การสื่อสารอย่างสันติ
(Non-Violent Communication)

หากได้พูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ต่างจากเรามาก ๆ
หรืออยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง
เราจะสื่อสาร หรือทำงานกับเขาต่อไปได้อย่างไร?

ทำไมต้อง "สื่อสารอย่างสันติ"

  • ดอกเตอร์มาร์แชล โรเซนเบิร์ก (Marshall Rosenberg) เป็นชาวอเมริกันที่เติบโตมาในเมืองที่มีความขัดแย้งรายวันอย่างดีทรอยต์ ด้วยอยากรู้ถึงรากเหง้าสาเหตุของความขัดแย้ง เขาจึงเลือกเรียนจิตวิทยาคลีนิคและทำงานด้านสิทธิพลเมืองไปด้วย จนทำให้เขาค้นพบเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เรียกว่า การสื่อสารอย่างสันติ หรือการสื่อสารโดยไม่ใช้ความรุนแรง

  • คำถามสำคัญคือ

    • เพราะอะไรคนบางคนจึงตัดขาดจากความกรุณาที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์แล้วใช้ความรุนแรงหรือกดขี่ผู้อื่น

    • แล้วเพราะอะไร คนบางคนยังคงมีใจกรุณา แม้ว่าเขาจะได้รับความรุนแรงหรืออยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย

  • คำตอบที่ดร.มาร์แชลค้นพบคือ "ถ้าเราเข้าใจว่าผู้อื่นก็มีความต้องการในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกับเรา เราก็จะสามารถมีความกรุณาต่อเขาได้"

    • ความต้องการที่ว่านี้ ไม่ใช่ความอยากได้เงิน บ้าน รถ หรือวัตถุสิ่งของภายนอก แต่เป็นความต้องการในส่วนลึกที่มนุษย์ทุกคนต้องการเหมือนกัน

  • ดังนั้น เวลาเกิดความขัดแย้ง การสื่อสารอย่างสันติจึงเน้นให้เรามองที่ความต้องการเป็นหลัก เพื่อให้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ละวางการตัดสิน กล่าวโทษ หรือเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู แล้วหันมาร่วมมือกัน หาทางที่จะทำให้ความต้องการของทุกฝ่ายได้รับการตอบสนอง

หลักการของการสื่อสารอย่างสันติ

  1. มนุษย์ทุกคนมีความกรุณา

  2. เบื้องหลังทุกการกระทำของมนุษย์ คือการตอบสนองความต้องการบางอย่าง

  3. ใส่ใจและให้คุณค่ากับความต้องการของทุกคน

  4. ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์(ความเข้าใจ) ก่อนหาทางแก้ปัญหา

4 องค์ประกอบของการสื่อสารอย่างสันติ

การสังเกต

การพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เพิ่มเติมอคติ การตัดสิน หรือการตีความ


หัวใจหลัก

  • พูดถึงเหตุการณ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา

  • ละวางการตัดสิน การตีความ การต่อว่า การประเมิน

  • เทคนิคคือ ทำตัวเป็นกล้องวีดีโอ


สังเกต หรือ ตีความ?

  • เมื่อวานเธอโกรธฉันอย่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย > ตีความ

  • เย็นวานนี้เวลาเธอพูดกับฉัน เธอไม่มองหน้าฉัน > สังเกต

  • แฟนผมเป็นคนน่ารักมาก > ตีความ

  • ผมได้ยินคุณพูดกับเพื่อนว่า ผมเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง > สังเกต

ความรู้สึก

ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและใจ เป็นผลมาจากความต้องการที่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับการตอบสนอง

เช่น โกรธ เสียใจ น้อยใจ ดีใจ ตื่นเต้น ผ่อนคลาย สบายใจ เบื่อ เพลีย เหนื่อย หิว ง่วง


ความรู้สึก หรือ ความคิด?

  • ผมรู้สึกว่าคุณไม่เข้าใจผมเลย > ความคิด

  • ฉันรู้สึกว่าเขาเอาเปรียบพวกเรา > ความคิด

  • ผมรู้สึกดีใจที่ได้รับเชิญ > ความรู้สึก

  • ฉันรู้สึกว่าฉันถูกหักหลัง > วามคิด

  • ฉันรู้สึกเบื่อที่จะฟัง > ความรู้สึก

ความต้องการ

สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างมีร่วมกัน อาจเป็นความต้องการพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือเป็นคุณค่าที่ลึกซึ้งของมนุษยชาติ


หัวใจหลัก

  • ทุกการกระทำเป็นการตอบสนองความต้องการบางอย่าง

  • ไม่ว่าการแสดงออกของอีกฝ่ายจะเป็นเช่นไร เราสามารถมองลึกลงไปหาความต้องการเบื้องลึกได้เสมอ

  • ระบุความต้องการที่เป็นความต้องการร่วมของมนุษย์ ไม่ใช่วิธีการผิวเผิน


ความต้องการกับวิธีการ

  • เรามีทางเลือกหลายทางในการทำให้ความต้องการในส่วนลึกของเราได้รับการตอบสนอง

    • เช่น หากเราต้องการความสุข สามารถใช้วิธีการได้หลากหลาย เช่น ไปเที่ยว ทำสวน ปฏิบัติธรรม

