วิ่งสายพานตรวจหัวใจ

Exercise stress test

การตรวจหัวใจโดยการวิ่งสายพาน EST (Exercise Stress Test) แล้วมันคืออะไรหรอ? ต่างจากการวิ่งลู่วิ่งที่บ้านหรือตามฟิตเนสอย่างไร? ทำไมต้องไปทำ EST? วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันดีมั้ยครับ

เดินสายพานตรวจหัวใจ หรือ วิ่งสายพานตรวจหัวใจ (EST : Exercise Stress Test) สามารถตรวจพบโรคหัวใจที่ซ่อนอยู่ได้ โดยเฉพาะเส้นเลือดหัวใจตีบตัน (CAD : Coronary Artery Disease) โดยมีหลักการคือเมื่อเราออกกำลังกายหัวใจจะทำงานหนักขึ้น บีบตัวมากขึ้น และเต้นเร็วขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีเลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น เมื่อเรามีหลอดเลือดหัวใจตีบซ่อนอยู่ เลือดจะไหลไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่ทัน กล้ามเนื้อหัวใจก็จะมีการการขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เราตรวจพบได้จากกราฟหัวใจที่ผิดปกติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยแพทย์จะเห็นได้จากหน้าจอของเครื่อง EST

นอกจากนี้หากเรามีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกกำลังกายซ่อนอยู่ (exercise induced arrhythmia) แพทย์ก็จะสามารถวินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ด้วย อีกทั้งยังสามารถประเมินสมรรถภาพของร่างกายว่าสามารถออกกำลังกายได้มากน้อยเท่าไหร่? หัวใจเต้นเร็วเท่าใดที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยอีกด้วยนะครับ

การเดินสายพานตรวจหัวใจ (EST) สามารถตรวจโรคหัวใจได้หลายอย่างเลยนะครับ สรุปได้ดังนี้

  1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก

  2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดร่วมกับการออกกาลังกาย

  3. ตรวจสมรรถภาพของหัวใจในนักกีฬา

  4. ใช้ประเมินหัวใจผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดบางชนิด

  5. ใช้ติดตามผู้ป่วยหลังการรักษาโรคหัวใจบางชนิด

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

Coronary Artery Disease

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

Exercise induced Arrhythmia

สมรรถภาพของหัวใจ

Cardio-Pulmonary Performance

การเตรียมตัวก่อนการเดินสายพาน

  1. งดรับประทานอาหารมื้อหนัก ประมาณ 2 - 4 ชั่วโมง รวมถึงงดชา กาแฟ เหล้า เบียร์ รวมถึงบุหรี่ด้วยนะ

  2. ยาประจำตัวให้รับประทานได้ตามปกติ ยกเว้นยาบางชนิดอาจต้องหยุดก่อนตรวจล่วงหน้า 1-2 วัน เช่นยากลุ่ม B-blocker หรือ amiodarone เป็นต้น

  3. หากเพื่อนๆเป็นโรคหอบหืด ให้พกยาพ่นแก้หอบมาด้วยนะครับ

  4. ความสวมชุดและรองเท้ากีฬา

การปฏิบัติตัวขณะวิ่งสายพาน

  1. ผู้ป่วยจะได้รับการติดตัวรับสัญญาณหัวใจ (electrode) บริเวณหน้าอก 10 จุด

  2. ให้ผู้ป่วยเดินบนสายพาน ซึ่งจะปรับความเร็วและความชันอัตโนมัติตามโปรแกรมที่แพทย์ได้ตั้งไว้ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน เช่นคนสูงอายุอาจเลือกโปรแกรมให้สายพานเคลื่อนช้ากว่าในคนหนุ่มสาว เป็นต้น

  3. ขณะทดสอบ เครื่องคอมพิวเตอร์จะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชีพจร และความดันโลหิตให้แพทย์ทราบเพื่อวินิจฉัยโรคตลอดเวลา

  4. หากมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยแน่น หรือหน้ามืดเวียนหัว ให้บอกแพทย์ได้เลยนะครับ แพทย์จะกดหยุดสายพานให้ อย่ากระโดดลงมาจากสายพานเองนะ เพราะอาจบาดเจ็บได้ครับ

หลังจากวิ่งสายพานเสร็จ เพื่อนๆสามารถดื่มน้ำและถ้าหิวก็กินอาหารเบาๆได้ครับ หลังจากแต่งตัวเรียบร้อยแล้ว แพทย์อาจบอกผลการเดินสายพานรวมถึงวางแผนการรักษาต่อให้เพื่อนๆเลย หรือบางครั้งอาจนัดมาฟังผลในครั้งต่อไปครับ

หวังว่าคลิปนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆที่จะเข้ารับการตรวจวิ่งสายพานตรวจโรคหัวใจบ้างนะครับ หากมีคำถามก็สามารถเขียนไว้ในช่องคอมเม้นต์ใต้คลิปเลยนะครับ และก่อนจากกันไปฝากเพื่อนๆช่วยกดติดตามช่องยูทูป DRK Channel เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ กดตามลิงค์นี้เลย พบกันใหม่คลิปหน้า สวัสดีครับ


https://www.youtube.com/channel/UCF3iOWwldQehnS5v7t6a9Rw/SeattleWebSearch?sub_confirmation=1


★☆★ ดีอาร์เค ชาแนล ★☆★

ช่องแห่งรอยยิ้ม อิ่มด้วยสาระ

โดยนายแพทย์ กิจจา จำปาศรี (หมอเต้ กิจจา)