ลูกน้องแบบไหนที่เจ้านายต้องการ

ลูกน้องแบบไหนที่เจ้านายต้องการ

ดร.พจน์ พจนพาณิชย์กุล[1]

ในชีวิตการทำงานทุกคนล้วนต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การทำงาน หรือสายอาชีพที่ตนปฏิบัติงานอยู่ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเริ่มงานในตำแหน่งหน้าที่ใดก็ตาม ซึ่งความก้าวหน้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ความก้าวหน้าที่เป็นเรื่องของตัวเงินและความก้าวหน้าที่ไม่ใช่ตัวเงิน ความก้าวหน้าที่เป็นเรื่องของตัวเงินอันได้แก่ เงินเดือน สวัสดิการ เงินประจำตำแหน่ง โบนัส เป็นต้น ส่วนความก้าวหน้าที่ไม่ใช่ตัวเงิน ได้แก่ ตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น รถยนต์ประจำตำแหน่ง หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ได้รับ เป็นต้น ซึ่งความก้าวหน้าเหล่านี้จะได้มาจากความเห็นชอบหรือยินยอมโดยผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าของกิจการ หรือที่เรียกว่า “เจ้านาย” นั่นเอง คำว่า “เจ้านาย” นั้นเป็นคำเรียกที่ใช้กันติดปากมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมแบบเจ้าขุนมูลนาย แต่สำหรับการบริหารงานในปัจจุบันผู้บริหารจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับพนักงานหรือผู้ปฏิบัติงาน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “การจูงใจในการทำงาน” กันมากขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงหันมาใช้คำว่า “ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างาน” แทนคำว่า “เจ้านาย” ซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมากขึ้น ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่ต้องการความก้าวหน้าจำเป็นต้องรู้ว่า คุณสมบัติของลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นที่ต้องการและได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานนั่นเป็นอย่างไร ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

1. เป็นมนุษย์ธรรมดา ที่ไม่ใช่ดาราหรือซุปเปอร์สตาร์

ต้องเป็นบุคคลที่สามารถปฏิบัติงานได้เช่นคนทั่วไปไม่มีสิทธิพิเศษเหนือเพื่อนร่วมงาน และให้ความสำคัญกับงานที่ต้องปฏิบัติมากกว่าการทำงานแบบนักแสดง คือ ต้องมีคนให้ความสนใจถึงทำงานหรือจะทำเฉพาะงานที่มีโอกาสแสดงให้ผู้อื่นได้เห็นเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็มักจะขออภิสิทธิ์เหนือเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ในชีวิตจริงของการทำงานนั้นผู้ปฏิบัติงานจะต้องได้รับมอบหมายงานทั้งที่เป็นงานเบื้องหน้าและงานเบื้องหลัง งานทุกอย่างในองค์กรจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชามักชื่นชอบพนักงานที่ปฏิบัติงานอย่างตั้งใจจริงมากกว่าผู้ที่ต้องการปฏิบัติงานเพื่อแสดงผลงานเท่านั้น

2. ก้าวทันเทคโนโลยี แต่ไม่ลุ่มหลงเทคโนโลยี

เทคโนโลยีนำมาซึ่งความสะดวกในการปฏิบัติงานและความทันสมัย การก้าวทันเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดีและถือเป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้ปฏิบัติงานในการสนใจที่จะใฝ่หาความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะการนำความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปรับปรุงงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้การให้ความสนใจต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาตนและพัฒนางาน แต่ไม่ใช่ความหลงใหลเทคโนโลยีจนละทิ้งหน้าที่การทำงาน ดังคำกล่าวที่ว่า “เรียนรู้ อย่างรู้ทัน ไม่ติดกับดัก” ยกตัวอย่างเช่น Line หรือ Facebook ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารและใช้งานเพื่อสนับสนุนการทำงานได้เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าพนักงานเอาแต่เล่นสนุกเพื่อความบันเทิงของตนเองและกลุ่มเพื่อนจนไม่สนใจงานที่ทำก็จะทำให้เสียงานและกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานมากกว่าเกิดประโยชน์จากการใช้งานเทคโนโลยี

3. มีความมุ่งมั่น และทุ่มเทพลังในการทำงานเพื่อความสำเร็จขององค์กร

ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร จะต้องให้ความสำคัญกับความสำเร็จขององค์กรและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทพลังกาย พลังใจในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมขององค์กรมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ต้องมีความตั้งใจในการทำงานแม้งานนั้นจะมีความยากยิ่งอย่างไรก็ตาม

4. รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ

หน้าที่และความรับผิดชอบเป็นของคู่กัน ผู้ปฏิบัติงานเมื่อได้รับมอบหน้าที่มาแล้วก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบด้วยไปพร้อม ๆ กัน ผู้ปฏิบัติงานเมื่อรู้หน้าที่ของตนเองและปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายมาด้วยความตั้งใจและสนุกกับงานที่ตนเองทำ ก็จะก่อให้เกิดความสุขผลของงานในความรับผิดชอบก็จะออกมาดีมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น พนักงานต้อนรับ หน้าที่ของพนักงานต้อนรับคือการให้บริการซึ่งจำเป็นต้องมีการกล่าวทักทายและการให้คำแนะนำแก่ผู้มาเยือน ดังนั้นผู้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานต้อนรับต้องไม่เบื่อการสนทนาและต้องมีใจรักที่จะให้บริการ ความรับผิดชอบสูงสุดที่พนักงานต้อนรับพึงมีคือ การสร้างความพึงพอใจและประทับใจให้แก่ผู้ที่มาปฏิสัมพันธ์ด้วย

5. เคารพกฎระเบียบ

คนที่เคารพกฎระเบียบ ย่อมไม่ทำในสิ่งที่ผิด ไม่คดโกง และไม่ทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งกฎระเบียบ คือ บรรทัดฐานในการปฏิบัติงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ แบบแผนที่กำหนดไว้สำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อควบคุมมิให้ผู้ปฏิบัติงานทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นพนักงานที่ปฏิบัติงานอย่างเคารพกฎระเบียบย่อมเป็นที่รักใคร่ของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน

6. เก็บรักษาความลับขององค์กร

ทุกองค์ย่อมมีความลับที่ไม่ต้องการให้ใครรับรู้ อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด โดยเฉพาะความลับที่เป็นความลับต่อความมั่นคงและอยู่รอดขององค์ ตัวอย่างเช่น สูตรอาหาร แนวทางในการทำกลยุทธ์ทางการตลาด การเก็บข้อมูลลูกค้า เป็นต้น ทุกองค์กรให้ความสำคัญกับความขององค์กรเป็นสำคัญบางองค์กรมีการกำหนดระเบียบการรักษาความลับขององค์กรอย่างเป็นทางการ เพื่อให้พนักงานทุกคนต้องลงนามรับทราบและถือปฏิบัติหากใครทำผิดหรือเจตนาไม่ปฏิบัติก็จะถือเป็นความทั้งทางแพ่งและอาญา

7. รักทรัพย์สินขององค์กรเหมือนเป็นของตน แต่ไม่หวงทรัพย์สินขององค์กรเหมือนเป็นของตน

การบริหารทรัพย์สินถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของกำไรหรือขาดทุน เพราะในการบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุดย่อมนำมาซึ่งการประหยัดและช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ดังนั้นทุกคนในองค์กรควรมีความรักในทรัพย์สินขององค์กรเหมือนเป็นของตน เพราะหากทุกคนคิดเช่นนี้ก็จะดูแลและบำรุงรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ต้องไม่หวงทรัพย์สินขององค์กรเหมือนเป็นของตนเพราะความหวงจะทำให้ทรัพย์สินนั้นเกิดประโยชน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเนื่องจากความหวงว่าเป็นของตน จึงไม่อยากให้ใครนำไปใช้จนเป็นเหตุให้เกิดความด้อยค่าของทรัพย์สินนั้น อันเนื่องมาจากการไม่มีการใช้งานเพราะถูกหวงไว้โดยคนบางคนเพียงเท่านั้น

8. ทำงานคุ้มค่าแรง แต่ให้ดีต้องทำงานเกินค่าแรง เจ้านายชอบ

การที่นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานนั้น ความต้องการของนายจ้างก็คือ ความคุ้มค่าของผลงานที่ได้รับเมื่อเทียบกับเงินค่าแรงที่ได้จ่ายไป แต่หากมีใครที่ทำงานให้เกินค่าแรงอย่างนี้เรียกว่า “ความเสียสละ” ย่อมเป็นที่พึงพอใจของนายจ้างมากยิ่งขึ้น หากเป็นผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาก็เช่นกันในการประเมินผลงานเพื่อการพิจารณาค่าตอบแทนหรือการขึ้นเงินเดือนก็จะต้องวัดจากปริมาณงานหรือผลงานที่องค์กรได้รับจากผู้ปฏิบัติงานเช่นกัน

9. รู้ใจเจ้านาย

การรู้ใจเจ้านาย ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้าง เป็นสิ่งที่ดีโดยเฉพาะทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมาคือ สิ่งที่เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาต้องการ เราควรปฏิบัติตามอันจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การทำงาน และเป็นที่ต้องการของทุกองค์กรหรือไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตาม

[1] การบรรยายพิเศษเรื่อง ลูกน้องแบบไหนที่เจ้านายต้องการ ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ประจำปีการศึกษา 2559 สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 วันที่ 24 กรกฎาคม 2559