การสื่อสารแบบผู้นำที่ดี
(Leadership Communication)

Winston Churchill กล่าวไว้ว่า "ความแตกต่างระหว่าง การบริหาร และ ความเป็นผู้นำ คือ การสื่อสาร"

การสื่อสารเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับครูและผู้นำ การสื่อสารคือการถ่ายทอดความหมายจากคนหนึ่งไปสู่คนอื่นหรือกลุ่มคนอื่น เพื่อจุดมุ่งหมายกับความเข้าใจร่วมกัน โดยใช้ทั้งภาษาพูดและอื่น ๆ การสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของครูในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในนักเรียน และเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลง
และนำคนอื่นให้มีเป้าหมายร่วมกันได้

การสื่อสารคืออะไร

การสื่อสาร (communication) หมายถึงกระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ส่งสารโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน สัญลักษณ์อื่นใดไปยังผู้รับสาร โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน

แต่ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว หากดูจากวิดีโอจะเห็นได้ว่าการสื่อสารส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและผู้อื่นได้อีกด้วย หรืออาจะสรุปได้ว่า การสื่อสารสร้างการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึก ความเชื่อ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

องค์ประกอบของการสื่อสาร

ผู้ส่งสาร (Source/ Sender): ควรมีคุณธรรม และจริยธรรม มีความซื่อสัตย์ในการสื่อสาร นอกจากนี้ ผู้ส่งสารควรมีทักษะในการสื่อสารและทัศนคติที่ดี มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะสื่อสาร เข้าใจระบบสังคมและวัฒนธรรมของตนเองและผู้รับสารด้วยว่าอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ระดับการศึกษา อายุ ภูมิลำเนา เป็นต้น เพื่อให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลในประเด็นความแตกต่างดังกล่าวของผู้รับสารให้ถี่ถ้วน

สาร (Message): ประกอบไปด้วย

  • วัจนภาษา คือ ภาษาพูดและภาษาเขียน ทั้งนี้ภาษานั้นมีระดับ จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะและสถานที่ด้วย

  • อวัจนภาษา คือ การใช้ภาษาท่าทาง ภาษาตา การแสดงสีหน้า การใช้น้ำเสียง ระยะห่าง และวัตถุภาษา อวัจนภาษาส่งผลต่อการรับรู้ของคนได้ไม่น้อยไปกว่าวัจนภาษา เช่น เราควรใช้การผายมือหรือประสานมือแทนการชี้นิ้ว เพื่อแสดงออกถึงความเปิดเผยและรับฟังความคิดเห็น หรือการใช้น้ำเสียง ในน้ำเสียงคนเราอาจแฝงด้วยการประชด การตำหนิ หรือแม้แต่การขอความช่วยเหลือ ดังนั้นในการสื่อสาร ผู้ส่งสารจึงควรคำนึงถึงอวัจนภาษาของตนเองด้วยเช่นกัน

ช่องทางการสื่อสาร (Channel): ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การสัมผัส การได้กลิ่น และการลิ้มรส อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้นผ่านทางออนไลน์ต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตาม ผู้ส่งสารและผู้รับสารควรเลือกใช้ช่องทางเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์และมีคุณภาพ

ผู้รับสาร (Receiver): ผู้รับสารแต่ละคนมีทัศนคติและความรู้พื้นฐานในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน เติบโตมาในระบบสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ทุกครั้งที่รับสาร ผู้รับสารควรทราบว่าในสารที่ตนรับรู้นั้น อาจมีทัศนคติ ความรู้สึก หรือความคิดส่วนตัวของผู้ส่งสารอยู่ด้วย ดังนั้น ผู้รับสารควรแยกให้ออกว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความรู้สึก หรือทัศนคติส่วนตัวของผู้ส่งสาร

8 เทคนิคการสื่อสารแบบผู้นำที่ดี

  1. เริ่มจากการฝึกวางความคิดให้เป็นระบบง่ายๆ ก่อน เพราะการที่ผู้นำจะสื่อสารให้ชัดเจนได้ ต้องมาจากกระบวนการคิดที่มีระบบ มีความชัดเจนก่อนจะสื่อสารออกไป เพื่อจะทำให้ทุกคนเข้าใจได้ง่าย และเห็นภาพเดียวกัน

  2. ใช้วิธีการสื่อสารที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และเวลา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารภายใน การสื่อสารกับภายนอก ที่สำคัญอย่างยิ่งต้องใช้วิธีสื่อสารที่ถูกต้อง เข้าใจสถานการณ์ และเลือกเวลาให้เหมาะสมที่สุด

  3. การตั้งใจฟังในสิ่งที่คนอื่นสื่อสาร ผู้นำที่ดีจะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจก็ต้องเข้าใจคนอื่นก่อน ไม่คิดไปเอง ถ้าเข้าใจแล้ว ผู้นำก็จะสื่อสารได้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น

  4. การสื่อสารแบบสองทาง (Two way communication) ผู้นำที่ดีควรจะต้องเรียนรู้วิธีการใช้คำถามแบบปลายเปิด เช่น ทำไม เพราะอะไร อย่างไร ไม่ควรใช้คำถามปลายปิด หากเราใช้คำถามที่ดีจะทำให้เกิดผลการตอบรับที่ดีและสามารถต่อยอดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  5. การใช้ช่องทางสื่อหรือเครื่องมือให้เหมาะสม ด้วยยุคปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารหลากหลายช่องทาง ดังนั้น ผู้นำที่ดีควรเลือกให้เหมาะสม ไม่ว่าการสื่อสารผ่านทางอีเมล การใช้โซเชียลมีเดีย ฯลฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของแต่ละกลุ่มที่ต้องการสื่อสาร

  6. เอาใจเขามาใส่ใจเรา หลีกเลี่ยงคำพูดประชดประชัน กระทบกระเทียบ ซึ่งมีแต่สร้างความขัดแย้งและไม่เกิดประโยชน์ ทำให้มีแต่ผลเสียตามมา

  7. ภาษากายเป็นเรื่องสำคัญ ไม่พูดแทรก ไม่ตัดบทหรือเปลี่ยนเรื่องทันที รอให้ผู้อื่นสื่อสารจบ นอกจากนั้นผู้นำที่ดีควรใช้ภาษากายแสดงออกว่าตั้งใจฟังอยู่ เช่น สบตา ยิ้ม พยักหน้าเบาๆ ให้เกียรติผู้สื่อสารก่อนเสมอ

  8. การรักษาคำพูด ผู้นำควรรักษาสัญญา และทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีเสมอ

ขอบคุณข้อมูลจาก Manpower Group

เรียบเรียงโดย มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์