การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่

การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่

ดร.พจน์ พจนพาณิชย์กุล[1]

คุณเคยรู้สึกอย่างนี้ไหม “ตอนเด็กไม่อยากไปโรงเรียน พอโตมาทำงานกับขวนขวายอยากกลับไปเรียน” ที่เรารู้สึกเช่นนี้เป็นเพราะเราเห็นว่า การเรียนเป็นทนทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นนั่นเอง

“การพัฒนา” (Development) มีความหมายว่า เป็นการทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้น หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า (Change for the better) และผลลัพธ์ที่ได้ควรเป็นไปในทางที่ดีด้วย แต่เป็นที่น่าคิดว่า การทำให้อาวุธซึ่งเป็นเครื่องมือแห่งการทำลายล้าง มีอานุภาพในการทำลายล้าง และสร้างความหายนะมากยิ่งขึ้นเราก็เรียกว่า “การพัฒนา” เช่นกัน ในขณะที่ “คุณภาพ” เป็นสิ่งที่ต้องการ อาทิเช่น คนมีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ (เก่ง) ย่อมเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร/หน่วยงาน หรือตัวอย่างกรณีสินค้ามีคุณภาพ ทนทานใช้งานได้หลากหลาย สะดวก และประหยัด ย่อมเป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้บริโภค

ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ จึงเป็นการพัฒนาคนไทยให้เป็นที่ต้องการขององค์กร/หน่วยงาน หรือแม้แต่ในสังคมระดับประเทศและนานาประเทศต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่เป็นหนึ่งในสี่กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) อันประกอบไปด้วย (๑) พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ (๒) พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ (๓) พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ (๔) พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ในการพัฒนาคุณภาพคนนั้นจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในตัวเรานั้นมีองค์ประกอบ ๒ ส่วน คือ จิตและกาย โดยจิตหมายถึงจิตใจ และกายจะแบ่งออกเป็นกายกับวาจา ตามหลักพุทธศาสนานั้นจิตเป็นศูนย์กลางของการควบคุมร่างกาย

ดังนั้นการพัฒนาที่จิตใจจะส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านร่างกายตามมาอย่างแน่นอน ในการพัฒนาจิตใจนั้นสามารถนำหลักของไตรสิกขา และอริยมรรค 8 มาใช้ร่วมกันในการพัฒนาโดยที่ไตรสิกขา ประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ส่วนอริยมรรค 8 นั้นก็ประกอบไปด้วย สัมมาทิฐิ-ความเข้าใจถูกต้อง สัมมาสังกัปปะ-การใฝ่ใจถูกต้อง สัมมาวาจา-การพูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันตะ-การกระทำถูกต้อง สัมมาอาชีวะ-การดำรงชีพถูกต้อง สัมมาวายามะ-การพากเพียรถูกต้อง สัมมาสติ-การระลึกประจำใจถูกต้อง และสัมมาสมาธิ-การตั้งใจมั่นถูกต้อง เปรียบไปแล้วกายกับจิตนั้นเสมือน หุ่น(กาย)กับคนเชิด(จิต) นั้นเอง

ในการพัฒนานั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาในหลายมิติ ซึ่งมิติของการพัฒนาจะแบ่งออกเป็น ๔ มิติ คือ มิติด้านร่างกาย มิติด้านจิตใจ มิติด้านความรู้ และมิติด้านทักษะความสามารถ เรียกได้ว่า ครบทุกด้าน (หากมองในแนวทางของหลักบริหารก็จะเหมือนกับหลักการบริการตามแนวทางของ Balance Score Card :BSC นั่นเอง คือการมองในมุม ๓๖๐ องศา)

มิติด้านร่างกาย คนไทยยุคใหม่ต้องเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีการพัฒนาการในด้านร่างกายและสติปัญญาอย่างสมบูรณ์ตามเกณฑ์ในแต่ละช่วงวัย จะเห็นได้ว่า ใครที่เคยอ่านบทพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก จะเห็นว่า มหาชนกรอดตายจากเรือล่มได้เพราะมีคุณลักษณะ ๓ ประการ คือ ร่างกายที่แข็งแรง สติปัญญาที่เฉลียวฉลาด และความเพียรที่ถึงพร้อม นั่นเอง

มิติด้านจิตใจ คนไทยยุคใหม่ต้องเป็นผู้ที่รู้จักและเข้าใจตนเอง เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เข้าใจสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวได้เป็นอย่างดี

มิติด้านความรู้ คนไทยยุคใหม่ต้องเป็นผู้มีความรู้ลึกในแก่นสาระของวิชา สามารถรู้รอบตัวในเชิงสหวิทยาการ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

มิติด้านทักษะความสามารถ คนไทยยุคใหม่ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในด้านการคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการสื่อสาร ทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะทางสังคม ทักษะการอาชีพ ทักษะทางอารมณ์ และทักษะการจัดการที่ดี

ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาครบทั้ง ๔ มิติ แล้วเราก็จะได้คนไทยยุคใหม่ที่มีคุณภาพ และเป็นคนที่สังคมมีความต้องการ

ต่อคำถามที่ว่า “การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่จะทำได้อย่างไร” ในการพัฒนาคุณภาพคนนั่น มิใช่จะเริ่มต้นที่การเข้าสู่กระบวนการทางการศึกษา หรือเมื่ออ่านออก เขียนได้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาตั้งเริ่มมีการปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดา ในที่นี้จะเป็นการพัฒนาตามบัญญัติ ๑๒ ประการ ดังนี้

๑.พัฒนาตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนกระทั้งเติบโตตามวัย

๒.พัฒนาให้มีคุณธรรมนำความรู้ และเกิดภูมิคุ้มกัน

๓.ผลักดันให้ครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษาร่วมกันพัฒนา

๔.ปลูกฝังทัศนคติและการเรียนรู้ในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

๕.เพิ่มพูนความรู้และทักษะพื้นฐานในการทำงาน

๖.สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับทุกช่วงวัย

๗.พัฒนารูปแบบและหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต

๘.นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

๙.เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

๑๐.เสริมสร้างความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข

๑๑.เสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิทธิและหน้าที่พลเมือง

๑๒.ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

บัญญัติ ๑๒ ประการ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ผู้บรรยายนำมานำเสนอให้แก่ นักศึกษาสาขาวิชาบริหารการศึกษาได้นำไปปฏิบัติ หากแต่นักศึกษาท่านใดเห็นว่ามีองค์ประกอบอื่นที่มีความจำเป็นหรือช่วยทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพคนไทย อันเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำของคนเป็นครูที่จะต้องช่วยพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าโดยมีปัจจัยพื้นฐานคือ การพัฒนาคน แล้วก็สามารถเพิ่มเติมและช่วยเสนอแนะเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ต่อไป

[1] เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาคุณภาพคุณไทยยุคใหม่” นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ส่วนกลาง) เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