การประชุมแบบมีประสิทธิภาพ
(Effective Meeting)

การทำงานในยุคปัจจุบันมีลักษณะการทำงานเป็นทีม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ คือ การประชุม หากการประชุมดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพย่อมสูญเสียทรัพยากรและประสิทธิผลที่จะเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำไปอย่างน่าเสียดาย

ขั้นตอนการประชุม

การวางแผนล่วงหน้า

  • การกำหนดวัตถุประสงค์ ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการประชุมให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบทุกครั้ง

  • การกำหนดผู้ที่ควรเข้าร่วมประชุม ผู้จัดการประชุมต้องกำหนดตัวบุคคลที่จะเชิญประชุมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การประชุม

  • การจัดวาระการประชุมหรือหัวข้อในการประชุม ควรจัดลำดับความสำคัญของแต่ละวาระ พร้อมประมาณเวลาที่จะใช้ เพื่อให้การประชุมสำเร็จตามวัตถุประสงค์

  • กำหนดการประชุม และการเชิญเข้าร่วมประชุมก่อนล่วงหน้า โดยเนื้อความในหนังสือเชิญประชุมควรประกอบไปด้วย วัตถุประสงค์การประชุม ผู้เข้าร่วม วัน/เวลา/สถานที่ประชุม

  • การเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ เตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนประชุม เช่น slide ที่จะใช้ ต้องคำนึงไว้เสมอว่า หากอุปกรณ์ไม่พร้อมระหว่างการประชุมจะทำให้เสียเวลาได้

การดำเนินการประชุม

การประชุมที่ดีต้องมีพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของทุกคน มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการดำเนินการประชุมตามเวลาอย่างคุ้มค่า ทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุมและการตัดสินใจ

การปิดการประชุมและติดตามผล

หลายคนพบว่าการประชุมเป็นการเสียเวลา เพราะไม่ได้ข้อสรุปอะไรที่ชัดเจน ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนสรุปประเด็นสำคัญ และจัดทำรายงานการประชุมเพื่อสรุปให้ชัดเจนว่าใครมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อไป เพื่อติดตามผลได้ในภายหลัง

บทบาทในการประชุม

ในการประชุมแต่ละครั้ง จะต้องมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ในการประชุมเพื่อให้การประชุมสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ซึ่งบทบาทในการประชุมมีดังนี้

  1. ผู้ดำเนินการประชุมหรือผู้นำการประชุม มีหน้าที่ดึงกลุ่มให้มุ่งไปที่ประเด็นเดียวกัน สรุปประเด็น มุ่งมั่นต่อโจทย์ที่ได้รับ

  2. ผู้จดรายงานการประชุม ทำหน้าที่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม

  3. ผู้บันทึกขึ้นกระดาน หากมีการอภิปรายในที่ประชุม ให้มีผู้บันทึกขึ้นกระดาน หรือขึ้นจอ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและอภิปรายได้อย่างต่อเนื่อง

  4. ผู้รักษาเวลา ทำหน้าที่รักษาเวลาให้เป็นไปตามวาระการประชุม เช่น แจ้งเวลาเรื่อยๆ ย้ำเตือนเมื่อเวลาใกล้หมด

  5. สมาชิกผู้เข้าร่วมในการประชุม สมาชิกต้องมีส่วนร่วมในการประชุมอย่างเต็มที่ แสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

บทบาทการเป็นผู้นำการประชุม

ความสำเร็จในการเป็นผู้นำประชุมมาจาก 2 ปัจจัย ดังนี้

บุคคลิกภาพและทักษะ

  • สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

  • ให้โอกาสสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เห็นคุณค่าในไอเดียของผู้อื่น

  • มีการเตรียมตัวมาล่วงหน้า นำประชุมได้อย่างมีลำดับขั้นตอนและเป็นระบบ

  • มีความชัดเจนในขั้นตอนการคิด และตัดสินใจด้วยเหตุผล

  • รับฟังทุกฝ่าย ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

  • มีทักษะในการพูดและสรุปประเด็นให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยง่าย

  • ฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ ไม่เห็นด้วยอย่างสุภาพ

เทคนิคและวิธีการ

  • ก่อนการประชุม ควรวางแผนการประชุมหรือมีการเตรียมตัวมาก่อน เพื่อให้มีการประชุมมีประสิทธิภาพ

  • ช่วงเปิดการประชุม เข้าร่วมประชุมให้ตรงเวลา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม อธิบายวัตถุประสงค์ และแนะนำผู้เข้าร่วมประชุม

  • ช่วงนำเข้าสู่หัวข้อต่าง ๆ ต้องเรียงตามหัวข้อการประชุมที่กำหนดไว้ ควบคุมเวลาให้ได้ตามกำหนด เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น สรุปประเด็นที่สำคัญ

  • ช่วงปิดการประชุม ควรสรุปผลการตัดสินใจในการประชุม และมอบหมายให้ชัดเจน ปิดประชุมให้ตรงตามเวลาที่แจ้งไว้ และขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุม

7 เทคนิคการประชุมแบบออนไลน์

มีกำหนดการที่ชัดเจน

    • ก่อนเริ่มนัดหมายหรือนัดแนะผู้เข้าร่วม ควรกำหนดวาระการประชุมให้เรียบร้อย ว่าต้องการประชุมในเรื่องใด มีหัวข้ออะไรบ้าง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนทราบ และเตรียมตัวหาข้อมูล เตรียมตอบคำถามในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ จะช่วยให้ทุกคนพร้อมสำหรับหาทางออกให้กับปัญหาในวาระต่าง ๆ ได้รวดเร็ว การประชุมจะไม่ยืดเยื้อ

    • ก่อนประชุมออนไลน์ทุกครั้งต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัว ควรแจ้งส่งทางอีเมล ระบุวันและเวลา โปรแกรมที่ใช้ พร้อมวาระการประชุมให้เรียบร้อย ทางที่ดีควรแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1-2 ชั่วโมง (ยกเว้นแต่ว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน) แล้วอย่าลืมส่งอีเมลหรือไลน์เตือนกันลืมก่อนเริ่มประชุมสัก 10 นาที

เตรียมและตรวจสอบเครื่องมือที่ต้องใช้ก่อนเข้าประชุม

    • ไม่ว่าจะประชุมผ่านทาง Zoom, Skype หรือ FaceTime ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนควรเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยการรีสตาร์ทคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 20 นาทีก่อนการประชุม รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่ากล้อง ไมโครโฟน ระบบอินเทอร์เน็ตใช้งานได้

    • ควรมีการซักซ้อมให้คุ้นเคยกับการใช้โปรแกรมในเบื้องต้น เช่น การล็อกอิน-ล็อกเอ้าท์ การแชร์หน้าจอ การเปิด-ปิดไมค์ หรือเปิด-ปิดกล้อง เพื่อที่ถึงเวลาประชุมออนไลน์จริง ๆ แล้ว ทุกคนจะได้เข้าใช้งานกันได้แบบราบรื่น

    • เสียงเป็นเรื่องสำคัญมาก สามารถเตรียมตัวได้โดยการมีหูฟัง หรือไมโครโฟนแยก รวมไปถึงการปิดเสียงในช่องของตัวเองเมื่อไม่ได้พูดซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ผู้อื่นได้ยินเสียงของผู้ที่กำลังพูดได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ลดการรบกวน

    • เลือกสถานที่ในการประชุมให้เหมาะสม

      • เป็นที่ที่สัญญาณ Wifi เข้าถึงและเสถียร เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดการเชื่อมต่อระหว่างประชุม

      • เป็นสถานที่เงียบ เช่น นั่งอยู่ในห้องส่วนตัว และไม่มีเสียงดังรบกวนในระหว่างการประชุม หากไม่สามารถหาที่เงียบได้ ควรปิดไมโครโฟนเอาไว้ และเปิดเฉพาะตอนที่ต้องพูดเท่านั้น เพื่อไม่ให้เสียงจากสภาพแวดล้อมไปรบกวนผู้เข้าประชุมคนอื่นๆ

