การฟังอย่างตั้งใจ
(Active Listening)

"คนส่วนใหญ่ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจ แต่ฟังเพียงเพื่อตอบโต้กลับไป"

– Stephen R. Covey

โดยปกติแล้วคนเราจะจำในสิ่งที่ได้ยิน เพียงร้อยละ 25 – 50 เท่านั้น ดังนั้นการฟังด้วยใจคือ ทักษะที่สำคัญมากที่ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นอีกด้วย

ระดับของการฟัง

เราสามารถแบ่งระดับของการฟังได้ เป็น 5 ระดับดังนี้

  • ระดับ 1 ไม่สนใจฟัง (Ignoring) เช่น การไม่สบตาผู้พูด หรือทำท่าทางกริยาที่ยุ่งๆ อยู่ไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า การฟังไปเล่นโทรศัพท์ไป เหมือนผู้พูดยืนพูดคนเดียวอยู่หน้ากระจก

  • ระดับ 2 แกล้งฟัง (Pretend listening) รับคำ พยักหน้า แต่พอให้ทบทวนว่าได้ยินอะไรบ้าง กลับตอบไม่ได้เพราะไม่ได้ฟังจริงๆ

  • ระดับ 3 เลือกฟัง (Selective Listening) เลือกฟังเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือเรื่องที่ตนเองคิดว่ามีประโยชน์ เรื่องใดไม่สนใจ ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ก็ไม่ใส่ใจ

  • ระดับ 4 ตั้งใจฟัง (Attentive Listening) ฟังด้วยหู อยู่กับปัจจุบัน ได้ข้อมูลครบถ้วนตามที่ได้ฟัง

  • ระดับ 5 ฟังแบบเข้าอกเข้าใจ (Empathic Listening) ฟังแบบเข้าใจองค์รวมทั้งเนื้อหา อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด โดยผู้ฟังไม่ใช่ความเป็นตัวตนของตัวเองไปตัดสินหรือประเมินใดๆ คิดตามอย่างมีสติ อยู่กับปัจจุบัน การฟังระดับนี้นอกจากผู้ฟังจะสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนแล้ว ยังสามารถเข้าใจความรู้สึก ความคิด หรืออารมณ์ของผู้พูดได้อีกด้วย

Active Listening คืออะไร

สมาพันธ์การโค้ชนานาชาติ (ICF) ได้ให้ความหมายของ Active Listening ว่าเป็น “ความสามารถในการให้ความสนใจอย่างจดจ่อต่อทั้งคำพูด และสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ได้พูดออกมา เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามจะสื่อความหมาย”

Active Listening จึงไม่ใช่แค่การ ‘ได้ยิน’ เสียงที่เพียงแค่ผ่านหูเข้ามาแล้วก็ผ่านไป แต่คือการ ‘ได้ฟัง’ เสียงที่ถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกก้นบึ้งของจิตใจจริง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยหลัก 3A

  1. Attitude (ทัศนคติ) การเปิดใจรับฟังโดยปราศจากอคติ เพราะจะทำให้สามารถรับฟังเรื่องราวทั้งหมดจนจบได้อย่างเข้าใจจริงๆ

  2. Attention (ความสนใจ) ตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด รอฟังเรื่องราวทั้งหมดของอีกฝ่ายให้จบก่อนนำมาคิดและประมวลผลตาม

  3. Adjustment (การปรับตัว) หลังจากรับฟังทุกอย่างแล้ว ควรปรับอารมณ์และความคิดให้เหมาะสม และเลือกวิธีการตอบกลับหรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม สิ่งคำคัญคือต้องผ่านการพิจารณา ประเมิน และไต่ตรองสิ่งที่ได้รับฟังมาก่อนตอบกลับออกไป เพื่อให้สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ หรือเปลี่ยนแปลงตามมา

เทคนิคการฟังอย่างตั้งใจ

สนใจผู้พูด

  • เมื่อฟังใครพูดก็มุ่งเน้นความสนใจไปยังคนที่กำลังพูด เริ่มจากมองไปยังผู้พูด และคอยสังเกตภาษากายหรือน้ำเสียงของเขาด้วย

  • ถ้าคิดว่ามีอะไรที่จะมากวนจิตใจของเราก็ให้ทิ้งไปก่อน อย่าคิดตอบโต้ระหว่างฟัง และคอยหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะรบกวนสมาธิคุณ

  • และสุดท้ายคือการอ่านภาษาท่าทางของผู้พูดให้ได้ว่าเขาสื่อความว่าอย่างไร

แสดงให้เห็นว่าเรากำลังฟัง

  • ทำได้ตั้งแต่การพยักหน้าเป็นระยะๆ (แต่อย่าทำบ่อยจนคล้ายการเห็นด้วยไปเสียหมด) มองตา ยิ้มให้หรือแสดงออกทางสีหน้าบ้าง ทำให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราสนใจในสิ่งที่เขาพูด และช่วยให้ผู้พูดมีกำลังใจว่าไม่ได้พูดอยู่คนเดียว ด้วยการตอบรับบ้างเป็นครั้งคราว

  • จับใจความสำคัญจากเรื่องที่ผู้พูดอาจเล่าวกไปวนมา หรือออกนอกประเด็น ด้วยการย้ำเป้าหมายการพูดคุยเพื่อกลับเข้าประเด็นต่อ

สะท้อนกลับไปบ้าง

  • เมื่อเราฟัง เราควรจะทบทวนสิ่งที่ได้ยินเป็นระยะ ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทวนสิ่งที่พูดว่า “ที่ได้ยินมานี่ หมายความว่า…” “แบบนี้มันก็แปลว่า…” ทั้งนี้รอฟังให้จบแล้วจึงขอทบทวนสิ่งที่ได้ยินเพื่อเช็กความถูกต้อง

  • เมื่อรู้สึกยังไม่แน่ใจ หรือไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร สามารถตั้งคำถามกลับไป เช่น “ตรงที่บอกว่า… อันนี้หมายความว่ายังไงนะครับ” หรือใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้ผู้พูดมีโอกาสอธิบายและขยายความเรื่องที่ต้องการสื่อสาร

อย่าด่วนตัดสิน

  • การฟังไม่ใช่การหาทางตอบโต้

  • หลีกเลี่ยงการกวนใจผู้พูด ปล่อยให้เขาได้พูดจนจบก่อนที่จะโต้แย้งหรือตั้งคำถามยากๆ

  • ระหว่างที่ได้ยินความคิดเห็นอะไร อย่ารีบเร่งไปถกเถียงจนกว่าคุณจะฟังจนครบถ้วนแล้วจริง ๆ

  • รวมถึงอดทนที่จะไม่พูดขัด เผลอให้คำแนะนำ หรือเปลี่ยนประเด็น

ตอบกลับอย่างเหมาะสม

  • การตอบกลับควรจะทำอย่างมีศิลปะและจริงใจ ไม่ใช่การแสดงว่าเห็นด้วยในสิ่งที่คุณไม่ได้เห็นด้วยจริง ๆ

  • การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นสามารถทำได้ ซึ่งก็ต้องเป็นความคิดเห็นที่มีเหตุผลประกอบและอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน

  • เปิดโอกาสให้ผู้พูดคิดหาทางเลือกและตัดสินใจเลือกวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ด้วยตนเอง

ศึกษาเกี่ยวกับ Active Listening เพิ่มเติมได้ที่

ขอบคุณข้อมูลจาก www.coachthai.com, www.changemakers.com

เรียบเรียงโดย มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์