แนวคิดทางการตลาดกับการสอบสัมภาษณ์

แนวคิดทางการตลาดกับการสอบสัมภาษณ์

ดร.พจน์ พจนพาณิชย์กุล

28 กรกฎาคม 2561

“หากเราสามารถนำเสนอสมรรถนะของตนเองได้อย่างชัดเจน และสามารถเทียบได้กับความคุ้มค่าของอัตราค่าจ้าง ย่อมเป็นที่ต้องการของนายจ้างในการรับเข้าทำงาน”

ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานไม่ว่าหน่วยงานหรือองค์กรใดก็ตาม วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ในการคัดเลือกคือ “การสัมภาษณ์” ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะผ่านกระบวนการในการทดสอบองค์ความรู้ในภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาแล้วก็ตาม ในบางหน่วยงานหรือบางองค์กรโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ อาจเลือกใช้วิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานด้วยวิธีการสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว การสัมภาษณ์สามารถใช้ในการทดสอบองค์ความรู้ของผู้สมัครงานหรือผู้เข้ารับการสอบสัมภาษณ์แล้ว ยังทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สมัครได้มากขึ้น ซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะในด้านอารมณ์ ทัศนคติ ความคิดเห็น บุคลิกภาพและรสนิยมของผู้สมัคร ซึ่งผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการบริหารหรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารบุคคล และมักใช้การสัมภาษณ์ในการทดสอบวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ตอบคำถามด้วย ดังนั้นการเตรียมตัวเพื่อการสอบสัมภาษณ์จะช่วยให้ผู้สมัครมีความพร้อมในการตอบคำถามและมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

การสมัครงานนั้นหากเปรียบเทียบว่าเป็นการขายสินค้า ตัวสินค้าที่จะขายให้บรรลุผลสำเร็จก็คือ ตัวผู้สมัครงาน ซึ่งผู้ซื้อก็คือ กรรมการสอบสัมภาษณ์ ดังนั้นการนำเสนอสินค้า (ผู้สมัครงาน) ที่โดนใจผู้ซื้อ (กรรมการ) สามารถทำให้กรรมการสอบหรือผู้ซื้อเห็นความสำคัญและคุณลักษณะพิเศษของสินค้าได้มากเท่าใดยิ่งเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น เมื่อเราเปรียบเทียบการสมัครงานเป็นการขายสินค้าดังนั้นการนำแนวคิดทางการตลาดมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยเห็นใครพูดถึงวิธีการนี้มาก่อน แต่การเริ่มต้นในสิ่งที่ผู้อื่นยังไม่เคยทำก็มิใช่สิ่งผิดอีกทั้งผู้เขียนเองก็เคยกล่าวไว้ว่า “บุคคลใดก็ตามที่เดินตามทางที่ผู้อื่นแผ้วถางไว้ให้ ไม่มีวันที่จะเดินนำหน้าได้เลย”

แนวคิดทางการตลาดที่นำมาประยุกต์ใช้ในการเตรียมตัวเพื่อการสอบสัมภาษณ์งานนั้นก็คือ แนวคิดที่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เรียกว่า “ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix : 4P’s)” ซึ่งเป็นแนวคิดทางการตลาดที่นักการตลาดนำมาใช้ในการสร้างรายได้และยอดขายให้แก่สินค้าและบริการ และผู้เขียนเองก็จะนำมาใช้ในการแนะนำให้แก่ผู้สมัครงานได้นำไปใช้ในการเตรียมตัวเพื่อการสอบสัมภาษณ์งาน อันประกอบด้วยตัวสินค้า/บริการ ราคา สถานที่จัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด โดยมีรูปแบบและวิธีการในการประยุกต์ใช้ดังนี้

1. ตัวสินค้าหรือบริการ คือ สิ่งที่ผู้ขายนำเสนอต่อผู้ซื้อเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ (Want) หรือเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ซื้อเกิดความรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องซื้อ (Need) อีกทั้งสินค้าต้องมีคุณสมบัติเป็นที่ต้องการ มีประโยชน์ใช้สอยได้ตามโฆษณา ซึ่งสินค้าหรือบริการก็จะหมายถึง “ตัวผู้สมัครงานนั่นเอง”

หากผู้สมัครงานเป็นเพียงสิ่งที่จะเข้ามาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อ ผู้ซื้ออาจลดความต้องการจนเกิดความรู้สึกว่าหากไม่ได้สิ่งนี้มาก็ไม่ได้ทำให้เสียหายอะไร แต่ถ้าผู้สมัครงานเป็นสิ่งของที่มีความจำเป็นต่อผู้ซื้อ ก็จะทำให้ผู้ซื้อขวนขวายที่จะได้มาไว้ในครอบครองให้ได้ ดังนั้นในการสมัครงานและการสัมภาษณ์งานผู้สมัครจะต้องแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นความสำคัญหรือคุณลักษณะที่โดดเด่นของตนเองให้มากที่สุด อีกทั้งต้องเป็นคุณลักษณะที่ตรงตามที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น การแนะนำตัวเองของผู้สมัครเกี่ยวกับความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และความสามารถพิเศษ รวมถึงทักษะความชำนาญพิเศษที่ผู้สมัครมี โดยเฉพาะความสามารถและทักษะความชำนาญพิเศษ ควรเป็นเรื่องที่มันมีความพิเศษกว่าคนอื่นจริง ๆ หรือเป็นสิ่งที่น้อยคนนักที่จะทำได้ เพราะสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยในการทำให้ผู้สมัครได้รับการพิจารณาค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติทั่วไป เหมือนเช่นตัวสินค้าที่โดดเด่นย่อมมีราคาสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไปนั่นเอง

