การกรอกใบสมัคร (Application)

Tips

เคล็ดลับการเขียนใบสมัครให้ประสบความสำเร็จ

Tip#1  Do your homework ทำการบ้านมาล่วงหน้า

Tip#2  Use your best examples เลือกเรื่องราวที่สะท้อนตัวตนของคุณ

Tip#3  Structure your answers เรียบเรียงคำตอบโดยใช้เทคนิค STAR 

Tip#4  Always double-check ตรวจทานก่อนกดส่ง

หลักการการเขียนใบสมัครและการสัมภาษณ์ด้วย STAR Technique

Situation

สถานการณ์

Task

งานที่ได้รับมอบหมาย

Action

สิ่งที่ลงมือทำ

Result

ผลลัพธ์

สถานการณ์ที่คุณเผชิญอยู่ตอนนั้นคืออะไร และทำไมถึงต้องมาทำสิ่งนี้ ซึ่งคำตอบจะแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และอุปสรรคที่คุณเคยเผชิญมา อาจเป็นได้ทั้งเรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ก็ได้

คำถามที่มักใช้ เช่น กิจกรรมที่คุณเคยทำมีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้าง และคุณใช้ความพยายามอย่างไรในการแก้ปัญหานั้นที่ทำให้งานสำเร็จ

หน้าที่ประจำตำแหน่งหรือความรับผิดชอบที่ได้รับ  เช่น เป็นหัวหน้าโครงการ มีบทบาทในการเขียนโครงการ วางแผนการทำงาน ประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คำถามที่มักใช้ เช่น งานที่สำคัญที่คุณรับผิดชอบอยู่นั้นมีอะไรบ้าง

สิ่งที่คุณลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งที่คุณได้รับมอบหมาย (Task) อาจไม่ใช่สิ่งที่คุณลงมือทำ (Action) เสมอไป เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ คุณอาจลงมือทำมากกว่าที่คุณได้รับมอบหมายมาก็ได้

คำถามที่มักใช้ เช่น อยากทราบว่าคุณได้ใช้แรงกายและแรงใจอย่างไรบ้างที่ทำให้งานที่รับผิดชอบนั้น ได้ประสบความสำเร็จด้วยดี 

ผลลัพธ์ที่ได้จากสิ่งที่คุณเล่ามาทั้งหมดคืออะไร หัวข้อสุดท้ายนี้จะเป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งหมด และเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณทำงานนี้ไปเพื่ออะไร สิ่งที่คุณทำประสบความสำเร็จขนาดไหน ซึ่งผลลัพธ์อาจวัดได้หลากหลายตามรูปแบบงาน แต่ควรเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

คำถามที่มักใช้ เช่น จากที่โครงการที่คุณได้เล่ามา เห็นว่าคุณได้ลงทุน ลงแรงไปมาก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

ตัวอย่างที่ไม่ใช้ STAR

ปัญหาที่ผมเจอตอนเป็นหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการของค่าย คือวัตถุดิบที่เตรียมมาเน่าเสีย แล้วคนในค่ายไม่มีอาหารเพียงพอ ด้วยความสามัคคีและความมุ่งมั่นของพวกเรา ในที่สุดพวกเราก็แก้ปัญหาได้สำเร็จ ทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองและมีความสุขมากที่ได้ช่วยให้ชาวค่ายกินอิ่มครบทุกมื้อในค่ายนี้

ตัวอย่างที่ใช้ STAR

S = ตอนที่ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการของค่าย ผมได้รับงบประมาณสำหรับอาหาร 1 สัปดาห์ จำนวน 20,000 บาทสำหรับชาวค่าย 30 คน และได้วางแผนซื้อของสดมาเรียบร้อยแล้ว ปัญหาคือ ผ่านไป 2 วันของสดบางส่วนเน่าเสีย เพราะตอนเลือกซื้อมาไม่ได้ตรวจสอบวันหมดอายุให้ชัดเจน

T = สิ่งที่ผมต้องทำในฐานะหัวหน้าฝ่ายคือคิดวิธีแก้ปัญหา และแบ่งบทสมาชิกฝ่ายทั้ง 4 คนให้ไปทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน

A = สิ่งแรกที่ผมทำไป คือให้สมาชิกฝ่ายคิดเมนูอาหารใหม่ที่ใช้ของแห้งแทนไปก่อน ต่อมาผมได้พูดคุยผอ.โรงเรียนและผู้นำชุมชนว่ามีวัตถุดิบของสดและของแห้งที่ไหนพอให้แบ่งมาที่ชาวค่ายได้บ้าง ให้สมาชิกฝ่ายไปช่วยกันรวบรวม พอได้จำนวนมาแล้ว ก็นำมาจัดสรรกันในฝ่ายและทำเมนูอาหารใหม่ให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ

R = สุดท้ายผมสามารถบริหารจัดการให้มีอาหารเพียงพอกับชาวค่ายทั้ง 30 คน โดยไม่ต้องเบิกงบเพิ่มเติม และรับได้การประเมินความพึงพอใจของชาวค่ายในระดับดีมาก คิดเป็น 85% จากแบบสำรวจ