การวางแผนแบบย้อนกลับ
(Backward Planning)

"Begin With the End in Mind means to start with a clear understanding of your destination."

- Stephen Covey

Backward Planning คืออะไร

Backward Planning หรือในบางครั้งจะถูกเรียกว่า Backward Design หรือ Understanding by Design เป็นกระบวนการวางแผนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นแนวคิดของ Grant Wiggins และ Jay Mc Tighe คิดค้นเมื่อปีค.ศ. 1998 เป็นกระบวนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ มีการกำหนดหลักฐานหลังจากนั้นจึงออกแบบการจัดประสบการณ์เรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะและคุณลักษณะตามหลักฐานที่เป็นผลจากการเรียนรู้ของผู้เรียนที่กำหนดไว้


ด้านล่างเป็นวิดีโอที่อธิบายกระบวนการ Backward Planning ที่ทางทีมงานคัดเลือกมาแล้วว่าอธิบาย Concept ดังกล่าวได้ถูกต้อง คุณไม่จำเป็นต้องดูวิดีโอทุกวิดีโอ คุณสามารถเลือกดูวิดีโอที่เหมาะสมกับคุณเพื่อทำความเข้าใจ

อธิบาย Backward Design เป็นขั้นตอนที่ชัดเจน (หากคุณมีเวลาดูวิดีโอเพียง 1 วิดีโอ และคุณสามารถฟังภาษาอังกฤษเข้าใจ ทีมงานแนะนำให้คุณดูวิดีโอนี้)
วิดีโอนี้จะอธิบายกระบวนการและรายละเอียดของ Backward Planning อย่างละเอียด ไปจนถึงคำแนะนำในการทำในแต่ละขั้นตอน ข้อมูลของวิดีโอนี้จะค่อนข้างมาก เหมาะแก่ผู้ต้องการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
วิดีโอภาษาไทยอธิบายเกี่ยวกับการวางแผนการสอนแบบย้อนกลับ (Backward Planning) จัดทำโดย STEMThai Basic
อธิบาย Concept ของ Backward Planning ด้วยรูปอย่างง่ายๆ ไม่มีคำอธิบาย แต่คุณอาจจะดูเพื่อสรุปความรู้รวบยอดของคุณ (ไม่จำเป็นต้องฟังภาษาอังกฤษเพื่อทำความเข้าใจ)
UbD Model Resource: A Davis (แปล)
คำอธิบายเเป็นภาษาไทย 2 หน้า A4 ที่แปลสรุปมาจากบทความที่อธิบายหนังสือ "Understanding by Design" โดย Wiggins and McTighe แปลและรวบรวมโดย Teach For Thailand ให้เข้ากับบริบทของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ขั้นตอนของการวางแผนแบบย้อนกลับ

ขั้นตอนหลักของการวางแผนแบบย้อนกลับมี 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้

ผู้สอนระบุความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดขึ้นในผู้เรียนเมื่อเรียนจบหน่วยการเรียนรู้ โดยตั้งคำถามสำคัญเพื่อกำหนดเป็นกรอบความคิดหลักว่า เมื่อจบหน่วยการเรียนรู้แล้ว...

  • ผู้เรียนควรรู้อะไร และมีความเข้าใจในหัวข้อความรู้หรือสาระการเรียนที่เป็นแก่นสำคัญในเรื่องใดบ้าง

  • ผู้เรียนควรปฏิบัติและแสดงความสามารถในเรื่องใดบ้าง จนเป็นพฤติกรรมติดตัวคงทนหรือเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Enduring Understanding)

  • สาระสำคัญที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ได้แก่เรื่องอะไรบ้าง เพื่อจะช่วยให้ผู้เรียนดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งการทำงานหรือการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

  • ผู้เรียนควรมีความรู้และเกิดความเข้าใจที่ลุ่มลึกยั่งยืนเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้างที่จะติดตัวผู้เรียนและสามารถนำไปบูรณาการเชื่อมกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ผู้เรียนควรเรียนรู้ในสภาพจริงและ/หรือจัดทำโครงงานตามสาระการเรียนรู้ใดบ้างที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้เรียน