2. ราคา คือ มูลค่าที่คิดเป็นเงินเพื่อจ่ายเป็นค่าสินค้าหรือบริการ ในการตัดสินใจจ่ายเพื่อให้ได้สินค้านั้น ผู้ซื้อจะต้องพิจารณาจากความเหมาะสมและความคุ้มค่าของสินค้าเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่จ่ายออกไป

หากพิจารณาในมุมมองของการสมัครงาน ราคาจะหมายถึง เงินเดือนหรือค่าตอบแทนการจ้างที่นายจ้างหรือผู้รับสมัครงานยินดีจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้สมัครงาน ดังนั้นการในสัมภาษณ์งานมักมีการสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจในเงินเดือนหรือค่าจ้างที่จะได้รับหรือมีการถามคำถามเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนที่ต้องการ ซึ่งผู้สมัครจำเป็นจะต้องแจ้งอัตราเงินเดือนที่มีความเหมาะสมกับคุณลักษณะส่วนบุคคลของตนเอง โดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนางานหรือนำพาให้งานบรรลุเป้าหมายได้อย่างประหยัดทั้งทรัพยากรและเวลา ดังนั้นผู้สมัครควรแจ้งอัตราเงินเดือนที่ต้องการโดยไม่ให้สูงเกินไปจนเป็นเสมือนสินค้าที่มีราคาแพง หรือต่ำเกินไปจนดูเหมือนเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ การแจ้งอัตราเงินเดือนที่เหมาะสมเปรียบเสมือนการตั้งราคาสินค้าที่มีความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับประโยชน์ใช้สอยของสินค้าที่ผู้ซื้อได้รับโดยเฉพาะความสามารถและทักษะความชำนาญพิเศษ หากผู้สัมภาษณ์มองเห็นถึงความคุ้มค่าของอัตราเงินเดือนที่ต้องจ่ายเมื่อเทียบกับความสามารถเฉพาะตำแหน่งงานที่ได้รับจากผู้สมัคร ย่อมทำให้ผู้สมัครได้รับการพิจารณาในการคัดเลือกให้บรรจุเข้าทำงาน ในอัตราเงินเดือนที่ต้องการ

3. สถานที่จัดจำหน่าย เป็นความสะดวกสบายในการเข้าถึงตัวสินค้า สถานที่ติดต่อ และความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

สำหรับการสมัครเข้าทำงานก็เช่นกันการที่ผู้รับสมัครมีความต้องการรับสมัครพนักงานเข้าทำงานก็จะต้องเริ่มจากความสะดวกในการสรรหาและคัดเลือก รวมไปถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้รับสมัครกับตัวผู้สมัครงาน ในปัจจุบันมีช่องทางการติดต่อสื่อสารมากมายและมีความสะดวกมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งการให้ข้อมูลช่องทางการติดต่อที่มีความทันสมัยจะเป็นการบ่งบอกถึงการก้าวทันเทคโนโลยีของตัวผู้สมัครงานเอง และนอกจากความสะดวกในการติดต่อสื่อสารแล้วในเรื่องของความสะดวกในการเดินทางมาทำงานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์จะต้องสอบถาม เพราะหากผู้สมัครมีสถานที่พักใกล้กับสถานที่ทำงานย่อมส่งต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการเดินทาง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์นำมาใช้ในการการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน

4. การส่งเสริมทางการตลาด เป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ในการจูงใจผู้ซื้อให้เกิดการตัดสินใจ และยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ซื้อให้คล้อยตามแผนการตลาดที่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต้องการ อันจะได้แก่ การลด แลก แจก แถม หรืออรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ผู้ขายจัดให้เมื่อมีการซื้อสินค้านั่นเอง

สำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้าทำงานก็เช่นกัน ผู้สัมภาษณ์ นายจ้างหรือผู้รับสมัครย่อมมีความต้องการที่จะได้พนักงานหรือลูกจ้างที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างคุ้มค่ากับอัตราค่าจ้างที่ได้จ่ายไป และย่อมเป็นการคาดหวังของนายจ้างหรือผู้รับสมัครที่ต้องการให้พนักงานหรือลูกจ้างที่รับเข้าทำงานสามารถปฏิบัติหน้าที่หลักตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติงานอื่นที่นอกเหนือจากหน้าที่หลักเพิ่มเติม ซึ่งหากพิจารณาในทางการตลาดถือว่าเป็นกำไรที่ได้รับเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการที่ผู้สมัครสามารถนำเสนอรายละเอียดของศักยภาพหรือความสามารถพิเศษของตนให้ปรากฎเด่นชัดจนเป็นที่ต้องการของผู้รับสมัครได้มากกว่าผู้สมัครรายอื่น ย่อมเป็นการมอบส่วนลดและของแถมที่มีความโดดเด่นเป็นที่น่าสนใจนั่นเอง

การสมัครงานไม่ใช่เรื่องยากหากแต่การทำให้ตนเองผ่านกระบวนการในการคัดเลือก เพื่อเข้าสู่การรับเข้าทำงานเป็นสิ่งที่ยากกว่า “แต่หากเราสามารถนำเสนอสมรรถนะของตนเองได้อย่างชัดเจน และสามารถเทียบได้กับความคุ้มค่าของอัตราค่าจ้าง ย่อมเป็นที่ต้องการของนายจ้างในการรับเข้าทำงาน” ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มชีวิตการทำงานเท่านั้น ก้าวต่อไปคือ การปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย จนไปถึงการพัฒนาตนเองไปสู่ความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานในอนาคตและการดำรงอยู่อย่างมั่นคงและปลอดภัยตลอดชีวิตการทำงาน.....