  • ในระดับความต้องการจะไม่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในระดับวิธีการ

การขอร้อง

การขอในสิ่งที่คาดว่าจะทำให้ความต้องการได้รับการตอบสนอง โดยขอในสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และไม่ใช้รูปประโยคปฎิเสธ


ขอร้อง 2 แบบ

  1. ขอร้องเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เช่น คุณคิดยังไงกับสิ่งที่ผมพูดไป, คุณรู้สึกยังไงกับเรื่องนี้, คุณช่วยทวนได้ไหมว่าคุณได้ยินผมพูดว่าอะไรบ้าง

  2. ขอร้องให้เกิดการกระทำ ระบุให้ชัดเจนถึงบุคคล สถานที่ การกระทำ เวลา และสิ่งของ


หัวใจหลัก

  • ใส่ใจความต้องการของทุกฝ่าย

  • แยกแยะการขอร้องออกจากคำสั่ง

  • ใช้ประโยคบอกเล่า คือบอกในสิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ต้องการ

  • ขอในสิ่งที่ทำได้จริง เป็นรูปธรรม (ชัดเจน)

  • เตรียมใจรับการปฏิเสธกลับมา และพร้อมจะสนทนาต่อไป โดยทำความเข้าใจว่าอีกฝ่ายกล่าวปฏิเสธเพื่อตอบสนองความต้องการใด

ภาษาหมาป่าและภาษายีราฟ

นอกเหนือจากหลักการ การสื่อสารแบบนี้ต้องอาศัยทักษะด้านภาษาเพื่อจะเข้าถึงเนื้อแท้ในใจของอีกฝ่ายอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าถึงความกรุณาของอีกฝ่ายได้มากขึ้น

ภาษายีราฟ

  • คือภาษาที่เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเองและคนอื่น

  • สัญลักษณ์ของการสื่อสารที่เข้าถึงความกรุณา

  • ยีราฟเป็นสัตว์บกที่มีหัวใจโตที่สุด คอยาว เห็นการณ์ไกลมาก

  • พูดเข้าใจความรู้สึก-ต้องการ

ตัวอย่าง “ฉันเบื่อมากเลยที่เวลาฉันเล่าอะไรให้ฟัง คุณไม่เคยตอบฉัน”

    • ยีราฟหูออก (ทำความเข้าใจอีกฝ่าย): คุณ(รู้สึก)ไม่พอใจ คุณต้องการการรับฟังใช่ไหม

    • ยีราฟหูเข้า (ทำความเข้าใจตนเอง): ฉัน(รู้สึก)เหนื่อย ฉันอยาก(ต้องการ)พักผ่อน

ภาษาหมาป่า

  • คือภาษาที่ตำหนิ ตัดสิน ตีความตนเองและคนอื่น

  • สัญลักษณ์การสื่อสารที่กีดกั้นไม่ให้เราเข้าถึงความกรุณา

  • ตัวเตี้ย ติดดิน ไม่มองไกล มองใกล้ตัว

  • สื่อสารแบบกล่าวโทษหรือตำหนิตนเอง หรือคนอื่น ว่ากันไป ว่ากันมา

  • ยิ่งภาษาหมาป่ารุนแรงเท่าใด แสดงว่าผู้พูดมีความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองซ่อนอยู่แรงเท่านั้น

ตัวอย่าง “ฉันเบื่อมากเลยที่เวลาฉันเล่าอะไรให้ฟัง คุณไม่เคยตอบฉัน”

    • หมาป่าหูออก (ตำหนิคนอื่น): คุณน่ะซิ พูดอะไรไม่ค่อยน่าฟัง แล้วก็ชอบมาโทษคนอื่นเขา

    • หมาป่าหูเข้า (โทษตัวเอง): จริงด้วย ฉันนะมันเป็นคนแย่มากไม่รู้จักเข้าสังคมกับใคร

คำแนะนำ

  • เมื่อเราคาดคะเนความต้องการของคนอื่น เขาจะรู้สึกดีขึ้นที่มีคนพยายามจะฟัง แม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจจริงๆก็ตาม

  • หัวใจของการสื่อสารด้วยความกรุณา คือความพยายามที่จะเข้าใจ พยายามที่จะเชื่อมต่อความเป็นมนุษย์ของตนเอง-คนอื่น เห็นคนอื่นเป็นคนเหมือนเรา มีความต้องการเหมือนเรา

  • คุณสามารถฝึกทำความเข้าใจด้วยการ "ฝึกการสะท้อน" เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าได้รับการรับฟัง

    • ทวนเนื้อหา สรุปเนื้อหาตามความเข้าใจของคุณ เช่น คุณคิดว่า...ใช่หรือไม่

    • สะท้อนความรู้สึก เช่น คุณรู้สึก...ด้วยใช่ไหม

    • สะท้อนความต้องการ เช่น คุณอยากได้รับความช่วยเหลือใช่ไหม

  • สิ่งสำคัญคือ คุณสามารถเข้าใจเขาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขา

ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

เรียบเรียงโดย มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์