2. กำหนดหลักฐานและวิธีวัดประเมินผลการเรียนรู้

ระบุเครื่องมือที่ใช้วัดประเมินผลและวิธีการวัดประเมินผล โดยเน้นการวัดจากพฤติกรรมการเรียนรู้รวบยอด เพื่อประเมินว่าผู้เรียนสามารถแสดงพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เป็นผลมาจากการมีความรู้ความเข้าใจตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในเป้าหมายหลักของการจัดการเรียนรู้ได้จริงหรือไม่ อะไรคือหลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนรู้และสามารถทำได้ตามที่มาตรฐานกำหนด ทั้งนี้ผู้สอนควรดำเนินการวัดประเมินผลเป็นระยะ เช่น ก่อนเรียน ในระหว่างเรียน และเมื่อสิ้นสุดการเรียน โดยใช้เครื่องมือการวัดประเมินผลที่หลากหลาย เพื่อแสดงถึงความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติของผู้เรียนได้ รวมถึงมีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เช่น การใช้แบบทดสอบย่อย ๆ การสังเกตการทำกิจกรรม การเขียนบันทึกประจำวัน (Learning Log) การสะท้อนผลจากชิ้นงานต่าง ๆ

3. วางแผนการจัดกิจกรรมและเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้

เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และมีการวัดผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ผู้สอนควรวางแผนการเรียนการสอน ว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไรจึงจะสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความรู้ตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ ตามประเด็นต่อไปนี้

  • ผู้เรียนจำเป็นต้องมีความรู้ และทักษะอะไรบ้างจึงจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจหรือมีความสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

  • ผู้สอนจำเป็นต้องสอนและชี้แนะหรือจัดกิจกรรมอะไรบ้างจึงจะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย

  • ผู้สอนควรใช้สื่อการสอน วัสดุอุปกรณ์ และแหล่งการเรียนรู้อะไรบ้างที่จะช่วยกระตุ้นผู้เรียน และเหมาะสมกับการจัดกิจกรรม

  • การกำหนดขอบข่ายสาระการเรียนรู้ รูปแบบกิจกรรม และสื่อการเรียนรู้ มีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพหรือไม่ จะช่วยส่งผลต่อการวัดประเมินผลได้ชัดเจนหรือไม่

แม้ว่าคุณจะทำตามขั้นตอน 3 ขั้นตอนนี้แล้ว การตรวจสอบความสอดคล้องเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยคุณอาจจะตรวจสอบด้วยตนเอง หรือให้เพื่อนคนอื่นช่วยตรวจสอบก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกกิจกรรมของคุณนำไปสู่ความสำเร็จของนักเรียนที่จะสร้างผลกระทบสูงสุดต่อนักเรียนจริงๆ

สรุปข้อแตกต่าง

การจัดการเรียนรู้แบบเดิม

  • กำหนดเป้าหมาย ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ กำหนดวิธีการประเมิน

  • เขียนแผนการจัดการเรียนรู้จากมาตรฐานการเรียนรู้สู่กิจกรรมการเรียนรู้ วิธีการประเมิน

  • กรอบแนวคิด: ออกแบบโดยใช้วิชา เนื้อหาเป็นตัวตั้ง โดยกำหนดเป้าหมายที่ความรู้ ทักษะและทัศนคติตามที่กำหนดในวิชา

การจัดการเรียนรู้แบบ Backward Planning

  • กำหนดเป้าหมาย ชิ้นงานและวิธีการประเมินมาสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

  • เขียนแผนการจัดการเรียนรู้จากมาตรฐานการเรียนรู้ สู่ชิ้นงานและวิธีการประเมิน ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้

  • กรอบแนวคิด: ใช้การออกแบบการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาทักษะหลักของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง (Core competency) เน้นการประเมินจากผลงานที่สะท้อนความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่แท้จริงที่เป็นผลจากการเรียนรู้ในรายวิชาของผู้เรียน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://sites.google.com/a/pharm.chula.ac.th/nwatkrrm-kar-suksa/6-naew-ptibati-thi-di-kar-reiyn-kar-sxn/kar-xxkbaeb-backward-design

เรียบเรียงจาก มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์