วเนอะครับ ยกเว้นเลือดเลือดหัวใจตีบมากหรือตีบหลายจุดจริงๆ ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ

หวังว่าคลิปนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆที่จะเข้ารับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจบ้างนะครับ หากมีคำถามก็สามารถเขียนไว้ในช่องคอมเม้นต์ใต้คลิปเลยนะครับ และก่อนจากกันไปฝากเพื่อนๆช่วยกดติดตามช่องยูทูป DRK Channel เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ กดตามลิงค์นี้เลย พบกันใหม่คลิปหน้า สวัสดีครับ


https://www.youtube.com/channel/UCF3iOWwldQehnS5v7t6a9Rw/SeattleWebSearch?sub_confirmation=1


★☆★ ดีอาร์เค ชาแนล ★☆★

ช่องแห่งรอยยิ้ม อิ่มด้วยสาระ

โดยนายแพทย์ กิจจา จำปาศรี (หมอเต้ กิจจา)