การสะท้อนตนเอง
(Self Reflection)

ปกติแล้วเราจะใช้ชีวิตไปกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรียน หรือพักผ่อน จนเราไม่มีเวลาที่จะมาคิดทบทวนเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ หากแต่เราใช้เวลา 15 นาทีในแต่ละวันในการสะท้อนตนเอง ประสิทธิภาพในการทำงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 23% ใน 10 วันต่อมา ซึ่งมากกว่าคนที่ไม่ได้สะท้อนคิดเลย

การสะท้อนตนเอง (self-reflection) คืออะไร

  • การสะท้อนตนเอง (self-reflection) คือ การกลับมาสังเกตตนเอง ทบทวนเรื่องราวหรือสิ่งที่เกิดขึ้นต่อตนเองและสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการวิเคราะห์ตนเอง เช่น พฤติกรรมที่ตนเองได้ทำ ความรู้สึกที่ตนเองมี ความคิดที่เกิดขึ้น แรงบันดาลใจ การตัดสินใจที่เกิดขึ้น เป็นต้น

  • การสะท้อนตนเองจะต้องอาศัยความตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) ซึ่งประกอบด้วย

    • การรู้จักตนเอง เช่น สิ่งที่ตนเองชื่นชอบ ถนัด และภาคภูมิใจ สิ่งที่ตนเองควรปรับปรุง เป้าหมายในชีวิต (ระยะสั้น/ยาว) ความต้องการ และแรงขับเคลื่อน จะนำไปสู่การมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน

    • ความฉลาดทางอารมณ์ จะช่วยให้มีสติและตั้งรับต่อการก้าวรุกทางสังคมอย่างรู้เท่าทัน

    • การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม จะทำให้เห็นคุณค่าของตัวเองและสิ่งรอบข้าง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถเผชิญหรือแก้ปัญหากับความขัดแย้งด้วยความเข้าใจ

  • การสะท้อนตนเอง (self-reflection) สามารถสะท้อนได้ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งส่งผลต่อตัวเราในปัจจุบัน ปัจจุบันของเรา รวมถึงหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วยเช่นกัน เช่น สะท้อนตนเองเกี่ยวกับประสบการณ์ในวัยเด็กที่ผ่านมานานแล้ว จนไปถึงสะท้อนตนเองเกี่ยวกับชีวิตในอนาคตที่เราอยากจะให้มันเป็น

การสะท้อนตนเองสำคัญอย่างไร

  • ช่วยเปิดโอกาสให้สมองหยุดคิดจากความวุ่นวาย ความฟุ้งซ่าน และให้เราสังเกตมันพิจารณาความเป็นไปได้ที่หลากหลาย

  • ช่วยให้เข้าใจความเป็นไปของสิ่งรอบตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงาน ชีวิตส่วนตัว ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายใน หรือการรู้จักและเข้าใจตัวเองในมิติต่างๆ

  • ทำให้เท่าทันกับอคติภายใน ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยการรับรู้มุมมองความคิดความเชื่อที่แตกต่าง

  • ทำให้ตอบสนองต่อผู้อื่นได้ดีมากขึ้น เคารพผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

  • ที่สำคัญคือ ทำให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น

แล้วทำไมคนถึงไม่สะท้อนคิด

  • เสียเวลา ไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะทำ มีอย่างอื่นสำคัญกว่า

  • ความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะสะท้อนคิด กลัวว่าจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่สะท้อนออกมา

  • กลัวการนำการสะท้อนคิดไปใช้

  • มีอคติกับการกระทำ ว่าเราจะต้องทำให้ดีแต่สุดท้ายก็พลาด

  • มองไม่เห็นผลลัพธ์ของการลงทุนในการสะท้อนคิดโดยทันที

ฝึกสะท้อนตนเองได้อย่างไร

การฝึกสะท้อนตัวเองจะง่ายขึ้นเมื่อเราสะท้อนตัวเองผ่านปัญญา 3 ฐาน หรือ 3Cs Model

ความคิด
(Head)

ความคิด การวิเคราะห์ ไอเดีย มุมมอง

ความรู้สึก (Heart)

อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น

ร่างกาย
(Hand)

พฤติกรรม หรือการกระทำ

การสะท้อนตนเอง สามารถทำได้โดยหลายวิธีและมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น

การบันทึกอารมณ์และความรู้สึก (Mood Tracker)

การทำตารางบันทึกอารมณ์ของตนเองในแต่ละวัน หรือใช้คำถาม เช่น ให้คะแนนความสุขของตัวเองวันนี้จาก 10 คะแนน พร้อมบอกเหตุผล เลือกตัวละคร/การ์ตูนที่ตรงกับความรู้สึกของเราตอนนี้ พร้อมอธิบาย

การเขียนบันทึกการเรียนรู้ (Reflection writing)

การเขียนสะท้อนตามหัวข้อที่วางไว้ เช่น อะไรที่ท้าทายเราที่สุดที่ได้เรียนรู้ในสัปดาห์นี้ และเพราะอะไรถึงยาก? นิสัยการเรียนอะไรที่ได้ผลที่สุดสำหรับฉัน และได้ผลกับฉันอย่างไร? หรือเขียนแบบ free writing ก็ได้

สุนทรียสนทนา
(Dialogue)

รูปแบบของการพูดคุยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยที่ผู้สนทนาจะมีโอกาสได้เข้าไปสำรวจประสบการณ์, ความเชื่อ, อารมณ์ความรู้สึก ความคิด และอธิบายสิ่งเหล่านั้นให้กับผู้อื่นอย่างเสมอภาค

ศิลปะบำบัด
(Art Therapy)

การนำเทคนิคทางศิลปะมาแสดงความรู้สึกและความคิดออกมา เพื่อช่วยให้เราได้ค้นหาและเปิดรับกับสภาวะอารมณ์ของตัวเอง เช่น ดูแลจัดการความเครียด โดยที่ไม่ต้องมีความสามารถทางศิลปะก็ได้

ตัวอย่างคำถามที่เราสามารถใช้เพื่อสะท้อนตนเอง (แนะนำโดย Courtney E. Ackerman)

  • ฉันกำลังใช้เวลาอย่างคุ้มค่าอยู่หรือไม่?

  • ฉันกำลังละเลยหรือเผิกเฉยเรื่องสำคัญบางเรื่องอยู่หรือไม่?

  • ฉันกำลังมีมุมมองที่ดีและเป็นประโยชน์อยู่หรือไม่?

  • ฉันกำลังใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเองอย่างแท้จริงอยู่หรือไม่?

  • ฉันตื่นในตอนเช้าและพร้อมที่จะใช้เวลาไปกับวันนั้นหรือไม่?

  • ฉันคิดเรื่องลบๆ ก่อนที่จะเผลอหลับไปหรือไม่?

  • ฉันให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่มีอยู่หรือไม่?

  • ฉันดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีแล้วหรือไม่?

  • ฉันอนุญาติให้บางอย่างมาควบคุมตัวเอง ทำให้ตัวเองเกิดความเครียดอยู่หรือไม่?

  • ฉันได้ทำตามเป้าหมายตามที่ตัวเองตั้งใจไว้หรือไม่?

เรียบเรียงจาก มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์