      • มีแสงสว่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการนั่งหันหลังให้กับหน้าต่างที่มีแสงจ้า แนะนำให้แสงหลักอยู่หลังกล้อง จะช่วยทำให้หน้าเราสามารถเห็นได้ชัดเจน

    • ปิดการแจ้งเตือนเพื่อไม่ให้มีข้อความแจ้งเตือนทางอีเมล วางโทรศัพท์ไว้แล้วปิดเสียงปิดระบบสั่นชั่วคราวเพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น

ตรงต่อเวลา เริ่มและจบการประชุมให้ตรงเวลา

    • เริ่มประชุมออนไลน์ให้ตรงเวลา หากใครเข้าประชุมเลทก็ให้เริ่มประชุมไปก่อน เพื่อที่คนเข้ามาก่อนจะได้ไม่ต้องรอนาน

    • สามารถกำหนดระยะเวลาการประชุมเป็นเวลา 30-60 นาที และจัดสรรเวลา 10 นาทีสำหรับแต่ละประเด็นของวาระการประชุม ด้วยวิธีนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีสมาธิและการประชุมจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง และอย่าให้มีประชุมที่ยาวนานจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้บรรยากาศการประชุมน่าเบื่อ

ให้ทุกคนมีบทบาท

    • อาจจะมีการกำหนดผู้นำประชุมที่ทำหน้าที่เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพในเวลาที่เหมาะสม

    • พยายามรวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกันโดยมอบหมายงานที่แตกต่างกัน เช่น คนจดบันทึก คนจับเวลา คนอำนวยความสะดวก คนส่งหนังสือรายงานการประชุม และหน้าที่อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องจัดการ

    • แสดงสัญญาณเมื่อต้องการจะพูด เช่น การยกมือ โดยบางโปรแกรมอาจจะมีการเตรียมปุ่มไว้สำหรับกรณีนี้ หรือมีอีกทริคทำให้ได้ง่าย ๆ คือการส่ง Emoji เป็นรูปมือ เพื่อให้ผู้ควบคุมการประชุมรับทราบ

สังเกตผู้เข้าร่วมประชุมอยู่เสมอ

    • การประชุมออนไลน์จำเป็นต้องให้ความสนใจกับผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่าการประชุมแบบปกติ เช่น การจดบันทึกว่าผู้เข้าร่วมประชุมคนไหนพูดเรื่องอะไรบ้าง พูดเมื่อไหร่ และใครยังไม่เคยพูดบ้าง ซึ่งคนที่ยังไม่เคยพูดอะไร ควรมีการเรียกชื่อเพื่อสอบถามความคิดเห็น เพราะบางครั้งเขาอาจอยากพูด แต่จำนวนคนที่มากเกินไปจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

    • ควรฟังอย่างละเอียดและถี่ถ้วน รวมถึงสังเกตน้ำเสียง การตอบกลับอื่น ๆ เท่าที่พอสังเกตได้ หากมีช่วงที่ทุกคนหาคำตอบไม่ได้กับประเด็นนั้น ๆ สักที ก็ไม่ควรทิ้งช่วงให้บทสนทนาเงียบไปเฉย ๆ พยายามหาบทสรุป ไม่ก็ทางแก้ปัญหาอื่น ๆ เพื่อให้การประชุมกระชับ และให้ทุกคนได้กลับมามีส่วนร่วมในหัวข้ออื่น ๆ

สรุปข้อมูลการประชุมทุกครั้ง

    • เพื่อให้ทีมเข้าใจตรงกัน เห็นเป้าหมายเดียวกัน และไม่พลาดสิ่งที่ต้องทำ ควรสรุปทุกประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในที่ประชุมว่าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันไหม และหลังจากที่ประชุมเสร็จ อย่าลืมส่งอีเมลรายงานการประชุมตามหลังไปทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือเทคนิคการประชุมแบบมืออาชีพ : Meeting that Works บริษัทเอ็กซเปอร์เน็ทจำกัด

เรียบเรียงโดย มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์