๕ องค์ประกอบที่สำคัญของการตลาดสินค้าเกษตรและสมุนไพร (ฉบับย่อ)

๕ องค์ประกอบที่สำคัญของการตลาดสินค้าเกษตรและสมุนไพร (ฉบับย่อ)

๑.ผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพร สินค้าแปรรูป

• คนขาย (เกษตรกร) ต้องนำเสนอคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรไปยังผู้ซื้ออย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวง รวมทั้งความซื่อตรงในด้านจำนวน ขนาด น้ำหนัก (หน่วยวัด)

• การนำเสนอขายสินค้าที่มีคุณภาพ จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ อันนำไปสู่การซื้อซ้ำในครั้งต่อไปหรือจำนวนการสั่งซื้อที่มากขึ้น

• การนำเสนอในสิ่งที่แตกต่างจะทำให้ผู้ซื้อมีความต้องการมากขึ้น

• ภาชนะบรรจุ หีบห่อ ช่วยสร้างความน่าสนใจ

• โลโก้และฉลากสินค้า (Brand) ช่วยให้เกิดการจดจำ และการบอกต่อ

๒.ราคา

• คนขายต้องการทำกำไร คนซื้อต้องการความคุ้มค่าจากเงินค่าจ่ายออกไป

• การตั้งราคาไม่ควรเอาเปรียบผู้ซื้อมากเกินไป ราคาควรเหมาะสมกับปริมาณและคุณภาพ

• ผู้ซื้อจะทำการตัดสินใจ หากคิดว่าราคาสินค้ามีความคุ้มค่ากับคุณภาพของสินค้าที่ได้รับ

๓.ช่องทางการซื้อ-ขาย

• ช่องทางในการซื้อ-ขายสินค้าต้องมีความสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง

• ความสะดวกสบายของสถานที่เพิ่มโอกาสในการซื้อ-ขาย

• ในยุคปัจจุบันช่องทางการซื้อ-ขายแบบออนไลน์สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขายมากขึ้น รวมทั้งการสั่งซื้อและการชำระเงิน

๔.การนำเสนอ

• การนำเสนอที่ดีช่วยสร้างความน่าสนใจให้แก่สินค้า

• การนำเสนอที่ดีสามารถตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมของผู้ซื้อ จะนำมาซึ่งยอดขายและผลกำไร

• หลายครั้งที่การนำเสนสินค้าจำเป็นต้องใช้กิจกรรมการลด แลก แจก แถม เป็นการสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งวิธีการแถมย่อมดีกว่าการลดราคา แม้แต่สินค้าเกษตรคนซื้อก็ยังขอแถม เพราะการได้ของเพิ่มเท่ากับต้นทุนการจ่ายที่ลดลง ดังนั้นในการขายสินค้าควรยึดหลัก “ได้เงินมากเข้ากระเป๋า” นั่นคือ เมื่อได้ยอดรวมราคาขายแล้วควรใช้วิธีการแถม มากกว่าการลดราคา

๕.การบริการ

• การซื้อ-ขายในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการบริการมากกว่าในอดีต ซึ่งการบริการที่ว่านี้หมายถึง การให้บริการตั้งแต่ก่อนเริ่มประโยคแรกของการเจรจา อาทิเช่น การให้บริการน้ำดื่มหรือห้องสุขาของร้านค้าประชารัฐ ก่อนที่ลูกค้าจะเข้ามาซื้อสินค้าในร้านเหมือนเช่น ปตท. ที่มีห้องน้ำสะอาดไว้บริการตลอดเวลา เพื่อสร้างความประทับใจและดึงดูดให้มีคนเข้ามาใช้บริการ

นอกจากความรู้เรื่องการตลาด ที่จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพร หรือสินค้าเกษตรแปรรูปที่ผลิตจะขายได้มาก ๆ และเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าคือ การรู้พฤติกรรมของผู้ซื้อว่ามีพฤติกรรมในการกิน การใช้งานอย่างไร ก็จะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อได้อย่างตรงตามต้องการได้มากยิ่งขึ้น (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://doctorpotp.blogspot.com/2015/04/blog-post.html)

เอกสารประกอบการบรรยาย "การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ชุมชนนวัตกรรมการตลาดและแปรรูปเกษตรอินทรีย์ จังหวัดปราจีนบุรี จัดโดยศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคตะวันออก วิทยากร ดร.พจน์ พจนพาณิชย์กุล เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๑