ประเทศไทย 4.0 เข้าใจได้ไม่ยาก

ประเทศไทย 4.0 เข้าใจได้ไม่ยาก

ดร.พจน์ พจนพาณิชย์กุล[1]

ประเทศไทย 4.0 เป็นโมเดลใหม่เพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรรม รวมทั้งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ประเทศไทย 4.0 เป็นการเปรียบเทียบเพื่อการพัฒนาประเทศโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แบ่งการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาในอดีตออกเป็น ออกเป็น 3 ยุคสมัย ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่เปรียบเทียบให้เป็นยุคประเทศไทย 4.0 โดยที่แต่ละยุคของประเทศไทยตั้งแต่ประเทศไทย 1.0 จนถึงประเทศไทย 3.0 สามารถทำความเข้าใจได้จาก

ประเทศไทย 1.0 คือ ประเทศไทยในอดีตที่เน้นการทำการเกษตรและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลักโดยเฉพาะการส่งออกข้าว ซึ่งในอดีตเรามักจะคุยเคยกับ “เพลงกสิกรแข็งขัน” ที่จะเปิดกันในยุคนั้นในตอนเช้าและก่อนข่าวภาคค่ำ ซึ่งเนื้อเพลงจะพูดถึงความเป็นชาติไทยที่รุ่งเรืองอำนาจด้วยอาชีพกสิกรรม นั่นคือสิ่งที่บอกให้รู้ว่าเรารู้ตัวเองมานานแล้วว่าชาติไทยจะเข้มแข็งด้วยอาชีพเกษตรกรรม แต่เราหลงไปกับอุตสาหกรรมจนลืมความเป็นตัวตนของชาติตนเอง ยุคนี้เป็นยุคที่ประเทศมีรายได้ต่ำขับเคลื่อนด้วยทรัพยากร การสร้างรายได้เพิ่มใช้วิธีการเพิ่มผลผลิต

ประเทศไทย 2.0 คือ ประเทศไทยในยุคที่เริ่มการนำอุตสาหกรรมเบามาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดอาชีพรับจ้างในโรงงานทอผ้าและอาชีพเย็บจักร ด้วยความเป็นศิลปินของคนไทยในยุคนี้จึงเกิด “เพลงฉันทนาที่รัก” (ของรักชาติ ศิริชัย) จนหลายคนสงสัยว่าสาวโรงงานสมัยนั้นส่วนใหญ่ชื่อ “ฉันทนา” หรือเปล่า เป็นยุคคนไทยมีการเดินทางจากชนบทเข้ามารับจ้างทำงานเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทนการทำนา และเป็นยุคหนึ่งที่ดินแดนในแถบภาคอีสานประสบปัญหาภัยแล้งไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกจนต้องหันมาขายแรงงาน เป็นยุคที่ประเทศมีรายได้ปานกลาง

ประเทศไทย 3.0 คือ ประเทศไทยในช่วงเริ่มต้นของยุค 3.0 ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีวลีฮิตติดปากว่า “ไม่มีปัญหา” (No Problem) และดำเนินนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยมีความต้องการที่จะพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น “NICs” โดยคาดว่าประเทศไทยจะเป็น "เสือตัวที่ 5" ของเอเชีย ทำให้ราคาที่ดินมีอัตราเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมหนักเกิดการเพิ่มพื้นที่ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม (นิคมอุตสาหกรรม, เขตอุตสาหกรรม ฯลฯ) มีการส่งเสริมการส่งออก การลงทุนและการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสุดท้ายก่อเกิดปัญหามลภาวะขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งเมื่อภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ก็เกิดการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศทำให้หลายโรงงานกลายสภาพเป็นโรงงานร้าง ที่ดำเนินการอยู่ก็เกิดขยะและของเสียจากภาคอุตสาหกรรมขยายไปทั่วเป็นปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังเกิดช่องว่างของรายได้และโอกาสระหว่างคนจนและคนรวยในประเทศ สุดท้ายังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

ประเทศไทย 4.0 คือ โมเดลที่ใช้ในการพัฒนาประเทศด้วยความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่สมดุลในการพัฒนา จึงประกาศโมเดลประเทศไทย 4.0 เป็นเครื่องมือในการนำประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งและยั่งยืน พัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

การอธิบายโมเดลประเทศไทย 4.0 ในครั้งนี้เป็นการอธิบายเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและจดจำ ซึ่งผู้บรรยายมีความประสงค์ให้ผู้รับฟังเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ และสามารถนำไปอธิบายต่อได้เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศร่วมกัน

(เมื่อ 27 มกราคม 2561)

[1] การบรรยายให้ความรู้แก่คณะผู้บริหาร ครู อาจารย์ และบุคลากร โรงเรียนวัดดอนทอง ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2561