เทคนิคสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์
(Tips to Improve Critical Thinking)

ในยุคที่มีแหล่งข้อมูลให้เลือกมากมายและรอแค่เพียงหยิบยิบจับข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่สมอง เราจะทําอย่างไรให้ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกคัดกรองเหล่านั้นถูกป้อนเข้าสู่สมองเราได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความเป็นจริง ดังนั้นทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) คือทักษะที่เข้ามาช่วยให้เรารับข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Critical Thinking คืออะไร

ในศตวรรษที่ 20 การศึกษาอิทธิพลของการคิดเชิงวิพากษ์กับการเรียนรู้ก็แพร่หลายมากขึ้น โดยงานวิจัยหลายฉบับยืนยันว่าคนที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จะประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านอาชีพ ความมั่นคงทางการเงิน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ค่อยพบปัญหาขั้นเลวร้ายในชีวิตมากนัก ด้วยเหตุนี้ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นของศตวรรษที่ 21

สำหรับความหมายของ Critical Thinking ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ได้นิยามว่า Critical Thinking หมายถึง การคิดหรือกระบวนการคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพื่อตั้งคําถามและประเมินเกี่ยวกับข้อมูล โดยใช้ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของตนเอง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผล

หลักการสำคัญ

  1. การเปิดใจ (Open Mind) เพื่อทําให้เราสามารถเห็นภาพรวมหรือเห็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากทุก ๆ ด้าน ไม่ปักใจเชื่ออะไรไปก่อนและเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ที่อาจจะทําให้การตัดสินใจเราดีขึ้น

  2. การใช้เหตุผล (Reasoning) มุ่งเน้นการใช้เหตุและผลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร สมเหตุสมผลหรือไม่ น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

  3. การใช้ตรรกะ (Logic) ทําให้เราสามารถเห็นการเชื่อมโยงของข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อใช้อ้างถึงและสรุปความอย่างเป็นเหตุและผลอีกด้วย

  4. การวิเคราะห์ (Analysis) เพื่อจะสามารถประเมินข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การแยกแยะและจัดประเภทข้อมูล การประเมินความถูกต้องต่าง ๆ การทําความเข้าใจ ตลอดไปจนถึงสรุป

กระบวนการสร้าง Critical Thinking

1. สังเกต

สังเกต รับรู้และพิจารณาข้อความหรือภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

2. อธิบาย

อธิบายหรือตอบคําถาม เน้นการใช้เหตุผล แสดงความคิดเห็น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

3. รับฟัง

ฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เน้นการปรับเปลี่ยนความคิดอย่างมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์

4. เชื่อมโยงความสัมพันธ์

เปรียบเทียบความแตกต่างและความคล้ายคลึง จัดกลุ่ม หาเหตุผลหรือกฎเกณฑ์มาเชื่อมโยง

5. วิจารณ์

วิเคราะห์เหตุการณ์ แนวคิด แล้วให้จําแนกหาส่วนดี ส่วนด้อย ด้วยการยกเหตุผลและหลักฐานประกอบ

6. สรุป

พิจารณาการกระทํา หรือข้อมูลต่าง ๆ แล้วสรุปผลอย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐานข้อมูล

เทคนิคการสร้าง Critical Thinking

5 ขั้นตอนการสร้าง Critical Thinking ของ Samantha Agoos

  1. ฝึกตั้งคำถาม

  2. รวบรวมข้อมูล

  3. ลองนำข้อมูลไปใช้ ตรวจสอบว่าข้อมูลนี้ตอบคำถามที่เราสงสัยได้ตรงประเด็นหรือไม่ ลองใช้คำถามพื้นฐาน เช่น “แนวคิดหลัก ๆ ของข้อมูลชุดนี้คืออะไร” “มีสมมติฐานอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกบ้าง” “เราตีความข้อมูลนี้ได้ถูกต้องและสมเหตุสมผลแล้วใช่ไหม”

  4. พิจารณาตีความขั้นลึก ตีความถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

  5. สำรวจมุมมองอื่น ๆ สำรวจว่าคนอื่นคิดอย่างไรบ้างทั้ง แง่บวก แง่ลบ และนำมาสรุปว่าควรตัดสินว่าอะไร

เทคนิค PMI (Plus, Minus and Interesting)

เป็นเทคนิคที่ใช้ฝึกคิด พิจารณาข้อมูลหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ 3 ด้านคือ ด้านดี (Plus) ด้านไม่ดี (Minus) และด้านที่น่าสนใจ (Interesting)

เทคนิค CAF (Consider all factors)

เป็นเทคนิคที่ใช้ฝึกการให้เหตุผลโดยการพิจารณาหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ผู้ตัดสินใจต้องพิจารณาหลาย ๆ องค์ประกอบ ถ้าไม่เช่นนั้นอาจทำให้สิ่งที่คิดว่าตัดสินใจถูกกลายเป็นผิดได้

เทคนิค C&S (Consequences and Sequel)

เป็นเทคนิคที่ใช้ฝึกการคิดถึงผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าผลที่เกิดจากการกระทำ จะเกิดขึ้นกับตัวผู้กระทำเองหรือเกิดขึ้นกับคนอื่น

เรียบเรียงโดย มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์