ประดู่

ชื่อสามัญ Burma Padauk, Narra

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd.

วงศ์ PAPILIONACEAE (The Papileon Family)

ชื่ออื่น ๆ ประดู่, ประดู่ไทย, ดู่, ประดู่บ้าน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ประดู่ ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง 25 ม. ผลัดใบก่อนออกดอก เรือนยอดรูปคล้ายทรงกระบอก ยอดอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย เปลือกนอกสีน้ำตาลเทา หนา แตกหยาบๆ เป็นร่องลึก

ใบประดู่ ใบเรียงสลับ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยเรียงตัวแบบสลับจำนวน 7-13 ใบ ใบย่อยรูปไข่ รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 3-6 ซม. ยาว 4-13 ซม. โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลมหรือ oblique ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนก้านใบมีหูใบ 2 อันเป็นเส้นยาว ผิวใบมีขนสั้นๆ ปกคลุมด้านท้องใบมากกว่าด้านหลังใบ ก้านใบอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย

ดอกประดู่ ดอกช่อแบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง โคนก้านมีใบประดับ 1-2 อัน รูปรี กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วยสีเขียว ปลายแยกเป็น 2 แฉกอันบนจาก 2 กลีบติดกัน อันล่างจาก 3 กลีบติดกัน กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง แกมแสด ลักษณะกลีบเป็นรูปผีเสื้อ (papilionaceous) เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็น 2-3 กลุ่ม เกสรเพศเมีย 1 อัน

ผลประดู่ ผลแห้งแบบ samaroid รูปกลมหรือรีแบน ขอบมีปีกบางคล้ายใบโดยรอบ แผ่นปีกบิด เป็นคลื่น ผิวมีขนละเอียด เส้นผ่านศูนย์กลางผล 4-8 ซม. มี 1 เมล็ด

สรรพคุณประดู่บ้าน

1. ใบ รสฝาด ใช้สระผม พอก ฝี พอกแผล แก้ผดผื่นคัน

2. เปลือก รสฝาดจัด สมานบาดแผล แก้ท้องเสีย บำรุงร่างกาย ทำสีย้อมผ้า

3. แก่น รสขมฝาดร้อน แก้คุดทะราด แก้เสมหะ เลือดกำเดาไหล บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ผื่นคัน

4. ผล แก้อาเจียน แก้ท้องร่วง มีรสฝาดสมาน