Holter

โฮลเตอร์หัวใจ

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง - 7 วัน

Holter Monitor : เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง - 7 วัน

เป็นเครื่องมือที่สามารถตรวจการทำงานของหัวใจได้ตลอด24ชั่วโมง🕖 ตัวเครื่องมีขนาดเล็กจึงสามารถพกติดตัวกลับไปที่บ้านได้ เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ EKG) ตลอดทั้งวันทั้งคืน🌞🌙💫 ให้แพทย์นำมาวินิจฉัยโรคหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเป็นๆหายๆ เฉพาะบางช่วงเวลา หรือเป็นลม วูบ-หมดสติ❤️⚡️

Holter Monitoring คืออะไร

โฮลเตอร์หัวใจ เป็นการติดเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ โดยตัวเครื่องมีขนาดเท่าๆกับโทรศัพท์มือถือ และจะมีสายสัญญาณต่อกับตัวรับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ (electrode) ติดที่บริเวณหน้าอก เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง - 7 วันตามที่แพทย์เป็นผู้กำหนด การตรวจโฮลเตอร์หัวใจนี้ไม่เจ็บเลยนะครับ สบายใจได้

ประโยชน์ของการตรวจโฮลเตอร์หัวใจ

  1. เพื่อติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น หน้ามืด หรือหมดสติ🚨 แต่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) แบบปกติทั่วไป

  2. เพื่อติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง - 7 วัน🕖 ว่ามีความผิดปกติแบบใด หัวใจเต้นสม่ำเสมอหรือไม่ หัวใจเต้นสั่น กระตุก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดขึ้นเวลาใด และเกี่ยวข้องกับอาการของผู้ป่วยหรือไม่

  3. เพื่อให้แพทย์ประเมินความถี่ และความรุนแรงของการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขณะทำกิจวัตรประจำวันที่บ้าน

  4. เพื่อตรวจบันทึกอัตราการเต้นหัวใจเฉลี่ยในแต่ละช่วงของวัน ในแต่ละกิจกรรม ว่ามีการเต้นเร็วหรือช้า เหมาะสมกับแต่ละกิจกรรมหรือไม่ เช่นควรเต้นช้าในตอนนอนหลับ หรือเร็วขึ้นในช่วงออกกำลังกาย เป็นต้น

โฮลเตอร์หัวใจต่างจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจาก Apple Watch อย่างไร


  1. Apple watch สามารถบันทึกคลื่นหัวใจได้เพียงตำแหน่งเดียว (1 lead) แต่โฮลเตอร์สามารถบันทึกได้ถึง 3-12 ตำแหน่ง (3-12 leads) แล้วแต่รุ่นของโฮลเตอร์ ซึ่งทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ละเอียด และชัดเจนกว่า

  2. Apple watch สามารถตรวจหัวใจเต้นช้าได้ต่ำสุดเพียง 50 ครั้งต่อนาที ซึ่งหมายความหากหัวใจเต้นช้ากว่านั้น ความน่าเชื่อถือของผลการตรวจจะต่ำลง แต่โฮลเตอร์หัวใจจะสามารถตรวจหัวใจเต้นช้าแบบมากๆที่ต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาทีได้ดีกว่านั่นเอง

  3. Apple watch สามารถตรวจหัวใจเต้นเร็วสุดได้แค่ 150 ครั้งต่อนาที (อาจได้แค่ 120 ครั้งต่อนาทีในรุ่นเก่าๆ) ซึ่งหากหัวใจเราเต้นเร็วกว่านั้นแอปเปิ้ลวอชจะตรวจไม่ได้ หรือตรวจได้แต่ความน่าเชื่อถือต่ำลง ในทางตรงข้ามโฮลเตอร์หัวใจสามารถตรวจหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้เร็วมากกว่า 200 ครั้งต่อนาที

  4. Apple watch ตรวจหัวใจเต้นผิดจังหวะได้แค่แบบห้องบน (supraventricular tachycardia) ได้แก่ AF (atrial fibrillation, ภาวะหัวใจสั่นพริ้ว) แต่การตรวจโฮลเตอร์หัวใจสามารถตรวจหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบห้องล่างได้ด้วย (ventricular tachycardia) ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการวินิจฉัยโรคใจสั่น และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะบางโรคอาจอันตรวยถึงชีวิตได้ครับ

การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจโฮลเตอร์หัวใจ

  1. อาบน้ำมาให้สะอาด สบายตัวนะครับ เพราะตอนติดเครืองไว้จะไม่สามารถอาบน้ำได้อย่างน้อยหนึ่งวันครับ ติดเสร็จก็พยายามอยู่ห้องแอร์ หรือเปิดพัดลม เหงื่อจะได้ไม่ออกเยอะนะครับ แต่หากเหนียวตัว ก็สามารถใช้ผ้าเช็ดตัวหมาดๆได้นะครับ แค่อย่าไปเช็ดโดนเครื่องและแผ่น electrode ที่หน้าอกก็พอครับ

  2. เจ้าหน้าที่จะติดแผ่นรับสัญญาณหัวใจที่หน้าอก (electrode) 10 จุด ซึ่งตอนติดอาจมีการขัดผิดหรือโกนขนหน้าอกเล็กน้อย จากนั้นจะต่อสายเข้ากับเครื่องรับ ที่จะแขวนไว้ที่คอ หรือติดไว้กับสายคาดเอว

  3. เมื่อติดเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะเปิดการบันทึกซึ่งก็คือ EKG (electrocardiogram หรือ ECG) นั่นเองครับ แต่เป็นแบบต่อเนื่อง ถ้าเทียบกับการตรวจ EKG หนึ่งแผ่นที่จะบันทึกสัญญาณหัวใจได้ 10 วินาที การตรวจโฮลเตอร์หัวใจ 24 ชั่วโมงก็จะเท่ากับการตรวจ EKG ถึง 8,640 แผ่นต่อเนื่องทีเดียวครับ

  4. เมื่อกลับไปบ้าน ก็ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเลยนะครับ ระมัดระวังแค่บางอย่างได้แก่ ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือขณะเสียบชาร์จแบต เพราะอาจมีคลื่นรบกวนได้ รวมถึงไม่เข้าบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กเช่นห้ามทำ MRI รวมถึง X-ray

  5. เมื่อครบกำหนด ก็กลับมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อถอดอุปกรณ์ออก และแพทย์จะนำผลที่บันทึกได้มาตรวจประเมิน เพื่อวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาต่อไปครับ